“เบทาโกร” เปิดขายหุ้น IPO เคาะราคา 40 บาท ระดมทุน 2 หมื่นล้าน หุ้นอาหารที่ใหญ่ที่สุดของไทย

IPO เบทาโกร
“เบทาโกร” (BTG) เตรียมเปิดจองซื้อหุ้น IPO วันที่ 10-17 ตุลาคมนี้ จำนวน 500 ล้านหุ้น เคาะราคาที่ 40 บาทต่อหุ้น มูลค่าการระดมทุน 20,000 ล้านบาท ขึ้นแท่นหุ้น IPO หมวดอุตสาหกรรมอาหารที่ใหญ่ที่สุดของไทย วัตถุประสงค์ระดมทุนเพื่อขยายฟาร์มและโรงงานใหม่

บริษัท เบทาโกร จำกัด (มหาชน) หรือ “BTG” เตรียมเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนต่อประชาชนเป็นครั้งแรก (IPO) จำนวนไม่เกิน 500 ล้านหุ้น (รวมการจัดสรรหุ้นส่วนเกิน) พร้อมกำหนดราคาเสนอขายที่ 40.00 บาทต่อหุ้น คิดเป็นมูลค่าการเสนอขายรวมไม่เกิน 20,000 ล้านบาท (รวมการจัดสรรหุ้นส่วนเกิน)

หากมีการจองซื้อเต็มจำนวน จะนับเป็น IPO ของหุ้นในกลุ่มเกษตรและอุตสาหกรรมอาหารที่มีมูลค่าเสนอขายสูงที่สุดในประวัติศาสตร์ตลาดทุนไทย และเป็นหุ้น IPO ครั้งใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ประจำปีนี้

โดยขณะนี้มีนักลงทุนสถาบันจำนวนรวม 25 ราย ลงนามในสัญญาลงทุนในหุ้น BTG เพื่อเป็น Cornerstone Investors คิดเป็นประมาณ 77.1% ของจำนวนหุ้นที่เสนอขายให้แก่นักลงทุนสถาบันในเบื้องต้น (ไม่รวมการจัดสรรหุ้นส่วนเกิน)

สำหรับนักลงทุนที่เป็นลูกค้าของผู้จัดจำหน่ายหลักทรัพย์สามารถจองซื้อหุ้นได้ในระหว่างวันที่ 10 – 12 และ 17 ตุลาคม 2565 และคาดว่าหุ้น BTG จะสามารถเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยวันแรก วันที่ 2 พฤศจิกายนนี้

จุดประสงค์ของการระดมทุนของเบทาโกรนั้น จะนำไปเป็นทุนในการขยายฟาร์มและโรงงานแห่งใหม่ ไม่ว่าจะด้วยการเข้าซื้อกิจการหรือก่อสร้างใหม่ คาดว่าจะมีการใช้เงินลงทุนในส่วนนี้ประมาณ 5,000 ล้านบาทต่อปี ไปจนถึงปี 2569 ส่วนจุดประสงค์การใช้เงินระดมทุนอื่นๆ จะนำไปชำระหนี้สินของบริษัทและใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในการดำเนินงาน

 

มีครบต้นน้ำถึงปลายน้ำ

“วสิษฐ แต้ไพสิฐพงษ์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เบทาโกร จำกัด (มหาชน) กล่าวถึงพื้นฐานธุรกิจของ BTG ว่า บริษัทก่อตั้งมายาวนาน 55 ปี ปัจจุบันทำธุรกิจเกษตรและอาหารตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ ถึงปลายน้ำ โดยมีการจำหน่ายทั้งในไทยและส่งออกไปต่างประเทศรวม 20 ประเทศ เช่น อังกฤษ สหภาพยุโรป จีน แคนาดา ฯลฯ

ธุรกิจของเบทาโกรแบ่งได้เป็น 4 ส่วนสำคัญ คือ

1.ธุรกิจกลุ่มอาหารและโปรตีน ได้แก่ เนื้อหมู เนื้อไก่ ไข่ไก่ ปลา ผลิตภัณฑ์อาหารแปรรูป และผลิตภัณฑ์อาหารทางเลือก (สัดส่วน 68% ของรายได้รวม)

2.ธุรกิจเกษตร ได้แก่ อาหารสัตว์ เวชภัณฑ์สัตว์ อุปกรณ์เลี้ยงสัตว์ และบริการแล็บ (สัดส่วน 25% ของรายได้รวม)

3.ธุรกิจต่างประเทศ หมายถึง การเข้าลงทุนตลอดซัพพลายเชนในต่างประเทศ ปัจจุบันมีการลงทุนแล้วในลาว กัมพูชา และเมียนมา (สัดส่วน 5% ของรายได้รวม)

4.ธุรกิจสัตว์เลี้ยง ได้แก่ อาหารสัตว์เลี้ยง ขนมขบเคี้ยวสัตว์เลี้ยง ผลิตภัณฑ์ดูแลสัตว์เลี้ยง (สัดส่วน 2% ของรายได้รวม)

ช่วงครึ่งปีแรก 2565 บริษัททำรายได้รวม 53,285 ล้านบาท เติบโต 24.9% เทียบช่วงเดียวกันปีก่อน และทำกำไรสุทธิ 3,893 ล้านบาท เติบโต 233.1% เทียบช่วงเดียวกันปีก่อน ทั้งนี้ รายได้ของเบทาโกรย้อนหลัง 3 ปี (2562-64) มีการเติบโตเฉลี่ยปีละ 7.3%

 

ทิศทาง “เบทาโกร” สร้างแบรนด์ให้แข็งแรงยิ่งขึ้น

“เราเข้าใจความผันผวนของอุตสาหกรรมนี้เพราะเราอยู่มา 55 ปี สิ่งที่เราจะเอาชนะความผันผวนได้ คือ เรามีการสร้างแบรนด์เพื่อทำให้ความผันผวนของราคาลดลง เราเน้นการขายเนื้อสัตว์ที่แปรรูปแล้วมากกว่าการขายสัตว์เป็น” วสิษฐกล่าว เมื่อถูกถามถึงการถูกมองว่าเบทาโกรจะเป็นหุ้นกลุ่มสินค้าโภคภัณฑ์ที่มีความผันผวนสูงหรือไม่

การปั้นแบรนด์เองของเบทาโกรเกิดขึ้นมากว่า 15 ปี และทำให้บริษัทมีความแข็งแรงในตลาดมากกว่าเดิมที่ยังไม่มีแบรนด์ โดยเบทาโกรมีแบรนด์สินค้าทุกกลุ่มไม่ว่าจะเป็นธุรกิจเกษตร ธุรกิจอาหารและโปรตีน และธุรกิจอาหารสัตว์เลี้ยง และมีการจัดแบรนด์ครอบคลุมเซกเมนต์ตั้งแต่ระดับพรีเมียม ระดับมาตรฐาน และระดับคุ้มค่า

IPO เบทาโกร

ยกตัวอย่างเช่น ธุรกิจอาหารและโปรตีน จะมีแบรนด์ S-Pure และ ITOHAM อยู่ในกลุ่มพรีเมียม ส่วนแบรนด์ Betagro จะอยู่ในตลาดมาตรฐาน ขณะที่แบรนด์ เช่น บี-วัน จะเป็นตลาดคุ้มค่า

นอกจากการปั้นแบรนด์ให้แข็งแกร่งทั้งในไทยและต่างประเทศแล้ว วสิษฐยังกล่าวถึงธุรกิจที่จะเป็น New S-Curve ในอนาคต ได้แก่ การเปิดแบรนด์อาหารโปรตีนทางเลือก “Meatly” และการร่วมทุนกับ Kerry สร้างธุรกิจจัดส่งสินค้าที่ต้องแช่เย็น “Kerry Cool” ซึ่งถือเป็นการเติมแวลูเชนของบริษัท

อนาคตที่เบทาโกรกำลังศึกษาเพิ่มเติมของธุรกิจใหม่ คือการหาทางเข้าสู่ตลาดอาหารที่สามารถเก็บได้เป็นระยะเวลานานโดยไม่ต้องแช่เย็น มีอายุยาวนาน ซึ่งจะทำให้ส่งออกต่างประเทศได้ง่ายขึ้นด้วย (ปัจจุบันอาหารของเบทาโกรเป็นอาหารแช่เย็นและแช่แข็ง)

ส่วนทิศทางในระยะยาว ปัจจุบันตลาดโลกมองถึงอุตสาหกรรมเนื้อสัตว์ว่าเป็นตัวการการปล่อยคาร์บอน ซึ่งเบทาโกรไม่ได้นิ่งนอนใจ มีการศึกษาและออกผลิตภัณฑ์ Plant-based แล้วดังกล่าว อย่างไรก็ตาม วสิษฐเชื่อว่า โปรตีนทางเลือกจะไม่ได้มา ‘ดิสรัปต์’ กลุ่มโปรตีนดั้งเดิมได้ทั้งหมด เชื่อว่าอนาคตอาหารก็จะยังต้องรับประทานหมู ไก่ ไข่ ปลากันเป็นหลักเช่นเดิม