รถไฟฟ้ามาหานะเธอ! “BTS” ปั๊มรายได้ปี 2561/62 โต 2.1% จากการปรับราคาค่าโดยสารเฉลี่ยจาก 28.3 บาท เป็น 29 บาท

รถไฟฟ้า BTS ถือเป็นหนึ่งในขนส่งมวลชนหลักที่คนกรุงเทพฯ เลือกใช้สำหรับการเดินทางไปที่ต่างๆ ทราบหรือไม่ว่าในปีงบประมาณ 2561/62 (เมษายน 2561 – มีนาคม 2562) ภาพรวมของบริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน)” มีรายได้รวม 48,947 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 224.0% หรือ 33,840 ล้านบาท จาก 15,107 ล้านบาท ในปี 2560/61

รายได้หลักของ บีทีเอส กรุ๊ป มาจากธุรกิจระบบขนส่งมวลชนคิดเป็นสัดส่วนกว่า 86% คิดเป็นเม็ดเงินกว่า 41,328 ล้านบาท เติบโตอย่างก้างกระโดด 353.6% ซึ่งหลักๆ มาจากการรับรู้รายได้งานก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพูและสีเหลือง จำนวน 30,718 ล้านบาทในปี 2561/62

ปั๊มรายได้ค่าโดยสาร 6,963 ล้านบาท

แต่นั้นอาจจะดูไกลตัวไปบ้างเพราะเป็นเรื่องของอนาคต มาดูสิ่งที่คนกรุงเทพฯ ต้องใช้ทุกวันดีกว่า คือในส่วนของรายได้ค่าโดยสารในระบบรถไฟฟ้าสายหลัก ปัจจุบันมีให้บริการ 2 เส้นทางคือ สายสีเขียวเข้ม สุขุมวิท จำนวน 31 สถานี ระยะทาง 37.02 กิโลเมตร และสายสีเขียวอ่อน สีส้ม จำนวน 13 สถานี ระยะทาง 14.67 กิโลเมตร

รายงานของบีทีเอส กรุ๊ป ระบุว่า ในปี 2561/62 รายได้ค่าโดยสารในส่วนของรถไฟฟ้าสีเขียวสายหลักเติบโต 2.1% หรือ 141 ล้านบาท จากปีก่อน เป็น 6,963 ล้านบาท โดยในจำนวนนี้ได้หักประมาณการค่าเผื่อค่าโดยสารสุทธิจากการให้ผู้โดยสารเดินทางฟรี เนื่องจากรถไฟฟ้าขัดข้องช่วงเดือนมิถุนายน 2561 จำนวน 18.5 ล้านบาท

สำหรับการเติบโตของรายได้นั้นมาจากการเพิ่มขึ้นของอัตราค่าโดยสารเฉลี่ย ซึ่งเพิ่มขึ้น 2.4% จากปีก่อน เป็น 29.0 บาทต่อเที่ยว จากการปรับอัตราค่าโดยสารเมื่อเดือนตุลาคม 2560 และการปรับโปรโมชั่นบัตรเติมเงินในเดือนเมษายน 2561

แต่การเพิ่มขึ้นของรายได้ค่าโดยสารบางส่วนถูกหักกลบด้วยจำนวนเที่ยวการเดินทางที่ลดลงในปีนี้ ซึ่งลดลงเล็กน้อย 0.1% จากปีก่อน เป็น 241.0 ล้านเที่ยวคน ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากเหตุการณ์รถไฟฟ้าขัดข้อง ในเดือนมิถุนายน 2561 รวมถึงจำนวนวันทำการและช่วงวันหยุดยาวที่มากกว่าปีก่อน

สถิติอัตราค่าโดยสารเฉลี่ยและ % การเติบโต

  • ปี 2557/58 อัตราค่าโดยสารเฉลี่ย 26.9 บาทต่อเที่ยว เติบโต 1.6%
  • ปี 2558/59 อัตราค่าโดยสารเฉลี่ย 27.5 บาทต่อเที่ยว เติบโต 2.4%
  • ปี 2559/60 อัตราค่าโดยสารเฉลี่ย 27.9 บาทต่อเที่ยว เติบโต 1.3%
  • ปี 2560/61 อัตราค่าโดยสารเฉลี่ย 28.3 บาทต่อเที่ยว เติบโต 1.4%
  • ปี 2561/62 อัตราค่าโดยสารเฉลี่ย 29.0 บาทต่อเที่ยว เติบโต 2.4%
  • อีก 4 ปี รถไฟฟ้า 4 สายจะมีผู้โดยสาร 1.5 ล้านคนต่อวัน

ปัจจุบัน BTS มีผู้โดยสารวันธรรมดาเฉลี่ยที่ 7.7 แสนเที่ยวคนต่อวันแล้ว และวันศุกร์ผู้โดยสารเคยสูงถึง 9 แสนเที่ยวคนต่อวัน ก่อนหน้านี้สุรพงษ์ เลาหะอัญญา” กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) และกรรมการ BTS กล่าวว่า บีทีเอส กรุ๊ป เป้าหมายในการดำเนินงานปี 2562/2563 (เมษายน 2562 – มีนาคม 2563) รายได้ค่าโดยสารจะเติบโต 4 – 6% จากปีก่อน

ในส่วนจำนวนผู้โดยสารก็จะเติบโตใกล้เคียงกัน โดยประเมินว่าจะมีผู้โดยสารเฉลี่ยทั้งปี 2562/2563 ที่ 7.9 – 8 แสนเที่ยวคนต่อวัน ซึ่งมาจากแผนเปิดให้บริการรถไฟฟ้าสายสีเขียวเหนือ หมอชิตสะพานใหม่คูคต จำนวน 1 สถานี จากสถานีหมอชิตไปยังเซ็นทรัลลาดพร้าว ในเดือนสิงหาคมนี้ จากนั้นช่วงปลายปี 2562 จะเปิดเดินรถต่อจนถึงสถานีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

ขณะเดียวกันคาดว่า ในอีก 4 ปีจากนี้ ซึ่ง BTS เปิดให้บริการรถไฟฟ้าสายสีเขียวใต้ สีเขียวเหนือ สายสีชมพู และสายสีเหลือง (ที่จะเปิดให้บริการปี 2564) BTS จะมีผู้โดยสารรวมทั้งระบบที่ 1.5 ล้านคนต่อวัน

ธุรกิจโฆษณาโตมากกว่าเป้าหมาย

อย่างไรก็ตาม ถ้าพูดถึงธุรกิจรถไฟฟ้า อีกหนึ่งธุรกิจที่ทำรายได้ให้ บีทีเอส กรุ๊ป เป็นกอบเป็นกำคือธุรกิจโฆษณาที่คิดเป็นสัดส่วนรายได้ 11% จากทั้งพอร์ต โดยรายได้ในส่วนนี้มาจากบริษัท วีจีไอ โกลบอล มีเดีย จากัด (มหาชน) หรือ VGI ซึ่งถือหุ้นใหญ่กว่า 70%

บีทีเอส กรุ๊ป ระบุว่า ธุรกิจสื่อโฆษณาสามารถสร้างรายได้สูงสุดนับตั้งแต่เปิดดำเนินการที่ 5,123 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 31.3% หรือ 1,221 ล้านบาท จากปีก่อน ที่สำคัญยังเป็นรายได้ที่เติบโตจากเป้าหมายเดิมที่วางไว้ 5,000 ล้านบาทเท่านั้น โดยเป็นผลมาจากการเติบโตของธุรกิจสื่อโฆษณานอกบ้าน รวมถึงการเพิ่มขึ้นของรายได้จากธุรกิจบริการด้านดิจิทัล

ธุรกิจสื่อโฆษณานอกบ้าน (สื่อโฆษณาในระบบรถไฟฟ้า สื่อโฆษณากลางแจ้ง สื่อโฆษณาในอาคารสำนักงานและอื่นๆ) ถือเป็นรายได้หลักกว่า 75% หรือคิดเป็นเม็ดเงิน 3,841 ล้านบาท เติบโต 7.9% หรือ 282 ล้านบาทจากปีก่อน สาเหตุหลักมาจากอัตราการใช้สื่อที่มากขึ้น โดยเฉพาะสื่อโฆษณาประเภทดิจิทัล และพื้นที่ร้านค้าบนสถานีรถไฟฟ้าบีทีเอส

โดยได้ร่วมมือกับ สหพัฒ ในการเปิดร้านสะดวกซื้อลอว์สัน (Lawson)” บนสถานีรถไฟฟ้า เบื้องต้นเปิดไปแล้ว 3 สถานี ได้แก่ ทองหล่อ เพลินจิต และศาลาแดง และมีแผนที่จะเปิดให้บริการบนสถานีรถไฟฟ้าบีทีเอสทั้งหมด 30 สถานี

ใช้เงินนับหมื่นล้านซื้อหุ้นเสริมธุรกิจโฆษณา

ธุรกิจบริการด้านดิจิทัล มีรายได้ 1,282 ล้านบาท คิดเป็น 25% ของรายได้รวมของสื่อโฆษณา เพิ่มขึ้น 273.0% จากปีก่อน สาเหตุหลักมาจากการควบรวมงบการเงินของกลุ่ม Trans.Ad ซึ่งนี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งของการเข้าควบรวมกิจการเท่านั้น

โดยปีที่ผ่านมาต้องบอกว่าในส่วนของธุรกิจโฆษณามีดีลเกิดขึ้นกว่า 5 ครั้ง ไล่มาตั้งแต่ ใช้เงิน 5,900 ล้านบาท ซื้อหุ้น 23% ของ ในบริษัท เคอรี่ เอ็กซ์เพรส (ประเทศไทย) จำกัด (Kerry Express) ซึ่งมีการมีการขนส่งสินค้าและพัสดุกว่า 1,200,000 ชิ้นต่อวัน

ต่อมาใช้เงินอีก 388 ล้านบาท ซึ้อหุ้นของบริษัท ทรานส์.แอด โซลูชั่น จากัด (Trans.Ad) ซึ่งเป็นผู้ให้บริการด้านระบบแสดงสื่อมัลติมีเดีย 81.65%, ร่วมทุนกับ Anymild ในการตั้งบริษัทที่ทำเกี่ยวกับสื่อโฆษณาที่ใช้เทคโนโลยี Artificial Intelligence (AI)

ในเดือนมีนาคมใช้เงินลงทุน 4,620 ล้านบาท ในการเข้าถือหุ้น 18.6% ในบริษัท แพลน บี มีเดีย จำกัด (มหาชน) (PlanB) อีกหนึ่งผู้ให้บริการสื่อโฆษณานอกบ้านรายใหญ่ของไทย และในเดือนเมษายนได้จัดตั้งบริษัทร่วมทุนกับ iClick ผู้ให้บริการแพลตฟอร์มการตลาดออนไลน์และเทคโนโลยีฐานข้อมูลที่ใหญ่ที่สุดในประเทศจีน

ขณะเดียวกันจำนวนบัตรแรบบิทในปี 2561/62 มีจำนวนทั้งสิ้น 11 ล้านใบ มากกว่าเป้าหมาย สำหรับปีนี้ตั้งไว้ที่ 10.5 ล้านใบ และจำนวนผู้ใช้บริการ Rabbit LinePay มีจำนวนทั้งสิ้น 5.5 ล้านราย สูงกว่าเป้าหมายเต็มปีที่ตั้งไว้ที่ 5.3 ล้านราย โดยมีปัจจัยสนับสนุนการเติบโตจากการพัฒนาและขยายเครือข่ายผู้ใช้อย่างต่อเนื่อง รวมถึงการร่วมมือกับ บีทีเอส กรุ๊ป  และ AIS.