“ธนูลักษณ์” หนึ่งในบริษัทเครือสหพัฒน์ ผู้ผลิต “เสื้อผ้า–เครื่องหนัง” แบรนด์ดัง เช่น ARROW, ELLE, ERA-WON ปรับโครงสร้างธุรกิจและผู้ถือหุ้นขนานใหญ่ไปเมื่อปี 2565 แตกไลน์สู่วงการ “การเงิน–อสังหาฯ” เพื่อช่วยเร่งผลกำไร พร้อมต้อนรับ “BTS” เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ คาดการณ์ปี 2566 รายได้พุ่ง 20-30% โดยไตรมาส 1 เห็นอัตรากำไรที่ดีขึ้น 3 เท่า
บมจ.ธนูลักษณ์ (TNL) เป็นหนึ่งในบริษัทเก่าแก่ของเครือสหพัฒน์ ก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 2518 และเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เมื่อปี 2530 รายได้หลักของบริษัทมาจากการเป็นผู้ผลิตและจำหน่าย เสื้อผ้า สิ่งทอ เครื่องหนัง แยกเป็นกลุ่มแบรนด์ที่บริษัทได้รับลิขสิทธิ์การผลิตจำหน่าย เช่น ARROW, ELLE, DAKS, Guy Laroche และกลุ่มแบรนด์ที่เป็นเครื่องหมายการค้าของบริษัทเอง เช่น ERA-WON เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม เครื่องยนต์ตัวเดียวในการโล้คลื่นลมเศรษฐกิจยุคนี้อาจไม่เพียงพอ ทำให้เมื่อปี 2565 ธนูลักษณ์มีการเปลี่ยนแปลงภายในครั้งใหญ่ ทั้งการปรับโครงสร้างองค์กร/ผู้ถือหุ้น และปรับโครงสร้างธุรกิจ มีการแตกไลน์ไปสู่ธุรกิจใหม่ๆ
“สุธิดา จงเจนกิจ” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ. ธนูลักษณ์ (TNL) ขึ้นเวทีภายในงาน “นักวิเคราะห์ นักลงทุนพบกลุ่มสหพัฒน์” สรุปการดำเนินงานในปี 2565 ของธนูลักษณ์ทั้งสองส่วน และผลสำเร็จที่เริ่มจะมองเห็นได้ในไตรมาส 1/2566
ในส่วนการปรับโครงสร้างองค์กรนั้นเริ่มตั้งแต่ช่วงเดือนตุลาคมปีก่อน ธนูลักษณ์มีการขายหุ้นเพิ่มทุนซึ่งเปิดให้ บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ BTS เข้ามาเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ในบริษัท ปัจจุบันผู้ถือหุ้นใหญ่ในธนูลักษณ์จึงเป็น บมจ.สหพัฒนาอินเตอร์โฮลดิ้ง หรือ SPI ถือหุ้น 42% และ BTS ถือหุ้น 42%
ส่วนการปรับโครงสร้างธุรกิจของธนูลักษณ์ คือการเพิ่มเครื่องยนต์ใหม่ 3 ธุรกิจในกลุ่มการเงินและอสังหาริมทรัพย์ ได้แก่
- ธุรกิจสินเชื่อที่มีหลักประกัน – บริษัท ออกซิเจน แอสเซ็ท จำกัด (Oxygen) มุ่งเน้นการให้สินเชื่อกลุ่มลูกค้าบุคคลและองค์กรรายใหญ่
- ธุรกิจบริหารจัดการสินทรัพย์ด้อยคุณภาพและทรัพย์สินรอการขาย – บริษัท บริหารสินทรัพย์ ออกซิเจน จำกัด (OAM) ซื้อพอร์ตสินทรัพย์ด้อยคุณภาพมาเจรจาปรับโครงสร้างหนี้
- ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เพื่อขาย – บริษัท ทีเอ็นแอล อัลไลแอนซ์ จำกัด (TNLA) ซึ่งจะอาศัยความเชี่ยวชาญของ BTS ผู้ถือหุ้นใหญ่รายใหม่ช่วยในการลงทุน
“ธนูลักษณ์” ตั้งเป้ารายได้ปี’66 เติบโต 20-30%
ย้อนไปช่วงปี 2562 ธนูลักษณ์ทำรายได้รวม 1,779 ล้านบาท และกำไรสุทธิ 89 ล้านบาท กระทั่งในช่วงวิกฤตโควิด-19 ทั้งรายได้และกำไรต่างลดต่ำลง ขณะที่ปี 2565 บริษัทกลับมาฟื้นตัวทำรายได้รวม 1,960 ล้านบาท กำไรสุทธิ 111 ล้านบาท
สุธิดากล่าวว่า ปี 2566 ซึ่งเป็นปีที่บริษัทปรับโครงสร้างองค์กรและธุรกิจแล้วเต็มปี คาดว่าจะทำรายได้เพิ่มขึ้น 20-30%
โดยการดำเนินงานของเครื่องยนต์ใหม่ทั้ง 3 บริษัทมีความคืบหน้า ดังนี้
- “Oxygen” ณ ไตรมาส 1/2566 มีพอร์ตสินเชื่อขึ้นไปแตะ 4,200 ล้านบาท และตั้งเป้าจะเพิ่มขนาดพอร์ตอีก 20% ภายในสิ้นปีนี้
- “OAM” ตั้งเป้าการประมูลซื้อสินทรัพย์ด้อยคุณภาพจากสถาบันการเงินไว้ที่ 1,500-2,000 ล้านบาท ภายในสิ้นปีนี้
- “TNLA” เข้าร่วมลงทุนกับ บมจ.โนเบิล ดีเวลลอปเมนท์ ทั้งหมด 7 โครงการ ได้แก่ นิว โนเบิล รัชดา-ลาดพร้าว, โนเบิล เคิร์ฟ, โนเบิล คิวเรท, โนเบิล ครีเอท, นิว คอร์ คูคต สเตชั่น, นิว ไฮป์ สุขสวัสดิ์ และนิว ริเวอร์เรสต์ ราษฎร์บูรณะ
จากผลการดำเนินงานไตรมาส 1/2566 ที่แจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์ฯ ปรากฏว่าธนูลักษณ์ทำรายได้รวม 622 ล้านบาท และทำกำไรสุทธิ 106 ล้านบาท คิดเป็นอัตรากำไรสุทธิ 17%
ที่ผ่านมาธนูลักษณ์มักจะมีอัตรากำไรสุทธิวิ่งอยู่ที่ 4-5% เสมอมา ผลการดำเนินงานในไตรมาสแรกจึงส่งสัญญาณว่าการปรับโครงสร้างธุรกิจได้ทำให้บริษัทมีอัตรากำไรที่สูงขึ้นไม่น้อยกว่า 3 เท่า
ทั้งนี้ รายได้ในไตรมาสแรกของปีนี้ยังไม่มีรายได้จาก OAM เข้ามา เพราะยังอยู่ในช่วงประมูลซื้อสินทรัพย์ จึงน่าสนใจว่าเมื่อเครื่องยนต์ธุรกิจเดินครบแล้วจะทำให้ “ธนูลักษณ์” เติบโตไปอย่างไร
—————
Tips: ทำไม “ธนูลักษณ์” จึงเลือกร่วมลงทุนกับ BTS? ข้อมูลประชาสัมพันธ์บนเว็บไซต์ BTS จากข่าวการร่วมลงทุนกับธนูลักษณ์ระบุว่า เครือสหพัฒน์กับ BTS นั้นมีความผูกพันกันยาวนาน 60 ปีตั้งแต่ ‘รุ่น 1’ ของธุรกิจ เพราะ “ดร.เทียม โชควัฒนา” และ “มงคล กาญจนพาสน์” ต่างก็เป็นชาวจีนโพ้นทะเลที่มาเปิดธุรกิจในย่านเก่าแก่แถบถนนเยาวราช ราชวงศ์ และทรงวาด โดยสมัยนั้น ดร.เทียมทำธุรกิจร้านค้าส่งสินค้าอุปโภคบริโภค ส่วนเถ้าแก่มงคลเป็นช่างซ่อมนาฬิกาและเอเย่นต์นำเข้านาฬิกาจากญี่ปุ่น
ความสัมพันธ์ที่ดีของทั้งสองถูกส่งต่อให้ ‘รุ่น 2’ คือ “บุณยสิทธิ์ โชควัฒนา” และ “คีรี กาญจนพาสน์” และยังสนิทชิดเชื้อกันจนถึงลูกๆ รุ่น 3 ของทั้งสองครอบครัวเช่นกัน