ภาพ : https://asia.nikkei.com/Spotlight/Environment/Wooden-beer-bottles-and-paper-straws-Japan-shifts-from-plastic2
ผู้เชี่ยวชาญฟันธงกระแสการเมินพลาสติกแล้วใช้กระดาษทดแทน กำลังเป็นคลื่นลูกใหญ่ที่ไม่มีอะไรหยุดได้ เตือนซัปพลายเออร์ทุกบริษัทควรตื่นตัวให้ทันสึนามิกระแสเปลี่ยนผ่านนี้หากไม่อยากสูญสียที่ยืน โดยเฉพาะกลุ่มที่ใกล้ชิดกับอุตสาหกรรมสินค้าสำหรับผู้บริโภคที่จะต้องผจญกับการเปลี่ยนแปลงรวดเร็วพลิกฝ่ามือ อานิสงส์ใหญ่ผุดที่กลุ่มธุรกิจกระดาษซึ่งซบเซามาก่อนหน้านี้ แต่กลับสดใสชัดเจนหลังจากคนนิยมหลอดกระดาษ และอาจโตยิ่งขึ้นอีกเมื่อเบียร์ Carlsberg เริ่มวางจำหน่ายเบียร์ในขวดเบียร์ไม้ซึ่งใช้เยื่อไม้เป็นส่วนประกอบหลัก
สำนักข่าว Nikkei Asian Review ยกตัวอย่างญี่ปุ่น ว่าเป็นประเทศที่กำลังเข้าสู่ยุคแห่งการเปลี่ยนจากพลาสติกมาเป็นกระดาษอย่างเต็มตัว การเปลี่ยนผ่านนี้สร้างโอกาสชัดเจนให้กับอุตสาหกรรมกระดาษแดนปลาดิบ ที่ซบเซาลงในยุคดิจิตัล เพราะผู้คนมีความจำเป็นในการใช้กระดาษน้อยลง
ไม่ใช่เฉพาะญี่ปุ่น แต่ธุรกิจกระดาษกำลังได้รับความสนใจจากอีกหลายประเทศทั่วโลก หนึ่งในปัจจัยเสริมสำคัญคือความเคลื่อนไหวของ 180 ประเทศทั่วโลกที่ประกาศข้อตกลงล่าสุดเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ว่าจะควบคุมกฎระเบียบสำหรับการขนส่งขยะพลาสติกที่ไม่สามารถรีไซเคิลได้ข้ามเขตแดนประเทศอย่างเข้มงวด แปลว่าทุกประเทศ รวมถึงญี่ปุ่นที่เป็นผู้ผลิตขยะพลาสติกรายใหญ่อันดับ 2 ของโลกรองจากสหรัฐอเมริกา จะต้องจัดการกับขยะรีไซเคิลที่บ้านเกิดด้วยตัวเองแทนที่จะส่งไปยังประเทศอื่น
จับตาธุรกิจกระดาษโต
หากเจาะลึกในอุตสาหกรรมกระดาษของญี่ปุ่น จะพบว่ามีการเปลี่ยนแปลงน่าทึ่งหลังจากอุตสาหกรรมกระดาษญี่ปุ่นต้องเผชิญกับความต้องการที่หดตัวลงอย่างต่อเนื่อง ตัวเลขจากสมาคมผู้ประกอบการกระดาษญี่ปุ่นระบุว่าดีมานด์ในประเทศหดตัวเหลือ 14.69 ล้านตันในปี 2017 จาก 16.59 ล้านตันในปี 2011
แต่รูปการณ์เหล่านี้กำลังเปลี่ยนไป เพราะผู้ผลิตจำนวนมากกำลังมองหาหนทางใหม่ในการแทนที่ทุกผลิตภัณฑ์พลาสติก ตั้งแต่หลอดดูดน้ำจนถึงภาชนะใส่แชมพู จุดนี้ Motoshi Muraoka จากสถาบันการจัดการและที่ปรึกษา NTT Data Institute of Management and Consulting กล่าวไว้อย่างน่าสนใจว่า “การเปลี่ยนจากพลาสติกเป็นกระดาษจะดำเนินต่อไป กลายเป็นคลื่นที่อะไรก็หยุดไม่ได้”
สิ่งที่เกิดขึ้นสะท้อนว่าซัปพลายเออร์จะต้องปรับตัวให้ได้อย่างรวดเร็ว เนื่องจากผู้ค้าปลีกและธุรกิจอื่นที่อยู่ใกล้ชิดผู้บริโภคกำลังหนีห่างจากพลาสติก ที่เห็นชัดคือถ้วย ช้อนส้อม หลอด และบรรจุภัณฑ์ของแบรนด์ใหญ่ซึ่งกำลังจะเปลี่ยนเป็นกระดาษแทบทั้งหมด
ตั้งแต่กาแฟถึงโรงแรม
ย้อนไปเมื่อกรกฎาคม ปี 2018 ยักษ์ใหญ่ในวงการกาแฟอย่าง Starbucks ประกาศแผนงดใช้หลอดพลาสติกแบบใช้แล้วทิ้งในร้านค้าทั้งหมดภายในปี 2020 ขณะที่ McDonald’s และสวนสนุก Legoland ในเครือ Merlin Entertainment ก็เช่นเดียวกันกับอีกหลายแบรนด์ โรงแรมก็ประกาศแผนเปลี่ยนมาใช้หลอดกระดาษอย่างเต็มรูปแบบเช่นกัน
การประกาศนี้มีแรงส่งให้ผู้ผลิตเร่งมือพัฒนาต้นแบบหลอดกระดาษพันธุ์ใหม่ที่ไม่มีขีดจำกัดแบบเดิม โดยเมื่อปีที่แล้ว บริษัท Nippon Paper Industries เปิดตัวต้นแบบหลอดกระดาษซึ่งระบุว่าหมดปัญหากลิ่นที่เปลี่ยนรสชาติของเครื่องดื่ม และส่วนใหญ่มีปัญหาในการคงรูปทรงตรงเมื่อแช่น้ำเป็นเวลานาน รวมถึงความยากลำบากในการดูดเครื่องดื่มเมื่อหลอดเปียก ข้อเสียทั้งหมดนี้สามารถแก้ไขได้แต่ต้องแลกกับราคาต้นทุนการผลิตที่สูงกว่าพลาสติกราว 5 – 10 เท่าตัว
การบ้านที่ Nippon Paper กำลังแก้ไขคือการลดต้นทุนการผลิต ซึ่งไม่เพียงหลอด แต่ยังครอบคลุมสินค้ากลุ่มถุงกระดาษเพื่อใช้ทดแทนถุงบรรจุผงซักฟอก สบู่ และแชมพูสำหรับครัวเรือน โดยปัจจุบันที่ผู้ผลิตบรรจุภัณฑ์เหล่านี้ยังคงหลีกเลี่ยงการใช้ผลิตภัณฑ์กระดาษสำหรับสินค้าในครัวและห้องน้ำ เนื่องจากต้องการปกป้องสินค้าจากความเปียกชื้นที่อาจเกิดขึ้น แต่ในอนาคต Nippon Paper วาดหวังว่าบรรจุภัณฑ์กระดาษจะสามารถใช้ทดแทนพลาสติก และถุงอะลูมิเนียมในสินค้า Refill ได้เช่นกัน
เตรียมรู้จัก “แชมพูกล่อง”
สิ่งที่โลกจะได้เห็นนับจากนี้คือ “แชมพูกล่อง” ผลจากสินค้ากลุ่มบรรจุภัณฑ์กระดาษของ Nippon Paper ที่ถูกตั้งชื่อว่า Spops การออกแบบในรูปกล่องกระดาษแข็งที่ดูคล้ายกล่องนม สามารถใส่และถอดออกจากตลับและหัวจ่ายพลาสติกได้ ทั้งหมดนี้ไม่ต้องใช้กรรไกรมาตัดบรรจุภัณฑ์ออกเลย คาดว่า “แชมพูกล่อง” จะสามารถจัดขึ้นชั้นวางในร้านค้าญี่ปุ่นเพื่อจำหน่ายจริงภายในสิ้นปีนี้
ตลาดแชมพูในถุง Refill ของญี่ปุ่นถูกประเมินว่ามีมูลค่าประมาณ 3 แสนล้านเยนหรือราว 8.6 หมื่นล้านบาท จุดนี้ Nippon Paper วางแผนให้ Spops ทำเงินได้ประมาณ 20% ของตลาดนี้
ชัดเจนว่า Nippon Paper กำลังวางจุดยืนตัวเองให้เป็นผู้ผลิตบรรจุภัณฑ์ ซึ่งจะเป็นธุรกิจหลักในการขับเคลื่อนบริษัทให้เติบโตได้ในยุคดิจิทัล ทดแทนธุรกิจหลักของ Nippon Paper เช่น กระดาษพิมพ์และกระดาษหนังสือพิมพ์ ซึ่งมีความต้องการลดลง
นอกจาก Nippon Paper บริษัทผู้ผลิตบรรจุภัณฑ์กระดาษอย่าง Hokuetsu Package ก็เห็นโอกาสอื่นที่เหนือกว่าธุรกิจเดิมที่เน้นการขายกล่องกระดาษสำหรับนมและอาหารอื่นเช่นกัน จุดนี้ Hokuetsu Package ใช้วิธีสร้างเครื่องมือใหม่ที่เพิ่มความสามารถด้านการพิมพ์ขึ้นอีก 10% ทำให้สามารถตอบสนองความต้องการที่เพิ่มขึ้นในตลาดเครื่องดื่มและภาชนะบรรจุอาหาร ซึ่งรวมถึงถาดกระดาษด้วย
ยังท้าทายอยู่
แม้จะมีนวัตกรรม แต่กระดาษก็ยังมีประเด็นท้าทายมากมายจึงจะสามารถทดแทนพลาสติกได้ เพราะกระดาษเป็นวัสดุไม่ทนน้ำและไม่ทนความร้อน ซึ่งที่ผ่านมา ปัญหาเหล่านี้ถูกแก้ไขโดยการเคลือบพลาสติกไว้ด้านในของภาชนะและบรรจุภัณฑ์กระดาษ ดังนั้นเส้นแบ่งที่ผลิตภัณฑ์กระดาษจะรับหน้าที่แทนพลาสติกแบบสิ้นเชิงจึงยังไม่ชัดเจน จุดนี้โฆษกของ Nippon Paper ยอมรับว่าบรรจุภัณฑ์ที่ปราศจากพลาสติกถือเป็นโอกาสที่ยิ่งใหญ่ เช่นเดียวกับการจับตาดูว่าการเปลี่ยนผ่านพลาสติกมาเป็นกระดาษ จะขยายเกินกว่าสินค้ากลุ่มหลอดและภาชนะหรือไม่? หากใช่ Nippon Paper จะสามารถหารายได้ทดแทนตลาดกระดาษพิมพ์ที่อยู่ในภาวะขาลงได้สำเร็จ
นอกจาก Nippon Paper ผู้ผลิตกระดาษรายอื่นในสหรัฐอเมริกาและยุโรปก็กำลังหาทางพัฒนาบรรจุภัณฑ์ที่ไม่มีการเคลือบพลาสติกใดๆ โดย Kotkamills บริษัทกระดาษเก่าแก่ในประเทศฟินแลนด์สามารถพัฒนาถ้วยกาแฟกระดาษที่ไม่มีการเคลือบด้านในได้สำเร็จแล้ว เชื่อว่าถ้วยนี้จะเป็น “ผู้เปลี่ยนเกม” สำหรับอุตสาหกรรมได้
ยังมีบริษัท EcoXpac ของเดนมาร์กที่พัฒนาขวดเบียร์เยื่อไม้ย่อยสลายได้ชื่อ Green Fiber Bottle โดยร่วมมือกับแบรนด์เบียร์ Carlsberg คาดว่าเบียร์ในขวดเยื่อไม้ที่ไม่มีแก้วและพลาสติกจะเริ่มทดลองวางขายในหลายร้านภายในปลายปีนี้
ที่ขาดไม่ได้คือบริษัท Ranpak ผู้ผลิตวัสดุบรรจุภัณฑ์รายใหญ่ของสหรัฐอเมริกาที่กำลังถุงเจลเก็บความเย็นสำหรับเค้กและอาหารแช่เย็นให้สดใหม่ขณะเดินทาง ถุงเจลเย็นนี้ถูกพัฒนาจากใยไม้ที่สามารถทดแทนวัสดุโฟมและบรรจุภัณฑ์พลาสติกได้อีกด้วย
ทั้งหมดนี้ Ranpak มั่นใจว่าบรรจุภัณฑ์ที่ย่อยสลายได้ตามธรรมชาติจะเพิ่มยอดขายให้บริษัทไม่ต่ำกว่า 100 ล้านเยนเฉพาะตลาดญี่ปุ่น ภายในปี 2020.