“เบทาโกร” ขยับขึ้นมาใกล้ “ซีพี” อีกนิด วางแผนใช้ “พี่โป๊ป” ต่อปีสอง – ออกไส้กรอกโฮมเมด และลุย RTE หวังรายได้ 5.3 หมื่นล้านบาท

หากจะถามว่าใครคือคู่แข่งที่พอจะสมน้ำสมเนื้อกับอาณาจักรซีพีของเจ้าสัวธนินท์ เจียรวนนท์ใครคนนั้นคือเครือเบทาโกรอย่างไม่ต้องสงสัย ด้วยเครือนี้มีทั้งฟาร์มเลี้ยงหมูไก่ขายอาหารสัตว์ที่เป็น ต้นน้ำ ส่วนกลางน้ำก็โรงงานแปรรูปและผลิตอาหาร ปลายน้ำมีร้านขายสินค้าเป็นของตัวเอง แม้เมื่อมองรายได้รวมจะห่างกันอยู่มากก็ตาม

ปีที่ผ่านมาเครือเบทาโกรมีรายได้ราว 7.9 หมื่นล้านบาท จาก 4 ธุรกิจหลัก ได้แก่ 1. กลุ่มธุรกิจอาหาร 2. กลุ่มธุรกิจยาและอาหารสัตว์ หรือสินค้าเกี่ยวเนื่อง 3. กลุ่มธุรกิจการลงทุนในต่างประเทศ ใน 3 ประเทศ ได้แก่ เมียนมา, สปป.ลาว และกัมพูชา 4. กลุ่มธุรกิจอื่นๆ

สมศักดิ์ บุญลาภรอง กรรมการผู้จัดการใหญ่สายงานปฏิบัติการกลุ่มธุรกิจอาหารเครือเบทาโกร ระบุว่า ทุกปีเครือเบทาโกรจะใช้งบลงทุนราว 4,000 – 5,000 ล้านบาท โดย 2 – 3 ปีก่อนหน้านี้เน้นลงทุนในต้นน้ำ หรือฟาร์มเลี้ยงต่างๆ ซึ่งเริ่มเก็บเกี่ยวรายได้บ้างแล้ว

ส่วนปีนี้เน้นกลางปลายน้ำ ไม่ว่าจะเป็นโรงงานแปรรูปไก่สด หรือร้าน BETAGRO Shop โดยจะขยาย 10 สาขา เมื่อถึงสิ้นปีจึงมี 200 สาขาทั่วประเทศ

การลงทุนในครั้งนี้มีเป้าหมายสนับสนุนธุรกิจอาหารเป็นหลัก ซึ่งทำรายได้กว่า 4.9 หมื่นล้านบาทในปีที่ผ่านมา เติบโตประมาณ 12% โดยปีที่ผ่านมากระตุ้นยอดขายผ่าน 3 กิจกรรมหลัก ทั้งไส้กรอกผลิตภัณฑ์เอสเพียวการส่งออก

ไส้กรอกพี่โป๊ปสำเร็จเกินคาด

ปีที่ผ่านมาเครือเบทาโกรอัดงบการตลาดกว่า 140 ล้านบาท ดึงพี่โป๊ปธนวรรธน์เป็นพรีเซ็นเตอร์คนแรก เพื่อเน้นทำตลาดไส้กรอกเกรดพรีเมียมและ A โดยเฉพาะไส้กรอกรมควัน และท้าชิงกับเครือซีพี ที่มีส่วนแบ่งการตลาดมากกว่า 30% ครองเจ้าตลาด ส่วนเบทาโกรครองอันดับ 2 ส่วนแบ่ง 15%

สมศักดิ์ระบุว่าการใช้พี่โป๊ปสำเร็จเกินคาด เพราะช่วยสร้างความเข้าใจให้กับผู้บริโภคจากที่มีแค่คุณภาพ และ ความปลอดภัยได้เติมความอร่อยเข้ามา โดยสามารถเพิ่มการรับรู้แบรนด์ไส้กรอกรมควันในตลาดได้ถึง 93%

อีกทั้งยังสร้างการบริโภคเป็นประจำเพิ่มสูงถึง 45% จากเดิมมีเพียง 18% (ผลการวิจัยผู้บริโภค 300 คน โดยวัดจากการรับประทานสินค้าทุก 1 สัปดาห์เป็นประจำ) ช่วยดันยอดขายเพิ่มเฉพาะกลุ่มไส้กรอกสูงถึง 10% โดยที่ไส้กรอกกลุ่มพรีเมียมและเกรด A เติบโตถึง 15%

ด้วยเหตุนี้เองในปีนี้จึงตัดสินใจใช้พี่โป๊ปเป็นพรีเซ็นเตอร์ต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 แต่เปลี่ยนมาโปรโมต “ไส้กรอกชีสตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมาได้ออกไปแล้ว 6 รสชาติ แต่มีแผนจะออกให้มากกว่านี้ พร้อมกับวางแผนเข้าถึงผู้บริโภคมากขึ้น ผ่านร้าน BETAGRO Shop และรถเข็นกว่า 1,500 คัน

เอสเพียวโตฉลุย 17%

ผลิตภัณฑ์เอสเพียวเดิมมีเพียงเนื้อไก่อย่างเดียว แต่ในปีที่ผ่านมาเพิ่มหมูและไข่ทำให้สินค้าครบไลน์และการที่ได้รับการรับรองโดย NSF ในเรื่องสินค้าไม่ใช้ยาปฏิชีวนะในขั้นตอนการเลี้ยง หรือ RWA (Raised Without Antibiotics)

การเน้นโปรโมตเรื่องนี้ส่งผลให้แบรนด์เอสเพียวเติบโต 17% ในขณะที่ตลาดสินค้าพรีเมียมเติบโตเพียง 10% และช่วยสร้างการรับประทานเป็นประจำเพิ่มจาก 20% เป็น 31%

โดยในปีนี้ได้ออกสินค้าใหม่ไส้กรอกพรีเมียมสไตล์โฮมเมด ที่ผลิตจากเนื้อหมูเอสเพียว โดยเริ่มจำหน่ายแล้ว 6 สาขา รวมทั้งตั้งเป้าขยายช่องทางจำหน่ายสินค้าเอสเพียวผ่าน Antibiotic Free Zone ในร้าน BETAGRO Shop กว่า 49 สาขา

และผลักดันสู่ทุกสาขาของร้าน BETAGRO Shop ทั่วประเทศ ในปี 2020 ปัจจุบันผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์แปรรูปของเบทาโกรถือครองส่วนแบ่งตลาดอยู่ที่ 15% มูลค่าราว 4,000 ล้านบาท ตั้งเป้าเติบโต 15%

ลุยญี่ปุ่นและสิงคโปร์

ในส่วนของการส่งออกตอนนี้มีที่ตะวันออกกลางและตลาดยุโรปในรูปแบบ OEM และภายใต้ตราสินค้าเอสเพียว ไปยังประเทศฮ่องกง ซึ่งสินค้ากลุ่ม RWA (Raised Without Antibiotics) ช่วยให้ยอดโต 14%

ปี 2019 เชื่อว่าตลาดส่งออกยังเป็นไปในทิศทางที่ดี จึงตั้งเป้าปริมาณการส่งออกทั้งหมดในปีนี้กว่า 97,580 ตัน ตั้งเป้าเติบโต 12% ในปีนี้โดยผลิตภัณฑ์หลักยังคงเป็นไก่ปรุงสุกแช่แข็งและไก่สดแช่แข็ง

นอกจากนั้นยังวางแผนบุกประเทศญี่ปุ่นโดยลงทุนสร้างโรงงานแห่งใหม่ 600 ล้านบาทสำหรับผลิตอาหารเพื่อป้อนร้านสะดวกซื้อ เช่น ไก่เสียบไม้ย่างถ่าน ซึ่งมีความต้องการอย่างต่อเนื่อง รวมไปถึงวางแผนขยายไปยังสิงคโปร์ด้วย

ลุยอาหารพร้อมรับประทานเต็มสูบ

ขณะเดียวกันเครือเบทาโกรได้สนใจอาหารพร้อมรับประทานหลังจากพบว่า พฤติกรรมผู้บริโภคสนใจมากขึ้น เพราะต้องการความสะดวกและรวดเร็ว และความหลากหลายของอาหาร ในปีที่ผ่านมาจึงใช้งบกว่า 750 ล้านบาท ลงทุนก่อสร้างศูนย์นวัตกรรมอาหารเพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ หรือ Betagro Central Kitchen นวนคร

ปัจจุบันมีกำลังการผลิตราว 240 ล้านตันกว่า ใน 6 หมวดสินค้า ได้แก่

  1. อาหารทานเล่นและสินค้าทอดประเภทหมู ไก่
  2. ผลิตภัณฑ์ไข่ปรุงสุก
  3. ข้าวกล่องพร้อมรับประทาน
  4. กับข้าวสำเร็จรูป
  5. เบเกอรี่ และ
  6. ผลิตภัณฑ์ปรุงรส

ตอนนี้ได้เพิ่มกำลังการผลิตให้เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ให้ครบตามกำลังสูงสุด 8,000 ตันต่อปี ซึ่งหากครบคาดว่าจะช่วยเพิ่มยอดขายในส่วนของอาหารแปรรูป และพร้อมรับประทานได้อีกราว 17 %”

สำหรับกลุ่มธุรกิจอาหารในปี 2019 ตั้งเป้ารายได้ 53,000 ล้านบาท เติบโต 15%