อุตสาหกรรมสื่อที่มีเม็ดเงินโฆษณา “แสนล้านบาท” ต่อปี “ทีวี” ยังครองเม็ดเงินโฆษณาสูงสุดสัดส่วน 60% ราว 60,000 ล้านบาทต่อปี “ละคร” เป็นคอนเทนต์ที่โกยงบโฆษณามากสุด 40-50% รองลงมาคือ “ข่าว” ราว 30% นั่นหมายถึงมูลค่ากว่า 18,000 ล้านบาทต่อปี
หนึ่งในเงื่อนไขสำคัญของ “ทีวีดิจิทัล” คือผังรายการช่องวาไรตี้ ต้องนำเสนอข่าวและสาระ 25% ของผังรายการ ส่วนช่องข่าว สัดส่วนอยู่ที่ 50% ทำให้คอนเทนต์ประเภทข่าว เป็นที่ต้องการของช่องทีวีดิจิทัล หากเป็นรายการที่แตกต่างและได้รับความนิยม ก็มีโอกาสโกยเม็ดเงินโฆษณาเป็นกอบเป็นกำได้เช่นกัน
JKN Global Media มองเห็นโอกาสการผลิตคอนเทนต์ “ข่าว” ในอุตสาหกรรมทีวีดิจิทัล จึงจับมือเป็นพันธมิตรซื้อลิขสิทธิ์ฟอร์แมตรายการข่าว CNBC Asia จาก NBC (Universal) เครือข่ายสถานีโทรทัศน์ระดับโลกของสหรัฐอเมริกา สัญญา 10 ปี เพื่อนำมาผลิตรายการข่าวเวอร์ชั่นภาษาไทย โดยลงทุนสร้างสตูดิโอใหม่ที่ JKN ศาลายา กว่า 200 ล้านบาท
แบรนด์ CNBC แกร่งดึงผู้ชม
สโรชา พรอุดมศักดิ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เจเคเอ็นนิวส์ จำกัด ในเครือ JKN กล่าวว่า CNBC เป็นสื่อระดับโลกด้านเศรษฐกิจ การเงินและการลงทุน ที่ประสบความสำเร็จด้านคอนเทนต์ข่าว ด้วยมิติการนำเสนอข่าวสารด้านการเงินแบบย่อยข้อมูลให้เข้าใจง่าย คอนเทนต์ CNBC เวอร์ชั่นภาษาไทย 95% เป็นเนื้อหาที่เกี่ยวกับไทย ทั้งตลาดหลักทรัพย์ เศรษฐกิจ รัฐบาล ผู้บริหาร เชื่อว่าจะได้รับความสนใจจากผู้ชม
การลงทุนผลิตฟอร์แมตรายการข่าวเศรษฐกิจระดับโลก เพราะเห็นว่าประเทศไทยยังขาดการเสนอข่าว เรื่องการเงิน การลงทุน ที่เป็นมาตราฐานสากล ปัจจุบันความรู้ทางการเงิน (financial literacy) ทั้งการออมและลงทุนของคนไทยอยู่ที่ 40% ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของสากลและส่วนใหญ่อยู่ที่ระดับ 50-60% จึงต้องการเป็นอีก “ทางเลือก” ในการให้ข้อมูลกับผู้ชมไทยผ่านสื่อทีวี ที่เข้าถึงคนทุกวัย
“แบรนด์ที่แข็งแกร่งของ CNBC จะสร้างความแตกต่างการนำเสนอข่าวเศรษฐกิจ การเงิน การลงทุนให้น่าสนใจและดึงดูดผู้ชมหน้าจอ จากวิธีการนำเสนอ ย่อยข้อมูลให้เข้าใจง่าย กราฟิกที่โดดเด่นช่วยอธิบายเรื่องราว โนว์ฮาวที่ได้จะเป็นประโยชน์กับ JKN-CNBC และ JKN News รวมทั้งภาพรวมวงการข่าวในประเทศไทย”
ส่ง 8 รายการลงผังทีวีดิจิทัล 5 ช่อง
JKN-CNBC ได้เปิดตัวเป็นพันธมิตรกับทีวีดิจิทัลช่อง GMM 25 เป็นรายแรก เพื่อผลิตข่าวเศรษฐกิจ การเงิน การลงทุนและข่าวทั่วไปที่เชื่อมโยงกับเศรษฐกิจ ประเดิม 3 รายการ ลงจอวันที่ 1 ก.ค.2562 รวม 5 ชั่วโมงต่อวัน
ได้แก่ รายการ Squawk Box เวลา 6.00 – 8.00 น. จันทร์ – ศุกร์ ซึ่งเป็นรายการเรตติ้งสูงสุดของ CNBC จากผู้ชมทั่วโลก นำเสนอแหล่งข้อมูลที่แม่นยำและน่าเชื่อถือ, รายการ Power Lunch เวลา 12.30 – 13.30 น. จันทร์ – ศุกร์ เกาะติดความเคลื่อนไหวของข่าวสารในภาคเช้าและแนวโน้มทิศทางของข่าวในภาคบ่าย และรายการ Street Signs เวลา 16.15 – 18.00 น. จันทร์ – พฤหัสบดี ส่วนวันศุกร์เวลา 16.15 – 18.20 น. รายการใหม่ล่าสุดของ CNBC Asia ที่จะมาบอกทิศทางของข้อมูลข่าวสารเศรษฐกิจ การเงินและการลงทุน
หลังเปิดตัวผลิตรายการข่าวให้ GMM 25 สโรชา บอกว่าได้รับการตอบรับที่ดีมาก จากทีวีดิจิทัลช่องต่างๆ ที่สนใจเป็นพันธมิตรกับ JKN-CNBC ปีนี้สรุปได้ผลิตรายการข่าวเศรษฐกิจให้กับทีวีดิจิทัล 5 ช่อง 8 รายการ
นอกจาก 3 รายการทาง GMM 25 แล้ว ในวันที่ 1 ก.ค.นี้ ได้เปิดตัวรายการ Halftime Report เวลา 11.30 – 12.00 น. จันทร์-ศุกร์ ช่อง 5
รายการ JKN-CNBC Around The World เวลา 5.30-6.00 น. (first run) เวลา 23.30-0.00 น. (rerun) เสาร์-อาทิตย์ เริ่ม 6 ก.ค.2562 อมรินทร์ทีวี รายการนี้อยู่นอกโผฟอร์แมต CNBC เพราะเป็นรายการที่พัฒนาขึ้นใหม่ในประเทศไทย เนื่องจากอมรินทร์ทีวีมีโจทย์ให้ผลิตคอนเทนต์ที่เป็นการผสมระหว่างข่าวเศรษฐกิจและข่าวต่างประเทศ JKN-CNBC จึงออกแบบให้ใหม่เป็นรูปแบบรายการสรุปข่าวรายสัปดาห์ ข่าวตลาดหุ้นรอบโลก ภาวะซื้อขายสัปดาห์ที่ผ่านมา ปัจจัยที่ส่งผลต่อความเคลื่อนไหวของตลาด และข่าวต่างประเทศที่โดดเด่น รายการนี้ แอ้ม สโรชา เป็นผู้ดำเนินรายการเอง
ส่วนรายการที่จะเริ่มในเดือน ส.ค.นี้ กำลังอยู่ระหว่างเจรจากับสถานีทีวีดิจิทัลอีก 1 ช่อง คือ CNBC Conversation ดำเนินรายการโดย “สุทธิชัย หยุ่น” รูปแบบ Hard Talk พูดคุยกับแขกรับเชิญในรายการ ซึ่งเป็นบุคคลระดับวางนโยบายขับเคลื่อนเศรษฐกิจเป็นหลัก เช่น รองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีกระทรวงการคลัง พาณิชย์ อุตสาหกรรม ท่องเที่ยว อธิบดี ประธานหอการค้าต่างๆ
“ฟอร์แมต CNBC Conversation แขกรับเชิญจะเป็นผู้บริหารที่กำหนดนโยบายขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศ ผู้ดำเนินรายการก็ต้องมีประสบการณ์สูง จึงนึกถึงคุณสุทธิชัย และไปชวนด้วยตัวเอง และคุณสุทธิชัย บอกว่าอยากทำ”
สำหรับเดือน ก.ย. มีอีก 2 รายการทางช่อง ทรูโฟร์ยู คือ Managing Thailand เวลา 13.30-14.30 น. วันเสาร์ และ First Class Thailand
โดยทั้งหมดเป็นรูปแบบ Time Sharing ซึ่งเป็นข้อกำหนดของลิขสิทธิ์ที่ได้รับจาก CNBC เพราะต้องเป็นผู้กำหนดทิศทางการนำเสนอของกองบรรณาธิการเอง ปีหน้าเชื่อว่ายังมีโอกาสผลิตรายการเพิ่มเติมกับพันธมิตรช่องใหม่และช่องเดิม
เป้าหมายขึ้นแท่นสำนักข่าวชั้นนำ
เป้าหมายของ JKN-CNBC ต้องการเป็นสำนักข่าวชั้นนำด้านเศรษฐกิจของไทย นำเสนอรายการข่าวมาตรฐานฟอร์แมตระดับโลก จากข้อมูลที่น่าเชื่อถือเพื่อใช้ประกอบการตัดสินใจลงทุน ปัจจุบันผู้ชมมีการรับรู้เกี่ยวกับการออมและการลงทุนทางการเงินมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการซื้อประกันชีวิต กองทุนต่างๆ เพื่อใช้ลดหย่อนภาษีและเป็นการออมเพื่อใช้ในวัยเกษียณ แต่ยังมีเครื่องมือการออมและการลงทุนในตลาดเงินและตลาดทุนอีกจำนวนมากที่คนยังไม่รู้ รายการของ JKN-CNBC จะมาให้ความรู้และทางเลือกการลงทุนใหม่ๆ
สโรชา มองว่ารายการข่าวเศรษฐกิจของ JKN-CNBC สามารถรับชมได้ทุกวัย รวมทั้งกลุ่มคนรุ่นใหม่กลุ่มผู้ชมช่อง GMM25 ซึ่งมีตั้งแต่นักศึกษา วัยเริ่มต้นทำงานและกลุ่มผู้ชมทั่วไป ถือเป็นโอกาสที่ดีของการนำเสนอคอนเทนต์ ที่จะปูพื้นฐานความรู้การบริหารเงินให้กับคนรุ่นใหม่ เพราะยุคนี้คนแต่งงานลดลง เมื่อเข้าสู่วัยเกษียณก็ต้องพึ่งพาตัวเอง การนำเสนอข้อมูลของ JKN-CNBC จะสื่อสารให้รู้ว่าคนรุ่นใหม่สามารถเรียนรู้การบริหารการเงินและการออม ตั้งแต่ยังศึกษาอยู่หรือวัยเริ่มต้นทำงาน เพื่อปูทางไปสู่การดูแลตัวเองในวัยเกษียณทั้งกลุ่มที่มีครอบครัวและไม่มีครอบครัว
“กลุ่มผู้ดำเนินรายการทุกคนเป็นคนรุ่นใหม่ที่สามารถสื่อสารกับกลุ่มผู้ชมของ GMM 25 ได้เป็นอย่างดี โดยไม่มีช่องว่าง เชื่อว่าเนื้อหาและรูปแบบการนำเสนอที่เข้าใจง่าย จะได้รับความสนใจจากผู้ชมด้วยเช่นกัน”
มั่นใจรายได้โฆษณาตามเป้า
ด้านการหารายได้ของ JKN-CNBC บริษัทแม่กำหนดไว้ที่สัดส่วน 3-5% ของ JKN ที่ปีนี้ตั้งเป้าหมาย 1,700 ล้านบาท นั่นหมายถึง JKN News จะต้องมีรายได้ปีแรก 500-850 ล้านบาท แต่จากการหา Founding Sponsor และพาร์ตเนอร์พบว่าได้รับผลตอบรับที่ดี แม้เศรษฐกิจและอุตสาหกรรมทีวีดิจิทัลจะอยู่ในภาวะซึม
“สปอนเซอร์บางรายยังไม่เห็นรายการจริง แต่ด้วยชื่อของ JKN-CNBC ก็เชื่อมั่นและสนใจ ทำให้เบาใจเรื่องการหารายได้โฆษณาน่าจะได้ตามเป้าหมาย”