ผ่าเทรนด์ธุรกิจอาหาร “เนื้อทางเลือก” โตต่อเนื่อง คาด 10 ปีทั่วโลก มูลค่าทะลุ 1.4 แสนล้าน เบอร์เกอร์มังสวิรัติ มาแรง

เนื้อทางเลือก หรือ alternative meat ที่ปราศจากเนื้อสัตว์กำลังขยายตัวชัดเจน คาดมูลค่าตลาดจะเพิ่มเป็น 140,000 ล้านเหรียญสหรัฐทั่วโลกในอีก 10 ปีข้างหน้า อย่างไรก็ตาม ภาวะนี้ไม่ได้แปลว่าการบริโภคเนื้อสัตว์ทั่วโลกจะลดลง ตรงกันข้ามคือยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องโดยได้แรงหนุนจากบางประเทศ หนึ่งในนั้นคือจีนและบราซิลที่กินดุที่สุด

ไม่แน่ชัดว่าเป็นเพราะอิทธิพลบุฟเฟ่ต์ชาบูหรือไม่ การสำรวจจาก The Economist พบว่าค่าเฉลี่ยการบริโภคเนื้อสัตว์ของชาวจีนนั้นเพิ่มจากที่มีเพียง 9 ปอนด์ต่อปีในปี 1961 มาเป็น 137 ปอนด์ต่อปีในปี 2013

ปีที่แล้ว alternative meat โต 30%

สถิติล่าสุดจาก Nielsen Product Insider พบว่ายอดขายเนื้อสัตว์ทางเลือก alternative meat เพิ่มขึ้น 30% ในปี 2018 เมื่อเทียบกับปี 2017 แนวโน้มเติบโตนี้คาดว่าจะมีผลต่อเนื่องจน alternative meat มีมูลค่าทะลุหลัก 140,000 ล้านเหรียญสหรัฐทั่วโลกในอีก 10 ปีข้างหน้า โดยข้อมูลจาก Barclays มั่นใจว่า alternative meat จะมีสัดส่วนเพียงเล็กน้อยจากตลาดเนื้อสัตว์ทั่วโลก ที่ในปัจจุบันมีมูลค่า 1.4 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ

สถิติล่าสุดยังพบว่าความต้องการอาหารทางเลือกในตลาดนั้นเพิ่มขึ้น ไม่ว่าภาวะนี้คือแฟชั่นชั่วคราว หรือเป็นอนาคตที่ยั่งยืนในวงการอาหาร แต่บริษัทอย่าง Impossible Foods และ Beyond Meat ซึ่งจดทะเบียนในเดือนพฤษภาคมนั้นเติบโตรวดเร็วมากจนหุ้นของบริษัทพุ่งขึ้นมากกว่า 600% ทำให้ทั้งคู่ลุยผลิตผลิตภัณฑ์โปรตีนเกษตรแบบเต็มสูบจนฉายแววอนาคตสดใสยิ่งขึ้นเมื่อเชนฟาสต์ฟู้ดทั้ง Carl’s Jr., White Castle และล่าสุดคือ Burger King ที่เริ่มเปิดตัวเบอร์เกอร์มังสวิรัติ โดย Burger King เปิดจำหน่าย Impossible Whoppers ที่ไร้เนื้อสัตว์ในร้านค้าทั้งหมด 7,200 แห่งทั่วสหรัฐอเมริกา

เทรนด์เบอร์เกอร์มังสวิรัติยังร้อนแรงขึ้นในลอนดอน โดยเชนร้านสลัดและแซนด์วิชอย่าง Pret a Manger ก็กำลังทดสอบร้านใหม่ที่เปิดขายเมนูมังสวิรัติเท่านั้น ในขณะที่ WeWork บริษัท co-working company ที่ให้บริการสำนักงานแก่เหล่าฟรีแลนซ์ทั่วสหรัฐฯ ยุโรป เอเชีย และละตินอเมริกา ยังระบุเมื่อปีที่แล้วว่าจะเป็นบริษัทปลอดเนื้อสัตว์ และจะไม่มอบเงินให้พนักงาน 6,000 คนทั่วโลกเป็นค่ามื้ออาหารที่มีเนื้อสัตว์

นอกจากนี้ยังมีแคมเปญอิสระเช่น “Meatless Monday” ซึ่งกระตุ้นให้ผู้คนหันมารับประทานอาหารมังสวิรัติในช่วงเริ่มต้นของแต่ละสัปดาห์ และ “Veganuary” ซึ่งได้รับความสนใจจากผู้ชมแดนอเมริกันมากถึง 250,000 คนในเดือนมกราคม

ปัจจัยที่ทำให้เนื้อโปรตีนเกษตรเป็นที่นิยมร้อนแรงคือความอร่อย นักวิจารณ์บางคนโต้แย้งว่ายังไม่มีหลักฐานแน่ชัดว่าเนื้อสัตว์ทางเลือกมีคุณค่าทางโภชนาการที่ดีกว่าเนื้อสัตว์จริง อย่างไรก็ตาม ผู้บริโภคบางคนเลือกรับประทานโปรตีนเกษตรเหล่านี้เพราะว่าอร่อย แม้จะไม่ได้หมายความว่าเป็นเนื้อที่ดีกว่าสำหรับสุขภาพ

สายไม่มังฯ กินดุ

แม้จะมีแนวโน้มนิยมกินเนื้อสัตว์จากพืช แต่การบริโภคเนื้อสัตว์ทั่วโลกยังคงเพิ่มขึ้นโดยได้แรงหนุนจากหลายประเทศ การสำรวจพบว่าจีนและบราซิลเป็นประเทศที่มีปริมาณรับประทานเนื้อสัตว์เพิ่มขึ้นอย่างมากในหลายทศวรรษที่ผ่านมา

จาก 9 ปอนด์ต่อปี คนทั่วไปในประเทศจีนบริโภคเนื้อสัตว์เพิ่มขึ้นเป็น 137 ปอนด์ต่อปีในช่วง 50 ปี สถิติจากรายงานของ The Economist นี้ชี้ว่าเพราะความร่ำรวยมั่งคั่งของประชาชนในหลายประเทศทำให้ปริมาณการบริโภคเนื้อสัตว์เพิ่มขึ้น แนวโน้มการกินเนื้อสัตว์มากขึ้นจึงเป็นสัญลักษณ์ของความมั่งคั่งด้วย

อย่างไรก็ตาม Pat Brown หัวเรือใหญ่ CEO และผู้ก่อตั้ง Impossible Foods ซึ่งเป็นบริษัทสตาร์ทอัปด้านเนื้อสัตว์ทางเลือกเชื่อว่ามนุษย์จะหันมาประเมินรูปแบบการบริโภคเนื้อสัตว์ของตัวเองอีกครั้ง โดยประเมินว่าการบริโภคนี้จะมีจุดเปลี่ยนที่เห็นชัดภายใน 5 ถึง 10 ปี 

ที่น่าสนใจคือ ตัวเขาเองต้องการเห็นเนื้อสัตว์ ถูกลบออกไปจากระบบอาหารโลกแบบเบ็ดเสร็จภายในปี 2035 ถึงเวลานั้น CP คงต้องปรับตัวอีกยกใหญ่แน่นอน.

ที่มาhttps://www.cnbc.com/2019/06/18/meatless-alternatives-are-on-the-rise-so-is-global-meat-consumption.html