‘มาม่า’ ร้องต้นทุนพุ่ง 150% ทำ ‘ขาดทุน’ แล้ว 2 เดือน ย้ำตรึงไม่ไหวยังไงก็ต้อง ‘ขึ้นราคา’

ปี 2022 ถือเป็นการครบรอบ 80 ปีของ เครือสหพัฒน์ ยักษ์ใหญ่สินค้าอุโภคบริโภคของเมืองไทยที่มี มาม่า แบรนด์พระเอกของเครือที่ครบรอบ 50 ปี ในปีนี้ อย่างไรก็ตาม ปีนี้อาจไม่ได้ใจดีกับเครือสหพัฒน์นัก เพราะด้วยสงครามรัสเซีย-ยูเครน ส่งผลให้ต้นทุนสินค้าต่าง ๆ พุ่งอย่างก้าวกระโดด และถือเป็นวิกฤตที่หนักสุดเท่าที่เคยเจอมาเลยทีเดียว

ต้นทุนพุ่งกว่า 150% ยังไงต้องขึ้นราคา

เวทิต โชควัฒนา กรรมการผู้อำนวยการ บริษัท สหพัฒนพิบูล จำกัด (มหาชน) ยอมรับว่า ราคาวัตถุดิบนั้นเริ่มปรับตัวขึ้นตั้งแต่ช่วงก่อนเกิดสงคราม แต่ลสงครามส่งผลให้ต้นทุนพุ่งอย่างก้าวกระโดด ซึ่งถือว่าเป็น วิกฤตหนักสุด และถือว่า ท้าทายที่สุด เท่าที่เคยเจอมา

โดย 2 วัตถุดิบหลักที่คิดเป็นครึ่งหนึ่งของต้นทุนการผลิตอย่าง น้ำมันปาล์ม ราคาขึ้น 110% ส่วน ข้าวสาลี ขึ้น 53% ขณะที่ น้ำมัน ก็ทำให้ต้นทุนโดยรวมขึ้นหมด โดยเฉพาะในการผลิต แพ็กเกจจิ้ง และ การขนส่ง

“ตอนนี้ต้นทุนของเรามันทะลุเพดานไปนานแล้ว แต่ที่ผ่านมาเรายังตรึงราคาได้เพราะยังมีสต็อกวัตถุดิบ แต่ตอนนี้ไม่ไหวแล้ว เราขาดทุนมาแล้ว 2 เดือน ทำให้ต้องยื่นเรื่องขอขึ้นราคา 1 บาทกับกระทรวงพาณิชย์ ซึ่งเราเชื่อว่ากระทรวงพาณิชย์เข้าใจ แต่อาจต้องใช้เวลาพิจารณาเพราะเป็นเรื่องเกี่ยวกับปากท้องประชาชน”

ขึ้นราคากำไรก็ยังไม่เท่าเดิม

เวทิต กล่าวต่อว่า แม้ว่ามาม่าขึ้นราคาจาก 6 เป็น 8 บาท แต่ กำไรก็ยังไม่เท่ากับก่อนหน้า และมองว่าหากมาม่าขึ้นราคาก็ยังถูกกว่าสินค้าอื่น ๆ ที่ปรับขึ้น ดังนั้น เชื่อว่าจะ ไม่ส่งผลกระทบกับผู้บริโภค แต่ในระยะแรกอาจจะมีช็อกบ้าง เนื่องจากต้องยอมรับว่ากำลังซื้อของผู้บริโภคปีนี้แย่หนักกว่าช่วงโควิด

ทั้งนี้ ภาพรวมตลาดบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปมีมูลค่า 20,000 ล้านบาท ในครึ่งปีแรกเติบโต 7% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันกับปีที่ผ่านมา ส่วนทั้งปีคาดว่าจะเติบโตได้ 3-5% โดยมาม่ายังครองส่วนแบ่งตลาดอันดับ 1 โดยช่วงครึ่งปีแรกมีอัตราการเติบโตกว่า 7%

“ต้องยอมรับก่อนว่า มาม่าถือเป็นของที่ถูกที่สุดที่คนจะหาได้ ดังนั้น แม้ครึ่งปีหลังตลาดจะปรับราคาสินค้าก็ยังขายได้ แต่ที่ประเมินว่าตลาดจะเติบโตน้อยเป็นเพราะปีที่ผ่านมาตลาดโตเยอะ โดยเฉพาะช่วงครึ่งปีหลังที่เริ่มเดินทางได้”

ไปสู่ความพรีเมียมและส่งออกมากขึ้น

สำหรับแผนช่วงครึ่งปีหลังนี้ สินค้าส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่ม พรีเมียม โดยที่ออกมาแล้ว อาทิ ชุดครบรอบ 50 ปี ราคาซองละ 10 บาท และ ชุดลดโซเดียม ราคา 8 บาท โดยที่ผ่านมา ตลาดพรีเมียม (ราคา 10 บาทขึ้นไป) เป็นกลุ่มที่เติบโตอย่างมาก โดยมาม่าเองเติบโตได้ถึง 28% ขณะที่ภาพรวมตลาดเติบโต 15% ปัจจุบัน สินค้ากลุ่มพรีเมียมของมาม่าคิดเป็น 20% ของพอร์ต

นอกจากนี้ มาม่าจะเพิ่มการส่งออกมากขึ้น เนื่องจากเห็นความต้องการที่เติบโต โดยปัจจุบันสินค้าส่งออกคิดเป็นสัดส่วน 30% และสินค้าใหม่ที่ออกในช่วงครึ่งปีหลังจะเป็นการผลิตโดยคำนวณบนฐานต้นทุนใหม่ทั้งหมด

“เราไม่ได้ตั้งเป้าว่าพอร์ตสินค้าพรีเมียมจะต้องโตเป็นเท่าไหร่ เราไม่ได้จะเน้นเฉพาะตลาดพรีเมียม เมื่อมีความต้องการที่ไหนเราผลิต เมื่อมีการแข่งขันเราก็ปรับตัว ดังนั้น สัดส่วนสินค้าไม่ใช่ประเด็น เพราะมาม่าเป็นแบรนด์ของทุกคน”

มาม่าไม่ใช่ตัวชี้วัดเศรษฐกิจ

สุดท้าย เวทิต ย้ำว่า ต้นทุนจะยังสูงขึ้นต่อเนื่องและอาจลากยาวกว่าที่คิด อย่างไรก็ตาม บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปไม่เคยเป็นตัวชี้วัดเศรษฐกิจแบบผกผัน แต่เป็นตัวชี้วัดเศรษฐกิจในทางตามกัน หากเศรษฐกิจดีบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปขายดีมาก เศรษฐกิจไม่ดีบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปก็ยังขายได้

“ผู้บริโภคช็อกไปแล้ว แต่ต้องยอมรับความจริงว่าของแพงขึ้นทั้งโลก หลายคนชอบถามว่า ขึ้นราคาแล้วก็ไม่ลงแล้วสิ นั่นไม่จริง เพราะเราไม่ใช่แบรนด์เดียวในตลาด ใคร ๆ ก็อยากได้มาร์เก็ตแชร์ มันจะต้องต่อสู้กันอยู่แล้ว เพราะตลาดเสรีไม่ใช่ตลาดผูกขาด อย่าไปคุมมันมากเดี๋ยวมันจะหาทางไปเอง”