เดินทางมาถึงวันสุดท้าย 28 มิ.ย. 2562 ของการตีพิมพ์หนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษ The Nation อายุ 48 ปี หลังจากเผชิญปัญหา “ขาดทุน” เช่นเดียวกับสื่อสิ่งพิมพ์รายอื่นๆ ในยุคเทคโนโลยีดิสรัปชั่น
ก่อนหน้านี้ สมชาย มีเสน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทเนชั่น มัลติมีเดีย กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ชี้แจ้งผ่านรายการห้องข่าวกรุงเทพธุรกิจ ทางช่อง Nation TV เมื่อวันที่ 16 พ.ค. 2562 ต่อการตัดสินใจปิดหนังสือพิมพ์ The Nation ว่าหลังผู้บริหารชุดใหม่เข้ามาบริหารกลุ่มเนชั่น เมื่อวันที่ 1 ก.พ. 2561 ระยะกว่า 15 เดือนที่เข้ามาผ่าตัด และแก้ไขปัญหาหนี้สินที่มีอยู่ 1,570 ล้านบาท ด้วยการขายธุรกิจที่ไม่ใช่ Core Business เพื่อนำเงินมาใช้หนี้ และตัดสินใจคืนทีวีดิจิทัล ช่องสปริง 26 (NOW26)
ในยุคเทคโนโลยีดิสรัปชั่นพฤติกรรมการเสพสื่อผู้บริโภคเปลี่ยนไปยัง “สื่อใหม่” หรือออนไลน์มากขึ้น ปัจจุบันมีผู้ใช้สมาร์ทโฟน 50 ล้านเครื่อง สื่อสิ่งพิมพ์ขายได้มากสุด 2 แสนฉบับ สถานการณ์เช่นนี้ทำให้ “สื่อเก่า” โดยเฉพาะ “สิ่งพิมพ์” ได้รับผลกระทบมากที่สุด จากเม็ดเงินโฆษณาสื่อสิ่งพิมพ์ “ขาลง”
นโยบายของเครือเนชั่นตั้งแต่ปี 2561 คือการนำคอนเทนต์จากสื่อเก่าไปสู่ New Media ทุกแพลตฟอร์ พบว่ายอดผู้ใช้โซเชียลมีเดียเครือเนชั่นเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง เดือน ม.ค. 2561 มีจำนวน 17.94 ล้านราย เดือน เม.ย.2562 จำนวน 22 ล้านราย เติบโต 12.31%
สถานการณ์หนังสือพิมพ์ The Nation ตั้งแต่ปี 2557-2561 ขาดทุนเฉลี่ยปีละ 30 ล้านบาท แต่จากการวิเคราะห์ผู้อ่านคอนเทนต์ The Nation ผ่านเว็บไซต์ พบว่าสัดส่วน 36% อยู่ในประเทศไทย และ 64% มาจากต่างประเทศ คนอ่านอายุ 25-40 ปี เป็นกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่ไม่นิยมอ่านหนังสือพิมพ์ฉบับเล่ม แต่จะอ่านจากดิจิทัลแพลตฟอร์ม ดังนั้นจึงตัดสินใจยุติการพิมพ์หนังสือพิมพ์ The Nation พิมพ์ฉบับสุดท้ายในวันที่ 28 มิ.ย. 2562
จากนั้นวันที่ 1 ก.ค. 2562 จะเป็นก้าวใหม่ของ The Nation สู่แพลตฟอร์มออนไลน์เต็มรูปแบบ โดยกองบรรณาธิการจะทำงานเหมือนเดิมผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ นำเสนอข่าวและบทความและคอนเทนต์ที่มีเสียง ในเดือน ต.ค. 2562 The Nation จะทำเวอร์ชั่นภาษาจีน รองรับนักลงทุนและนักท่องเที่ยวที่เข้ามาไทยมากที่สุด โดยคอนเทนต์เดียวจะนำเสนอ 2 ภาษา
“วันนี้ต้องยอมรับการเปลี่ยนแปลงของสื่อในโลกยุคใหม่ วางเป้าหมายนิวมีเดียของกลุ่มเนชั่นเติบโตปีละ 20% และรายได้ก็จะเติบโตตามไปด้วย ส่วนรายได้สื่อเก่าก็ลดลงเป็นเรื่องปกติ จากการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีและพฤติกรรมผู้บริโภค”
ข้อมูลจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ของบริษัทเนชั่น มัลติมีเดีย กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) รายงานข้อมูลบริษัทในเครือ บริษัท เนชั่น นิวส์ เน็ตเวิร์ค จำกัด ดำเนินธุรกิจด้านข่าวภาษาอังกฤษ The Nation มีคู่แข่งรายเดียวคือ Bangkok Post โดยผู้อ่านหนังสือพิมพ์กลุ่มนี้ค่อนข้างคงที่และจำกัด ส่วนใหญ่เป็นสมาชิกประจำ ในปี 2560 The Nation มีส่วนแบ่งการตลาดด้านพื้นที่โฆษณา 34% และ Bangkok Post 66% โดย The Nation มียอดผลิตเฉลี่ย 45,000-48,000 ฉบับต่อวัน
ส่วนข้อมูลจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ รายงานรายได้ บริษัท เนชั่น นิวส์ เน็ตเวิร์ค จำกัด หรือหนังสือพิมพ์ The Nation
- ปี 2554 รายได้ 268 ล้านบาท ขาดทุน 4 ล้านบาท
- ปี 2555 รายได้ 354 ล้านบาท กำไร 17 ล้านบาท
- ปี 2556 รายได้ 290 ล้านบาท ขาดทุน 8 แสนบาท
- ปี 2557 รายได้ 233 ล้านบาท ขาดทุน 11 ล้านบาท
- ปี 2558 รายได้ 229 ล้านบาท กำไร 1 ล้านบาท
- ปี 2559 รายได้ 159 ล้านบาท ขาดทุน 32 ล้านบาท
- ปี 2560 รายได้ 142 ล้านบาท ขาดทุน 34 ล้านบาท
ปิดสิ่งพิมพ์ “หยุดขาดทุน”
ภวัต เรืองเดชวรชัย ผู้อำนวยการธุรกิจ สายงานการวางแผนและกลยุทธ์สื่อโฆษณา บริษัท มีเดีย อินเทลลิเจนซ์ จํากัด หรือ MI และรองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท มีเดีย อินไซต์ จำกัด กล่าวว่า ธุรกิจสิ่งพิมพ์เป็นสื่อ “ขาลง” ตั้งแต่ปี 2556 ที่เม็ดเงินโฆษณาทั้งหนังสือพิมพ์และนิตยสาร “ติดลบ” มาถึงปัจจุบัน โดยนีลเส็นรายงาน 5 เดือนแรกปีนี้ (ม.ค. – พ.ค. 2562) เม็ดเงินโฆษณาสื่อหนังสือพิมพ์ มีมูลค่า 1,990 ล้านบาท ติดลบ 16.67%
โดยงบโฆษณาหนังสือพิมพ์เป็นสัดส่วนเพียง 4% ของอุตสาหกรรมโฆษณาแสนล้านบาท เฉพาะโฆษณาหนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษมีสัดส่วนไม่ถึง 10% ของงบโฆษณาหนังสือพิมพ์ และไม่ถึง 0.5% ของอุตสาหกรรมโฆษณา และมีแนวโน้มถดถอยมากกว่าสื่ออื่นๆ
กลุ่มผู้ประกอบการสื่อที่ตัดสินใจหยุดทำสื่อสิ่งพิมพ์ นั่นคือการหยุดภาวะเลือดไหล หรือขาดทุน ที่ผ่านมาสื่อสิ่งพิมพ์ประเภท Free Copy ยังอยู่ไม่ได้และต้องปิดตัวเช่นกัน ในกลุ่มสื่อสิ่งพิมพ์ “ทุกราย” มีแพลตฟอร์มออนไลน์รองรับไว้อยู่แล้ว การยุติสิ่งพิมพ์ก็เพื่อหันไปทุ่มเทกำลังคนทั้งหมดมุ่งไปออนไลน์ 100% คาดว่าในช่วง 3 ปีนี้ จะมีสื่อสิ่งพิมพ์ทยอยปิดตัวอีกและต้องเปลี่ยนไปออนไลน์ทั้งหมด ทำให้สื่อออนไลน์กลายเป็น Red Ocean แข่งขันกันดุเดือด
The Nation เป็นหนังสือพิมพ์รายวันภาษาอังกฤษ ฉบับแรกที่มีเจ้าของเป็นคนไทย ก่อตั้งโดย “สุทธิชัย หยุ่น” ในปี 2514 เป็นสื่อสิ่งพิมพ์ฉบับแรกของเครือเนชั่น ก่อนที่จะขยายอาณาจักรสื่อหนังสือพิมพ์อีก 2 ฉบับ “กรุงเทพธุรกิจ และคม ชัด ลึก” ตามด้วยสื่อโทรทัศน์ “เนชั่นทีวี” ปัจจุบันเครือเนชั่นอยู่ภายใต้การบริหารของกลุ่มทุนใหม่ โดยมี “ฉาย บุนนาค” ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เนชั่น มัลติมีเดีย กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) เป็นผู้นำทัพ
สำหรับ “สุทธิชัย หยุ่น” หลังจากร่วมบริหารเครือเนชั่นมา 47 ปี ได้ลาออกจากทุกตำแหน่งในเครือเนชั่น เมื่อวันที่ 5 มี.ค. 2561 มาก่อตั้ง “กาแฟดำ จำกัด” (Kafedam Media Group) เพื่อผลิตคอนเทนต์ทุกรูปแบบนำเสนอผ่านทุกแพลตฟอร์มในยุคดิจิทัล
ในวัย 72 ปี “สุทธิชัย หยุ่น” ทำรายการ “Suthichai Live” ผ่าน Facebook Live ทุกวันและเป็นผู้ผลิตรายการให้กับรายการ “กาแฟดำ” ทางช่อง MCOT HD ทุกวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 23.00-23.30 น. รายการคุยรอบทิศ ทุกวันเสาร์ เวลา 20.15-21.00 น. เป็นผู้ดำเนินรายการ Thailand Live ทุกวันเสาร์ เวลา 17.30-18.00 น. และรายการ “ตั้งวงคุยกับ สุทธิชัย หยุ่น” ในรายการข่าววันใหม่ ทางช่องไทยพีบีเอส
และในเดือน ส.ค.นี้ กับรายการใหม่ CNBC Conversation ทางช่อง TNN นอกจากนี้ยังเขียนบทความคอลัมน์ “กาแฟดำ” ให้กับหนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ และมีเว็บไซต์ของตัวเองในชื่อ suthichaiyoon.net