เมืองไทยเล็กไปแล้ว

ก่อนแถลงข่าวครบรอบ 25 ปี และการประกาศวิชั่นใหม่ ขอเป็น “ผู้นำตลาดอาเซียน” ใน 5 ปีจะเริ่มขึ้น สราวุฒิ สำราญทรัพย์ กรรมการผู้จัดการบริษัท สยามซานิทารีแวร์อินดัสทรี จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายสุขภัณฑ์และก๊อกน้ำคอตโต้ ไม่ปล่อยเวลาให้ผ่านไปอย่างไร้ค่า แต่ทำหน้าที่เป็นไกด์พาสื่อทัวร์ชมโชว์รูม “คอตโต้ สตูดิโอ” เพื่อให้เห็นความเปลี่ยนแปลงชัดยิ่งขึ้น เพราะยุคนี้แค่แถลงด้วยการพูดอย่างเดียวอาจไม่แรงพอเป็นข่าวได้

ยิ่งมีเป้าหมายของการบุกตลาดอาเซียน และต้องรับมือสินค้าจากจีนตีตลาดด้วยแล้ว ต้องมองไปถึงการมีบริการ และโซลูชั่นให้ลูกค้ามากกว่าแค่การขายแล้วจบ ยังต้องรีแบรนด์ให้ดูไฮเอนด์มากขึ้น รวมถึงความถี่ในการออกกผลิตภัณฑ์ใหม่ที่ต้องทำคู่กันไป

นอกจากทยอยเปิดคอตโต้ สตูดิโอ 11 แห่ง ในปีนี้ พ่วงการออกแบบดิสเพลย์หน้าร้านแบบ Stand Alone เพื่อให้ดีลเลอร์วางสินค้าคอตโต้ได้หลากหลายขึ้น ไม่ต้องแย่งกับแบรนด์คู่แข่งอีกต่อไป ก็ยังมุ่งเจาะกลุ่มประเทศอาเซียนอย่างเวียดนาม มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ บรูไน สิงคโปร์ พม่า กัมพูชา และลาว ตามนโยบายของ SCG ในการขยายตลาดกลุ่มดีลเลอร์ สถาปนิก และอินทีเรียดีไซเนอร์ในต่างประเทศเพิ่มขึ้นด้วย

พร้อมกันนี้ยังให้โจทย์ใหม่กับทีมออกแบบผลิตภัณฑ์ ใช้เวลาสั้นลง จาก 7 เดือน ให้เหลือ 3 เดือน หลังนำระบบอัตโนมัติและคอมพิวเตอร์ต่างๆ มาช่วยในงานออกแบบมากขึ้น เพื่อแข่งขันได้เร็ว และกินส่วนแบ่งตลาดได้มากขึ้น

คอตโต้เลือกเอาฟังก์ชันการใช้งานและบริการหลังการขายครบวงจรมาเป็นจุดแข็ง เข็น 4 Solution คือ ระบบห้องน้ำ ระบบจัดการน้ำ ระบบการดูแลพื้นผิว และ ห้องครัวซึ่งเป็นบริการใหม่ล่าสุด มาจัดแสดงในสตูดิโอหน้าตาสวยงามเรียกลูกค้าเตรียมประชันคู่แข่งอย่างเต็มที่

“ลูกค้าไม่ได้ต้องการสินค้าเพียงอย่างเดียวอีกแล้ว ที่เขาต้องการคือวิธีการบริหารจัดการด้วย ซึ่งสิ่งนี้จะทำให้เราแข็งแกร่งและรับสภาพการแข่งขันได้มากขึ้น”

เมื่อเห็นว่าลูกค้าไฮเอนด์ในอาเซียน เช่น โรงแรมและรีสอร์ต ชอบความพรีเมียมของสินค้านำเข้ามากกว่าซื้อในประเทศตัวเอง คอตโต้จึงต้องปรับภาพแบรนด์ด้วยแผนการตั้งโชว์รูมสินค้าให้สวย ทันสมัย และแวร์เฮาส์ ช่วยกระจายสินค้าให้ถึงมือลูกค้าได้รวดเร็วขึ้น โดยเตรียมใช้งบแบรนดิ้งครั้งนี้สูงสุดเป็นประวัติการณ์ จากเดิม 2-3% ก็เพิ่มเป็น 8-9% ของยอดขายต่างประเทศ

คอตโต้ยังต้องเร่งหาพาร์ตเนอร์ธุรกิจ, กลุ่มสถาปนิกให้มั่นใจในการเลือกใช้สินค้าของแบรนด์มากขึ้น และทันทีที่เอเยนต์ต่างประเทศพร้อมก็จะสร้างโชว์รูมทันที ตั้งเป้ารายรับปีนี้ที่ 4,800 ล้านบาท จากปีที่แล้ว 4,300 ล้านบาท กับอีกเป้าหมายคือเพิ่ม High Value Product จากเดิมที่มี 30% เป็น 50% ของสินค้าทั้งหมด เพื่อปรับภาพลักษณ์ความพรีเมียมและตอบโจทย์ลูกค้าให้มากขึ้น

ปีที่แล้วคอตโต้ต้องสู้ภาวะกระเบื้องราคาถูกจากจีนที่เข้ามาตีตลาดจากการเปิด FTA ปีนี้จึงเริ่มหันหน้าเข้าสู่น่านน้ำใหม่ในอาเซียนที่ให้การตอบรับดีไม่แพ้ในประเทศ แต่ยังต้องระวังคู่แข่งแบรนด์ข้ามชาติทั้งหลายซึ่งตั้งการ์ดรักษาส่วนแบ่งของตัวเองอย่างเหนียวแน่น นาทีนี้การสร้างแบรนด์จึงดูจะเป็นคำตอบที่ดีที่สุดที่คอตโต้ต้องเร่งมือเพื่อบุกตลาดนอกบ้านต่อไป

Positioning สุขภัณฑ์และก๊อกน้ำที่มาพร้อม Solution และบริการหลังการขายแบบ One top ervice
Target ลูกค้าที่ต้องการบริการหลังการขายและคำแนะนำด้านดีไซน์
Market Strategy Branding Marketing, Experience Marketing
Market Analysis การมี FTA ทำให้อุปสรรคและข้อจำกัดในการบุกอาเซียนของ Cotto ลดลง, ลูกค้ากลุ่มอาเซียนนิยมกระเบื้องและสุขภัณฑ์นำเข้ามากขึ้น รวมทั้งแรงงานไทยซึ่งผลิตสินค้าได้ตอบโจทย์กลุ่มเป้าหมายค่อนข้างดี

สัดส่วนรายได้ของ Cotto มูลค่า 4,300 ล้านบาท (by segment)

สุขภัณฑ์ 60%
-รายได้ในประเทศ 70%
-รายได้จากการส่งออก 30%

ก๊อกน้ำ 40%
-รายได้ในประเทศ 75%
-รายได้จากการส่งออก 25%