เป็นประจำทุกปีที่ในงานสหกรุ๊ปแฟร์จะจัดให้มีช่วง “นักวิเคราะห์ นักลงทุนพบกลุ่มสหพัฒน์” ซึ่งหลักๆ จะนำบริษัทที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ฯ ออกมาเปิดเผยถึงทิศทางธุรกิจ ทั้งอาหารและแฟชั่น
แต่หนึ่งในไฮไลต์ที่น่าจับตามองคือ “กลุ่มแฟชั่น” ก่อนเมื่อวานนี้ “บุณยสิทธิ์ โชควัฒนา” ประธานเครือสหพัฒน์ ได้ออกมาเปิดเผยถึงภาพรวมเครือสหพัฒน์ครึ่งปีแรกโตเล็กน้อย สินค้ากลุ่มอาหารและอุปโภคบริโภคยังเติบโตดี ส่วน “สินค้าแฟชั่น” หดตัว โดยมีอัตราการเติบโตลดลงเมื่อเทียบกับ “กลุ่มอาหาร” ที่ขยับขึ้นมาเป็นพอร์ตรายได้หลักเมื่อ 2 ปีก่อน
ดังนั้นในช่วงของ “นักวิเคราะห์ นักลงทุนพบกลุ่มสหพัฒน์ ครั้งที่ 11 ปี 2562” Positioning จึงสรุปมาให้ดูว่า “สินค้าแฟชั่น” กำลังปรับตัวเพื่อรับความท้าทายอย่างไรบ้าง
แค่ตลาดแมสไม่พอ “วาโก้” ลุยเจาะเซ็กเมนต์ ปีนี้เตรียมเข็นชุดชั้นในออกกำลังกาย
เริ่มด้วย “บริษัท ไทยวาโก้ จำกัด (มหาชน)” ซึ่งปีหน้ากำลังจะมีอายุ 50 ปีแล้ว บุญดี อำนวยสกุล ประธานกรรมการบริการและกรรมการระบุว่า ที่ผ่าน “วาโก้” รั้งตำแหน่งผู้นำในตลาดชุดชั้นในสตรีมาโดยตลอด ปัจจุบันมีส่วนแบ่งตลาดราว 40%
ท่ามกลางความท้าทายจากตลาดชุดชั้นในสตรีในประเทศ ที่ยังคงเป็นตลาดที่มีการแข่งขันกันสูงอย่างต่อเนื่อง ทั้งในด้านคุณภาพของสินค้าและบริการรูปแบบดีไซน์ ราคา ช่องทางการจัดจำหน่าย และกิจกรรมส่งเสริมการขาย
“วาโก้” เองก็ปรับตัวเรื่อยมาโดยเฉพาะในด้านสินค้าใหม่ๆ ซึ่งพัฒนามาจากฐานข้อมูลสรีระของผู้หญิงไทยนับล้านคนมากว่า 38 ปี โดยวาโก้จะเน้นเจาะตลาดลงย่อยในเซ็กเมนต์มากขึ้น เพื่อขยายตลาดไม่อยู่ในแมสอย่างเดียว ปีที่ผ่านมาจึงได้ออก “Smart Size” เปลี่ยนจากวัดรอบออกมาแบ่งเป็นไซต์ S M และ L “Travel Bra” ยกทรงสำหรับคนที่ขอบท่องเที่ยว เนื้อผ้าระบายเหงื่อได้ดี และใช้ยางพารามาทำเป็นโครง
ในปีนี้เตรียมต่อยอดไปทำชุดชั้นในสำหรับออกกำลังกาย ด้วยเห็นว่ายุคนี้ผู้บริโภคหันมาใส่ใจสุขภาพ ซึ่งออกกำลังกายมากขึ้นและนอกจากเรื่องสินค้าแล้ว ได้ปรับตัวเข้าสู่การเป็นศูนย์กลางการบริหารจัดการ Supply Chain ให้กับสินค้าแบรนด์ Wacoal ทั่วโลก โดยร่วมมือกับ Wacoal Corp ประเทศญี่ปุ่น จัดตั้งบริษัทเพื่อผลิตวัตถุดิบสำหรับชุดชั้นในสตรี
ด้านออนไลน์เทรนด์ที่พลาดไม่ได้ “วาโก้” มีการตั้งทีมขึ้นมาดูแลโดยเฉพาะเพื่อดูแลช่องทางขายตั้งแต่สินค้า การออกแบบให้เหมาะสมกับฐานลูกค้าที่ซื้อในช่องทางนี้ โดยปีที่ผ่านมาเติบโต 80% ปีนี้ตั้งเป้าไม่น้อยกว่า 1 เท่าตัว เชื่อว่าในอนาคตยอดขายจากออนไลน์จะมีบทบาทสำคัญต่อยอดขายทั้งหมด
รายได้และกำไร บริษัท ไทยวาโก้ จำกัด (มหาชน)
- ปี 2015 รายได้ 4,141.40 ล้านบาท กำไร 334.37 ล้านบาท
- ปี 2016 รายได้ 4,313.43 ล้านบาท กำไร 310.95 ล้านบาท
- ปี 2017 รายได้ 4,546.55 ล้านบาท กำไร 324.67 ล้านบาท
- ปี 2018 รายได้ 4,881.39 ล้านบาท กำไร 355.76 ล้านบาท
“ธนูลักษณ์” หนีฟาสต์แฟชั่น ไปสู่ Supply Chain
การเติบโตของแบรนด์ฟาสต์แฟชั่น รวมไปถึงการที่ผู้บริโภคยุคนี้หันมาเป็นเจ้าของธุรกิจเสื้อผ้า โดยขายผ่านช่องทางออนไลน์ต่างๆ สะเทือนต่อ “บริษัท ธนูลักษณ์ จำกัด (มหาชน)” ซึ่งมีธุรกิจหลักขายเสื้อผ้าแฟชั่นทั้งผู้หญิง และผู้ชาย โดยมีแบรนด์หลักคือ ARROW – Guy Laroche เป็นต้น
สุชาติ ลายลักษณ์ศิริ รองกรรมการผู้จัดการ ระบุว่า การบริหารงานได้ปรับไปสู่กรอบใหญ่ๆ 2 กรอบ คือการเปลี่ยนการวัดผลใหม่ และการเข้าสู่ยุคดิจิทัล โดยช่วง 3 ปีมานี้ได้ตั้งฝ่ายใหม่ขึ้นมา เพื่อทำให้คนในองค์ในเครื่องมือดิจิทัลให้ดียิ่งขึ้น และเข้าใจพฤติกรรมของผู้บริโภคได้อย่างถ่องแท้
ปีที่ผ่านมามีการจับมือกับ “พีทีที โกลบอล เคมิคอล” บริษัทภายใต้เครือ ปตท. ในโครงการลดกระบวนการเกิดขยะ โดยนำขยะพลาสติกที่เก็บได้จากทะเลมาผลิตเป็นเสื้อเชิ้ต ARROW โดยเสื้อ 1 ตัวทำมาจากขวด 12 ขวด
ส่วนในแง่ของธุรกิจได้แตกไลน์ออกไปยูนิฟอร์มพนักงาน ซึ่งเป็นการตัดแบบวัดตัว ไม่ใช่ผลิตแบบสำเร็จออกมา โดยการทำแบบนี้ช่วยให้เข้าถึงลูกค้ามากขึ้น ขณะเดียวกันผลกระทบจากฟาสแฟชั่น ทำให้บริษัทได้ปรับตัวเองไปเป็น Supply Chain
โดยพัฒนาสินค้า ร่วมกับลูกค้าตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ โดยนำเสนอและพัฒนา วัตถุดิบ รวมทั้งออกแบบสินค้ำ เพื่อตอบสนองต้องการของลูกค้า และทันต่อกระแสแฟชั่นที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว
รายได้และกำไร บริษัท ธนูลักษณ์ จำกัด (มหาชน)
- ปี 2015 รายได้ 2,227.74 ล้านบาท กำไร 173.20 ล้านบาท
- ปี 2016 รายได้ 2,133.49 ล้านบาท กำไร 205.31 ล้านบาท
- ปี 2017 รายได้ 2,002.72 ล้านบาท กำไร 152.11 ล้านบาท
- ปี 2018 รายได้ 2,227.74 ล้านบาท กำไร 195.52 ล้านบาท
“นิวซิตี้ (กรุงเทพฯ)” แตกไลน์สินค้าลดการพึ่งพา “ถุงน่อง”
การมีสินค้าอย่างเดียวไม่ใช่สิ่งที่ดี แต่ต้องมีความหลากหลาย เพื่อกระจายความเสี่ยง ดังนั้นช่วง 7 – 8 ปีที่ผ่านมา “บริษัท นิวซิตี้ (กรุงเทพฯ) จำกัด (มหาชน)” ได้ปรับไลน์สินค้าจากเดิมที่รายได้หลักมาจากเป็นถุงน่องแบรนด์ “เชอรีลอน” ไปสู่สินค้าอื่นๆ มากขึ้น
พิภพ โชควัฒนา ประธานเจ้าหน้าที่บริการและกรรมการผู้จัดการ กล่าวว่า แต่ก่อนถุงน่องคิดเป็นรายได้หลักกว่า 80 – 90% แต่สินค้าชนิดนี้มีขึ้นมีลงตามธุรกิจปรกติจึงได้เพิ่มสินค้าอื่นๆ จนวันนี้ลดลงเหลือ 50% ซึ่งได้ขยายไปสู่ชุดชั้นในสปอร์ตแวร์โดยปีที่ผ่านมาเติบโต 20 – 40% รวมไปถึงขยายไปสู่ธุรกิจเครื่องสำอาง
ปีนี้เตรียมออกชุดว่ายน้ำและรองเท้าสตรีในช่วงครึ่งปีหลัง ขณะเดียวกันเตรียมทำแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซเป็นของตัวเอง เพื่อสร้างพื้นที่ของตัวเอง รับมีกับการเปลี่ยนแปลง
รายได้และกำไร บริษัท นิวซิตี้ (กรุงเทพฯ) จำกัด (มหาชน)
- ปี 2015 รายได้ 641.10 ล้านบาท กำไร 10.80 ล้านบาท
- ปี 2016 รายได้ 673.27 ล้านบาท กำไร 14.52 ล้านบาท
- ปี 2017 รายได้ 655.14 ล้านบาท กำไร 15.23 ล้านบาท
- ปี 2018 รายได้ 681.90 ล้านบาท กำไร 19.09 ล้านบาท
“โอ ซี ซี” ตั้งความหวังร้านตัดผม Easy Cut จะติด Top 10 ของวัยรุ่น
ถึงตลาดเครื่องสำอางจะมีแนวโน้มการเติบโตเพิ่มขึ้นทุกปี สวนทางกับธุรกิจอื่นที่อยู่ในภาวะไม่คงที่ แต่ ธีรดา อำพันวงษ์ กรรมการผู้จัดการ และประธานเจ้าหน้าที่บริการ บริษัท โอ ซี ซี จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ภาวะเศรษฐกิจไทยที่ผันผวนส่งผลกระทบกำลังซื้อที่ลดลงอย่างเห็นได้ชัด อีกทั้งการมีแบรนด์ใหม่ๆ เข้ามาทั้งรายเล็กและรายใหญ่ ก็ส่งผลเช่นกัน
โอ ซี ซี เองก็ต้องปรับตัวเยอะมา โดยเฉพาะการลงในเทคโนโลยีเพื่อนำ Big Data มาใช้งาน แต่การจะใช้จริงๆ ก็ถือเป็นความท้าทายอยู่เหมือนกัน
โดยนอกเหนือจากสินค้าหลักอย่าง คัฟเวอร์มาร์ค (Covermark) และ Shiseido Professional ตัวโอ ซี ซี เองได้ปรับตัวเข้าหาคนรุ่นใหม่โดยเปิดธุรกิจการให้บริการตัดแต่งทรงผมภายใต้แบรนด์ Easy Cut เน้นความสะดวกรวดเร็ว โดยตั้งอยู่ในบริการในย่านรถไฟใต้ดิน ห้างสรรพสินค้า และศูนย์การค้าทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด
แม่ทัพใหญ่โอ ซี ซี ตั้งความหวังถึงขนาดให้ Easy Cut ติด 1 ใน 10 ร้านที่วัยรุ่นต้องไปตัดผม ขณะเดียวกันได้มองหาลู่ทางของธุรกิจใหม่ๆ โดยมองจากทิศทางตลาดเป็นหลัก ซึ่งวันดีคืนดีอาจจะไปเข้าร่วมกับสตาร์อัพที่ไม่ได้อยู่ในธุรกิจเครื่องสำอางและแฟชั่นก็ได้
รายได้และกำไร บริษัท โอ ซี ซี จำกัด (มหาชน)
- ปี 2015 รายได้ 1,455.45 ล้านบาท กำไร 82.88 ล้านบาท
- ปี 2016 รายได้ 1,417.50 ล้านบาท กำไร 70.79 ล้านบาท
- ปี 2017 รายได้ 1,404.71 ล้านบาท กำไร 63.25 ล้านบาท
- ปี 2018 รายได้ 1,470.89 ล้านบาท กำไร 169.09 ล้านบาท
เอส แอนด์ เจ กระจายความเสี่ยงด้วยการออก “เครื่องสำอางฮาลาลและวีแกน”
“บริษัท เอส แอนด์ เจ อินเตอร์เนชั่นแนล เอนเตอร์ไพรส์ จำกัด (มหาชน)” เป็นอีกหนึ่งธุรกิจของเครือสหพัฒน์ ที่อยู่ในกลุ่มเครื่องสำอาง แต่บริษัทนี้จะทำหน้าที่รับจ้างผลิตเครื่องสำอางเป็นหลัก
ครอบคลุมตั้งแต่ขั้นตอนการวิจัยและพัฒนา ซึ่งมีนักวิจัยกว่า 200 คน การออกแบบผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์ การผลิตสินค้าด้วยเครื่องจักร ตลอดจนออกแบบแนวคิดทางธุรกิจ พร้อมทั้งกลยุทธ์ทางการตลาดให้กับลูกค้าทั้งในและต่างประเทศ
ธีรศักดิ์ วิกิตเศรษฐ์ กรรมการผู้จัดการ ความท้าทายของเอส แอนด์ เจ ในตอนนี้คือภาวะตลาดโลกที่ไม่แน่นอน เพราะลูกค้าส่วนหนึ่งอยู่ต่างประเทศ เพื่อรับมือทีมจึงต้องหาลูกค้าใหม่ๆ โดยมุ่งไปที่กลุ่มยุโรปมากขึ้น
ส่วนทีมเองก็ต้องทีทักษะใหม่ๆ โดยเฉพาะความรู้เรื่องด้านดิจิทัล ด้านโรงงานเตรียมนำหุ่นยนต์มาลดต้นทุน รวมไปถึงระบบเชื่อมโยงข้อมูล เพื่อให้แม่นยำและทันตลอดเวลา
ขณะเดียวกันก็เตรียมออกสินค้าใหม่ๆ โดยเน้นสกินแคร์ ที่เป็นเครื่องสำอางแบบฮาลาลและวีแกน ซึ่งนี่เป็นถึงในวิธีกระจายความเสี่ยง.