-
โอซีซี บริษัทในเครือ “สหพัฒน์” ประกาศรีเฟรชแบรนด์ในระดับองค์กรให้ทันสมัย และนำร่องพลิกโฉมแบรนด์เครื่องสำอาง “KMA” และชุดชั้นใน “Guy Laroche” ให้โดนใจวัยรุ่น
-
KMA มีการปรับโลโก้และแพ็กเกจจิ้งใหม่หมด และวางตำแหน่งทางการตลาดเป็นแบรนด์เครื่องสำอาง “Genderless” ดึงนักร้องสาว “โบกี้ไลอ้อน” เป็นพรีเซ็นเตอร์สินค้ากลุ่มรองพื้น
-
ด้านกลยุทธ์หลังเสียสิทธิจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์เส้นผมของ “Shiseido” ไปเมื่อปีก่อน โอซีซีได้คว้าสิทธิจัดจำหน่ายแบรนด์ทดแทนคือ “Wella” จากเยอรมนี และ “Demi” จากญี่ปุ่น
บริษัท โอซีซี จำกัด (มหาชน) หนึ่งในปีกสินค้าแฟชันของเครือ “สหพัฒน์” ที่ต้องผ่านมรสุมในช่วงโควิด-19 จนมีผลขาดทุนติดต่อกัน 2 ปี โดยปี 2564 ขาดทุน -1.97 ล้านบาท และปี 2565 ขาดทุน -22.82 ล้านบาท เฉพาะปีที่ผ่านมามีปัจจัยลบเพิ่มอีกหนึ่งอย่างคือการเสียสิทธิจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์เส้นผมของ Shiseido (ชิเซโด้) เพราะการเปลี่ยนแปลงในบริษัทแม่ที่ญี่ปุ่น
ในปี 2566 นี้บริษัทจึงต้อง “ปรับใหญ่” โดยแม่ทัพหญิง “ธีรดา อำพันวงษ์” กรรมการผู้จัดการและประธานเจ้าหน้าที่บริหารแห่งโอซีซี ประกาศการปรับโลโก้บริษัทให้ทันสมัย และปีนี้จะมีการนำร่องปรับแบรนด์ในเครือ 2 แบรนด์
KMA พลิกโฉมหมดจด “มินิมอล ทันสมัย และ Genderless”
เริ่มจากเครื่องสำอาง “KMA” เริ่มปรับลุคใหม่หมดตั้งแต่โลโก้จนถึงแพ็กเกจจิ้ง ทำให้ลุคแอนด์ฟีลของผลิตภัณฑ์ดูมินิมอล ทันสมัย ให้ภาพที่พรีเมียมขึ้น เข้ากับรสนิยมคนรุ่นใหม่ในยุคนี้ รวมถึงปรับจุดยืนของแบรนด์ให้เป็น “Genderless” เครื่องสำอางของคนทุกเพศ
ธีรดายังแย้มด้วยว่า ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคมนี้ บริษัทจะมีแคมเปญใหญ่ดึงตัว “โบกี้ไลอ้อน” นักร้องสาวชื่อดัง มาเป็นพรีเซ็นเตอร์ให้กับผลิตภัณฑ์รองพื้นของ KMA ช่วยกระตุ้นแบรนด์ให้เข้าไปอยู่ในใจผู้บริโภค
Guy Laroche ไม่ใช่ชุดชั้นในสูงวัยอีกต่อไป
ขณะที่อีกแบรนด์ในเครือที่เป็นผลิตภัณฑ์สำคัญอย่างชุดชั้นในและชุดว่ายน้ำ “Guy Laroche” (กีลาโรช) ธีรดากล่าวว่า บริษัททำการศึกษาตลาดพบว่า แบรนด์ยังถือเป็น Top of Mind ของผู้บริโภค หากคิดถึงชุดชั้นในลูกไม้ชั้นสูงจากฝรั่งเศส แต่โจทย์สำคัญของแบรนด์คือ ผู้บริโภคมองว่าเป็นชุดชั้นในที่ ‘สูงวัย’ ทำให้โอซีซีเริ่มปรับการสื่อสารแบรนด์ให้เชื่อมโยงกับวัยรุ่นมากขึ้น
จะเห็นได้ว่าแบรนด์เริ่มมีแคมเปญถ่ายแบบที่เปลี่ยนจากการใช้นางแบบลุคชาวต่างชาติ มาเป็นลุคคนไทยวัยรุ่น สวมใส่ชุดชั้นในในลักษณะที่เป็นแฟชันหนึ่งในชีวิตประจำวัน
คว้าแบรนด์ “Demi” ทดแทน “Shiseido”
ธีรดายังกล่าวถึงเหตุการณ์เมื่อปีก่อนที่บริษัท Henkel ในเยอรมนี เข้าซื้อกิจการกลุ่ม “Hair Professional” หรือกลุ่มดูแลเส้นผม เฉพาะในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกของแบรนด์ “Shiseido” ซึ่ง Henkel เลือกที่จะจัดสรรสิทธิจัดจำหน่ายในเขตเอเชียแปซิฟิกใหม่ทั้งหมด โอซีซีจึงเสียสิทธิในแบรนด์สำคัญไป
อย่างไรก็ตาม โอซีซีได้นำเข้าและได้สิทธิจัดจำหน่ายแบรนด์มาทดแทนตลาด ได้แก่ “Wella” แบรนด์ดูแลเส้นผมจากเยอรมนี และ “Demi” แบรนด์ดูแลเส้นผมจากญี่ปุ่น
โดยเฉพาะ Demi นี้ธีรดามองว่าจะเป็นผลิตภัณฑ์ทดแทนได้เป็นอย่างดี เพราะแบรนด์มีชื่อเสียงในด้านการทำสีผม และกลุ่มแชมพูระดับพรีเมียม ซึ่งเหมาะกับช่องทางจำหน่ายประเภทร้านทำผม/ซาลอนที่โอซีซีมีเครือข่ายอยู่มากกว่า 600 แห่ง
- เป็นพ่อค้าต้องปรับตัว! ‘เครือสหพัฒน์’ พร้อมตอบรับนโยบายใหม่รัฐ แย้มมีแผน “ลงทุนมากสุดเป็นประวัติการณ์”
- จับ 5 เทรนด์สำคัญวงการ “บิวตี้-เครื่องสำอาง” 2566 จากพลัง “ดาต้า” ของร้าน “วัตสัน”
ธีรดายังกล่าวปิดท้ายถึงการเพิ่มศักยภาพอีคอมเมิร์ซในปีนี้ บริษัทจะเร่งปั้นแบรนด์ในเครือผ่านการทำงานร่วมกับอินฟลูเอนเซอร์ ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มบิวตี้บล็อกเกอร์ ดารานักแสดง เซเลป นางงาม ช่างแต่งหน้า ฯลฯ
ทั้งนี้ แบรนด์ภายใต้โอซีซีนั้นมีมากกว่า 10 แบรนด์ ที่เป็นพอร์ตโฟลิโอสำคัญ เช่น กลุ่มเครื่องสำอาง Covermark, KMA กลุ่มผลิตภัณฑ์ดูแลเส้นผม Demi, Wella, BSC Hair Care และกลุ่มผลิตภัณฑ์เสื้อผ้า เช่น Guy Laroche สำหรับไตรมาส 1/2566 โอซีซีทำรายได้ 232 ล้านบาท และทำกำไร 0.31 ล้านบาท