ยุคนี้ใครไม่ทำ Collaboration ต้องถือว่า “เชย” ล่าสุดเป็นดีลสร้างความสั่นสะเทือน นั่นคือ การที่ SHISEIDO x กับร้านชานมไข่มุก THE ALLEY ร่วมกันออกแบบเครื่องสำอาง ในชื่อแบรนด์ใหม่ว่า ARTISTARMAKE ซึ่งเป็นแรงบันดาลใจที่ได้จากชานมไข่มุกชื่อดัง
ประกอบไปด้วย ลิควิด “eye liner” ในชื่อ S Stamp Liner ซึ่งเป็นแสตมป์รูปดาวใช้ติดหน้า และ S Topping Shodow เป็นทั้งแป้งและ Eye Shadow ทั้งสองชนิดมี 3 สี
นอกจากนี้ ออกแบบเครื่องดื่มพิเศษ Raspberry Peach Star โดยมีคุกกี้รูปดาวและน้ำตาลเป็นท็อปปิ้งมีขายที่ THE ALLEY ทุกสาขา รวมทั้ง THE ALLEY สาขานากาเมกุโร่ แปลงโฉมเป็น Collaboration Store ให้ลูกค้าได้ทดลองใช้เมกอัพของ ARTISTARMAKE โดยวางขายเฉพาะในประเทศญี่ปุ่น ผ่านช่องทางออนไลน์ของ SHISEIDO และร้านที่ได้รับแต่งตั้งเท่านั้น
สำหรับคำตอบของการ Collaboration ระหว่างแบรนด์ ถือเป็นปกติของแบรนด์ยุคนี้ ที่ต้องการเพิ่มความสดใหม่ให้กับแบรนด์ เพิ่มสีสันความแปลกใหม่ให้กับ “สินค้า” และร้านสาขา ด้วยการทำแพ็กเก็จจิ้งให้ว้าว แต่เพิ่มเติมคือมีสตอรี่จากเทรนด์ ซึ่งชานมไข่มุกยุคนี้ ถูกออกแบบทั้งชา แก้วที่ใส่ให้ดูสวยงาม เข้ากับไลฟ์สไตล์ความเป็นญี่ปุน “คาวาอี้ คัลเจอร์” ที่ยังสะท้อนความเป็นญี่ปุ่นของชิเซโด้ได้ และที่แน่ๆ ทำให้แบรนด์ดูเด็กลง ตามเป้าหมายที่ต้องการเจาะกลุ่มคนรุ่นใหม่
การถือแก้วชานมไข่มุกเวลาถือแล้วดูเท่ ไม่ต่างจากการถือแก้วสตาร์บัคส์ เพราะถ้าเป็นวัยรุ่นยุคนี้ต้องเป็น “ชานมไข่มุก” ซึ่งกลายเป็นเครื่องดื่มหลังอาหารกลางวันไปแล้ว
การ Collaboration ยุคนี้ ไม่จำเป็นต้องอยู่ในอุตสาหกรรมเดียวกันเสมอไป ข้ามสายพันธ์ุไปจับมือกันคนละอุตสาหกรรมได้ ในเมื่อ “ชานมไข่มุก” เป็นเครื่องดื่มที่ฮอตฮิตในหมู่วัยรุ่นในหลายประเทศ แบรนด์จึงต้องเอาตัวเองเข้าไปอยู่ในกระแสความนิยม ดูว่ากลุ่มเป้าหมายชื่นชอบอะไร อะไรที่ลูกค้อยากพกติดตัว อยากซื้อโดยที่แบรนด์ไม่จำเป็นต้องทำเองเสมอไป
แจ็คกี้ หวัง (Jacky Wang) กรรมการผู้จัดการ (President) บริษัท Possmi International จำกัด ผู้นำเข้าวัตถุดิบชานมไข่มุกจากประเทศไต้หวัน บอกว่า จุดเด่นของชานมไข่มุก เป็นเครื่องดื่มที่มีสีสัน มีลูกเล่น มีการครีเอตสูตรที่เปลี่ยนไป ทำให้คนไม่เบื่อ ในหลายประเทศนำชานมไข่มุกไปดัดแปลงผสมกับเครื่องดื่มท้องถิ่น ชานมไข่มุกจึงเป็นเครื่องดื่มที่มีสีสัน ดื่มอร่อย กินอร่อย และเคี้ยวสนุก
วิธีการทำ Collaboration แบรนด์ไม่ต้องจ่ายค่าลิขสิทธิ์ราคาแพง แบบไปซื้อลิขสิทธิ์คาแร็กเตอร์แบบเดิมๆ แถมยังสร้างความแตกต่างได้ด้วย
เหมือนอย่าง “อิเกีย” ที่เลือก Collaboration กับเกรฮาวด์ แบรนด์แฟชั่นและไลฟ์สไตล์ของไทย ซึ่งเป็นแบรนด์ในเอเชียตะวันออกเฉี่ยงใต้เพียงแบรนด์เดียวที่ถูกเลือก เพื่อต้องการแนวคิดในการนำเสนอสินค้าตกแต่งบ้านที่รองรับการใช้งานหลากหลาย เพื่อเจาะกลุ่มเป้าหมายคนรุ่นใหม่ซึ่งใช้ชีวิตอยู่ในเมืองในบ้านที่มีพื้นที่จำกัด
การเลือก เกรฮาวด์ เพราะประสบการณ์และการการเติบโตของแบรนด์ แฟชั่นที่แสดงออกถึงตัวตน เข้ากับวัฒนธรรมแนวสตรีทได้ และยังแบรนด์แฟชั่นขยายตัวสู่ธุรกิจอื่น เช่น คาเฟ่ และปัจจุบันก็ก้าวขึ้นเป็นผู้นำแบรนด์ไลฟ์สไตล์ ซึ่งทีมครีเอทีฟของอิเกียและเกรฮาวด์ร่วมกันพัฒนาคอลเลคชั่นใหม่ที่จะเพิ่มสีสัน และความเท่ในสไตล์อินดัสเตรียลให้ “สาขา” ของอิเกีย เพื่อเข้าถึงกลุ่มคนรุ่นใหม่ วัย 18 – 35 ปีซึ่งเป็นฐานลูกค้าของเกรฮาวด์
ภายใต้คอลเลคชั่นพิเศษ SAMMANKOPPLA/ซัมมันคอปล่า ที่วางขายในสโตร์อิเกียทั่วโลกในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2563
นั่นหมายความว่า เกรฮาวด์จะสร้างชื่อแบรนด์ร่วมกับอิเกียไปทั่วโลก สอดคล้องกับธุรกิจ เกรฮาวด์คาเฟ่ ที่รุกขยายเปิดสาขาในหลายประเทศแล้ว ทั้งในเอเชีย และอังกฤษ.