ภายใต้ยุทธศาสตร์ของกลุ่มเซ็นทรัลที่ “ทศ จิราธิวัฒน์” ประธานกรรมการบริหารได้ประกาศไว้ว่า ต้องการก้าวเข้าสู่ Retail Tech Company เต็มรูปแบบ หรือการที่กลุ่มเซ็นทรัลจะไม่ใช่แค่การทำธุรกิจรีเทลเหมือนในช่วง 70 ปีก่อน แต่เป็น Tech Company ที่ทุกอย่างจะถูกขับเคลื่อนอยู่บนแพลตฟอร์ม
ที่มีทั้งฟิสิคัล แพลตฟอร์ม หรือร้านค้าปลีก และศูนย์การค้าในรูปแบบของออฟไลน์ และ ดิจิทัล ไลฟ์สไตล์ แพลตฟอร์ม ที่จะเข้าถึงไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิตของคนรุ่นใหม่ที่อยู่บนโลกของดิจิทัล เป็น Omni channel ที่เชื่อมโยงระหว่างออนไลน์และออฟไลน์อย่างไร้รอยต่อ
หนึ่งใน Bsiness Units ที่ถูกยกขึ้นมาเป็นคีย์หลักคือ “บริการด้านการเงิน และฟินเทค” (Financial services & Fin Tech) ที่แม้จะไม่สร้างรายได้ให้โดยตรง แต่ “มนตรี สิทธิญาวณิชย์” รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ฝ่ายผลิตภัณฑ์ และบริการทางการเงิน บริษัท ห้างเซ็นทรัล ดีพาทเมนท์สโตร์ จำกัด จำเป็นต้องมีเพราะอำนวยความสะดวกให้กับลูกค้า โดยมีงาบใช้งบลงทุนเพื่อพัฒนาระบบต่างๆ กว่า 2,000 ล้านบาท
ปัจจุบันบริการด้านการเงินและฟินเทคภายใต้กลุ่มเซ็นทรัล แบ่งออกเป็น 7 กลุ่มหลักได้แก่ บริการโบรคเกอร์ประกัน, บริการที่ปรึกษาด้านการลงทุน, อีเพย์เมนต์, บัตรของขวัญ, บัตรเครดิตเดอะวัน เซ็นทรัล, สินเชื่อเพื่อการใช้จ่าย และสินเชื่อส่วนบุคคล และ อีวอลเล็ท
แต่ที่ผ่านมาภาพของกลุ่มเซ็นทรัลกับ Bsiness Units อาจจะยังไม่ชัดมากนัก จนกระทั่งได้จับได้ออกมาประกาศจับมือกับ “เวสเทิร์น ยูเนี่ยน” ในการเปิดตัวบริการโอนเงินข้ามประเทศในรูปแบบออนไลน์ โดยสามารถโอนครั้งละไม่เกิน 2.5 แสน วันละไม่เกิน 8 แสนบาท คิดค่าบริการ 99 บาทต่อครั้ง ซึ่งเซ็นทรัลบอกว่า ถูกกว่าการไปโอนผ่านช่องทางอื่นๆ ที่คิดเป็นเปอร์เซ็นต์
นอกจากการชำระเงิน (โอนเงิน) สามารถชำระเงินในการทำธุรกรรมผ่านแอปพลิเคชั่น เว็บไซต์ หรือการตัดบัญชีธนาคารไทย ธนาคารสามารถเลือกชำระเป็นเงินสดได้ที่เคาน์เตอร์เวสเทิร์น ยูเนี่ยน ในห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัล โรบินสัน ท็อปส์ และบิ๊กซี ทั่วประเทศจำนวน 84 สาขา ขณะเดียวกันเคาน์เตอร์เหล่านี้ยังเป็นสถานที่ยืนยันตัวตน กฎของธนาคารแห่งประเทศไทยหลังจากสมัครด้วย
สำหรับการโอนเงินหากโอนไปยังออนไลน์ด้วยกันจะใช้เวลา 15 นาทีถึงจะได้เงิน ถ้าเข้าบัญชีจะใช้เวลาราว 1-3 วัน ปัจจุบันสามารถโอนเงินโดยตรงไปยังบัญชีธนาคารหลายพันล้านบัญชีเกือบ 100 ประเทศทั่วโลก หรือโอนไปยังตัวแทนของเวสเทิร์น ยูเนี่ยนที่มีอยู่มากกว่า 500,000 สาขาใน 200 ประเทศทั่วโลก
ดังนั้นการจับมือครั้งนี้จะทำให้เซ็นทรัล สามารถขยายฐานลูกค้าเพิ่มขึ้น โดยจะมีลูกค้าใหม่ที่เป็นกลุ่มคนที่คุ้นเคยกับการใช้ดิจิทัลเพย์เมนต์และไม่ชอบไปที่เคาน์เตอร์ นอกเหนือไปจากส่วนแบ่งค่าธรรมเนียมที่จะได้รับ
ขณะเดียวกันดีลนี้ถือเป็นเอ็กซ์คลูซีฟสำหรับเซ็นทรัลที่เวสเทิร์น ยูเนี่ยนจะให้บริการช่วงระยะเวลาหนึ่ง แต่ไม่ขอเปิดเผย โดยสาเหตุที่เลือกเป็นเพราะเซ็นทรัลคือ Agent รายแรกในเมืองไทย ตั้งแต่ 25 ปีก่อน
ก่อนหน้านี้ได้เริ่มทดลองให้บริการมาตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ และเปิดตัวอย่างเป็นทางการปลายเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา พบว่ามียอดสมัครเพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัว และมีจำนวนที่มาพิสูจน์ตัวตนเพิ่มจาก 10-20% เป็น 30-40% ในจำนวนนี้กว่า 90% เริ่มใช้บริการแล้ว ส่วนใหญ่เป็นลูกค้าเพศชายอายุ 30 – 40 ปี โอนเงินไปให้ทั้งญาติและด้านธุรกิจ เป็นกลุ่มชาวต่างชาติมากกว่าคนไทย
ขณะเดียวกันกลุ่มเซ็นทรัลได้หันมารุก “บัตรของขวัญ” โดยเปิดตัวบัตรที่สามารถใช้จ่ายผ่านร้านค้าที่อยู่ในเครือได้ เบื้องต้นใช้จ่ายได้ในห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัล โรบินสัน ท็อปส์ B2S เป็นต้น เฟสถัดไปจะสามารถจ่ายในแฟมิลี่มาร์ท เดิมบัตรของขวัญจะใช้ได้เฉพาะธุรกิจที่ออกเท่านั้น ต่อไปวางแผนที่จะพัฒนาให้บัตรนี้สามารถเติมเงินได้ ซึ่งจะทำให้เซ็นทรัลได้ข้อมูลพฤติกรรมของลูกค้ามาวางแผนการตลาดได้.