“ไมโล UHT” เปิดตัวใช้ “หลอดกระดาษ” เขย่าวงการนมกล่องครั้งแรกในไทย ในราคาเท่าเดิม!

หลอดกระดาษได้มาถึงวงการนมกล่องแล้วเรียบร้อย “ไมโล ยูเอชที” ถือว่าเป็นแบรนด์แรกของไทยที่นำหลอดกระดาษมาใช้ในกลุ่มผลิตภัณฑ์ยูเอชที นำร่องใน 2 สูตร ได้แก่ ไมโล ยูเอชที สูตรน้ำตาลน้อยกว่า 30% และ สูตรไม่มีน้ำตาลทราย

หลอดกระดาษงอได้ ไม่มีกลิ่น

ไมโลได้นำร่องเปิดตัวนวัตกรรมหลอดกระดาษครั้งแรกในตลาด UHT ชูจุดเด่น โค้งงอได้ ไม่มีกลิ่นกระดาษ ดื่มแล้วรสชาติอร่อยไม่เปลี่ยน ตอบโจทย์เทรนด์รักษ์โลก เพราะผลิตจากเยื่อกระดาษบริสุทธิ์ 100% ที่ได้รับการรับรองจาก FSC ตั้งเป้าลดการใช้หลอดพลาสติกได้มากกว่า 100 ล้านหลอด ภายในปี 2564

เริ่มใช้กับไมโล ยูเอชที 2 รสชาติ ได้แก่ สูตรน้ำตาลน้อยกว่า 30% และ สูตรไม่มีน้ำตาลทราย

วิคเตอร์ เซียห์ ประธานกรรมการและประธานคณะผู้บริหาร เนสท์เล่ อินโดไชน่า กล่าวว่า

“การนำนวัตกรรมหลอดกระดาษโค้งงอได้มาใช้กับไมโล ยูเอชที ครั้งนี้ ถือเป็นหนึ่งในความพยายามของเนสท์เล่ในการลดการใช้พลาสติกแบบครั้งเดียวทิ้ง เพื่อนำไปสู่อนาคตที่ปลอดขยะ ตอกย้ำพันธกิจระดับโลกของเนสท์เล่ที่มุ่งมั่นเปลี่ยนบรรจุภัณฑ์ทั้งหมดให้สามารถรีไซเคิลหรือนำกลับมาใช้ใหม่ได้ 100% ภายในปี 2568 พร้อมตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคชาวไทยที่มองหาบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ผมหวังว่าไมโลหลอดกระดาษจะได้รับการตอบรับจากผู้บริโภคชาวไทยเป็นอย่างดี”

ด้าน ไชยงค์ สกุลบริรักษ์ ผู้อำนวยการบริหารธุรกิจผลิตภัณฑ์นมและโภชนาการ บริษัท เนสท์เล่ (ไทย) จำกัด กล่าวว่า

“การเปิดตัวไมโลหลอดกระดาษครั้งนี้ ถือเป็นการดำเนินการที่สอดคล้องกับแผนการจัดการขยะพลาสติก พ.ศ. 2561 – 2573 ของภาครัฐ โดยนำร่องในผลิตภัณฑ์ไมโล ยูเอชที สูตรน้ำตาลน้อยกว่า 30% และ สูตรไม่มีน้ำตาลทราย และวางแผนขยายการผลิตให้ครอบคลุมครบทุกรสชาติและทุกกลุ่มผลิตภัณฑ์ของไมโล ยูเอชที ภายในต้นปี 2564 ตั้งเป้าการเปลี่ยนมาใช้หลอดกระดาษจะช่วยลดการใช้หลอดพลาสติกได้มากกว่า 100 ล้านหลอด ภายในปี 2564 หรือหากนำปริมาณหลอดพลาสติกที่ถูกทดแทนมาเรียงต่อกันจะคิดเป็นระยะทาง 15,000 กิโลเมตร หรือ ระยะทางจากแม่สายถึงเบตง 8 รอบ”

แม้หลอดกระดาษไมโลจะสามารถย่อยสลายเองได้ แต่เนสท์เล่รณรงค์ให้ดันหลอดกระดาษกลับเข้าไปในกล่องหลังจากดื่มหมด โดยไม่ต้องแยกทิ้ง เพราะจะทำให้หลอดกระดาษสามารถเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลได้พร้อมกล่องไมโล ลดปริมาณขยะชิ้นเล็กที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม