-
อัปเดตแผน “มาม่า” วางเป้าเพิ่มสัดส่วนรายได้ต่างประเทศเป็น 50% โดยจะเริ่มบุกหนักในตลาด “จีน” หลังสินค้าไทยเป็นที่นิยม และหวนคืนสังเวียนในตลาด “เวียดนาม” ที่เคยต้องถอยกลับเมื่อปี 2542
-
ด้านการผลิตปีนี้มีการย้ายฐานผลิตในเมียนมาจากย่างกุ้งสู่มัณฑะเลย์ พร้อมเพิ่มไลน์ผลิตหลังดีมานด์ในเมียนมาเติบโต อนาคตวางแผนเพิ่ม “โรงงาน” แห่งใหม่ในไทย 1 แห่ง 8 ไลน์การผลิต งบลงทุนกว่า 2,000 ล้านบาท รองรับดีมานด์ได้ 10 ปี
เมื่อปี 2565 “มาม่า” ประกาศแผนเพิ่มรายได้จากต่างประเทศเป็น 50% ของรายได้รวม จากปัจจุบันมีรายได้จากต่างประเทศ 30% จากการส่งจำหน่ายไป 68 ประเทศ
มาถึงโค้งท้ายปลายปี 2566 “พันธ์ พะเนียงเวทย์” ผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไทยเพรซิเดนท์ฟูดส์ จำกัด (มหาชน) อัปเดตความคืบหน้าในแต่ละตลาด ไฮไลต์สำคัญคือ “จีน” และ “เวียดนาม” ที่กำลังเป็นเป้าหมายหลัก
พันธ์อธิบายว่า มาม่าเคยลงทุนหนักใน “จีน” ช่วงปี 2541-42 ก่อนจะผ่อนคันเร่งเพราะไม่ได้รับผลตอบรับที่ดีนัก หลังจากนั้นมาม่ายังส่งขายในตลาดจีนแต่ไม่ได้ทำการตลาดมากนัก
อย่างไรก็ตาม ในระยะอันใกล้มาม่าจะกลับไป ‘บุกหนัก’ ในจีนอีกครั้ง
“เมื่อก่อนสินค้าไทยไม่เป็นที่นิยม แต่ตอนนี้คนจีนกลับมานิยมสินค้าไทย และมองว่าสินค้าไทยเป็นของพรีเมียม ทำให้เราต้องกลับไปเจาะตลาดให้ได้ โดยจะเน้นทำการตลาดแบบไวรัลบน Douyin (*ชื่อแพลตฟอร์ม TikTok ในจีน) และใช้ KOL เป็นหลัก จีนมีประชากรถึง 1 พันล้านคน ขอเพียงเราเจาะได้ 1% ก็ถือว่าเป็นตลาดใหญ่แล้ว” พันธ์กล่าว
ส่วนอีกตลาดที่น่าสนใจคือ “เวียดนาม” ซึ่งก็เคยถอยออกมาในช่วงปี 2542 เช่นกัน เพราะคู่แข่งแบรนด์ท้องถิ่น 3-4 แบรนด์แข็งแรงมาก และเวียดนามเป็นตลาดที่ต้องทำสงครามราคา แต่ด้วยจำนวนประชากร 100 ล้านคนจึงเป็นอีกตลาดที่น่าสนใจ อีกทั้งห้างสรรพสินค้าสัญชาติไทยยังเข้าไปเปิดในเวียดนามจำนวนมาก
พันธ์กล่าวว่า ปี 2567 น่าจะได้เห็นแผนที่ชัดเจน โดยขณะนี้กำลังเจรจาพาร์ทเนอร์เพื่อพา “มาม่า” เข้าสู่ตลาดเวียดนามอีกครั้ง
อีกตลาดที่มาม่ากำลังดูศักยภาพ คือ “ทวีปแอฟริกา” ปัจจุบันไทยเพรซิเดนท์ฟูดส์เข้าไปถือหุ้นในโรงงานผลิตบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปยี่ห้อหนึ่งในประเทศเคนยา และมีการถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านการผลิตให้กับพาร์ทเนอร์ร่วมทุน
ขณะนี้ในตลาดเคนยาใช้แบรนด์บะหมี่กึ่งฯ ของพาร์ทเนอร์ในการจำหน่าย ยังอยู่ระหว่างดูผลตอบรับในตลาดแอฟริกา เพราะถือเป็นตลาดที่ยังต้องประชาสัมพันธ์การรับประทานบะหมี่กึ่งฯ ถ้าหากตลาดน่าสนใจมากขึ้น อาจจะมีการนำแบรนด์มาม่าเข้าไปจำหน่าย
ส่วนตลาดในกลุ่มชาวตะวันตก เช่น สหรัฐฯ ยุโรป ออสเตรเลีย เป็นกลุ่มที่บริษัทกำลังเปลี่ยนแปลงทางการตลาด จากเดิมเน้นลงขายในร้านค้าเอเชีย (Asian Store) เพื่อเจาะกลุ่มผู้อพยพชาวเอเชีย ขณะนี้ต้องเปลี่ยนมาลงขายในห้างสรรพสินค้าทั่วไปให้ได้ เพราะกลุ่มคนเอเชียรุ่น 2-3 มีวิถีชีวิตที่เหมือนกับคนท้องถิ่นมากขึ้น ซื้อสินค้าตามห้างฯ ปกติมากกว่าร้านค้าเอเชีย
ลงทุนโรงงาน “มาม่า” แห่งใหม่ 2 พันล้าน
ด้านกำลังการผลิต พันธ์กล่าวว่าปัจจุบันโรงงานของไทยเพรซิเดนท์ฟูดส์ทั้งหมด เฉพาะกลุ่มบะหมี่เหลือง สามารถผลิตแบบซองได้ 180 ล้านซองต่อเดือน และแบบถ้วย 36 ล้านถ้วยต่อเดือน
โรงงานผลิตของบริษัท ในไทยมีทั้งหมด 5 แห่ง และต่างประเทศ 4 แห่ง ได้แก่
- จ.ชลบุรี 1 แห่ง ผลิตบะหมี่เหลือง 16 ไลน์การผลิต
- จ.ลำพูน 1 แห่ง ผลิตบะหมี่เหลือง 10 ไลน์การผลิต
- จ.ระยอง 1 แห่ง ผลิตบะหมี่เหลือง 7 ไลน์การผลิต
- จ.ราชบุรี 2 แห่ง ผลิตเส้นหมี่ขาว เส้นก๋วยเตี๋ยว โจ๊ก ข้าวต้ม
- ประเทศฮังการี 1 แห่ง ผลิตบะหมี่เหลือง 2 ไลน์การผลิต
- ประเทศบังคลาเทศ 1 แห่ง ผลิตบะหมี่เหลือง 1 ไลน์การผลิต
- ประเทศกัมพูชา 1 แห่ง ผลิตบะหมี่เหลือง 2 ไลน์การผลิต
- ประเทศเมียนมา 1 แห่ง ผลิตบะหมี่เหลือง 3 ไลน์การผลิต
พันธ์กล่าวว่า ปี 2566 นี้บริษัทมีการเพิ่มกำลังผลิตแล้วในเมียนมา โดยย้ายฐานผลิตจากเมืองย่างกุ้งไปยังเมืองมัณฑะเลย์ เพื่อขยายโรงงานให้ใหญ่ขึ้น เพิ่มไลน์ผลิตจากเดิม 2 เป็น 3 ไลน์การผลิต ตอบรับดีมานด์ในเมียนมาที่เติบโต
ส่วนการผลิตในไทย คาดว่าจะเพิ่มเครื่องจักรอีก 1 ไลน์การผลิตที่โรงงาน จ.ระยอง ภายใน 2 ปีนี้ ซึ่งจะทำให้โรงงานทุกแห่งที่บริษัทมีในไทยพื้นที่เต็ม ไม่สามารถขยายกำลังผลิตเพิ่มได้อีก
ดังนั้น ไทยเพรซิเดนท์ฟูดส์จึงมีแผนเปิดโรงงานผลิตแห่งใหม่เพิ่มอีก 1 แห่ง ใช้พื้นที่ราว 50-60 ไร่ เพื่อลงเครื่องจักรได้ 8 ไลน์การผลิต เพียงพอสำหรับรองรับดีมานด์ตลาดได้อีก 10 ปี คาดว่าจะใช้งบลงทุนประมาณ 2,000 ล้านบาท โดยเป็นการทยอยลงทุนในช่วง 10 ปีข้างหน้า
ขณะนี้ยังไม่แน่ชัดว่าจะเปิดโรงงานใหม่ในพื้นที่ใด แต่กำลังคัดเลือกหาที่ดินระหว่างพื้นที่อีอีซีซึ่งบริษัทมีโรงงานเดิมอยู่แล้ว หรือเลือกพื้นที่อื่นๆ ที่รัฐบาลจะส่งเสริมการลงทุน เช่น ริมแม่น้ำโขง
สำหรับการเติบโตช่วงปี 2566-67 พันธ์กล่าวว่า ยอดขายมาม่าปีนี้น่าจะเติบโตประมาณ 4% ปิดยอดขายราว 15,000 ล้านบาท (แบ่งเป็นยอดขายในประเทศ 11,000 ล้านบาท กับต่างประเทศ 4,000 ล้านบาท) ขณะที่ปีหน้าน่าจะเติบโตได้ 5-7%
ปี 2566 นี้ถือว่าการเติบโตของ “มาม่า” ไม่สูง เพราะช่วงปี 2564-65 มาม่าเติบโตสูงไปแล้วจากพฤติกรรมกักตุนสินค้าอาหารช่วงโควิด-19 ของผู้บริโภค ทำให้ฐานรายได้เดิมค่อนข้างสูง ส่วนปี 2567 พันธ์หวังว่ามาตรการเงินอัดฉีดจากรัฐบาลและการกระตุ้นเศรษฐกิจ เพิ่มรายได้ให้ประชาชน น่าจะทำให้มาม่าได้อานิสงส์เพราะถือเป็นสินค้ากลุ่มอาหารที่เป็นปัจจัยสี่ของผู้บริโภค