ทรีนีตี้ ชี้ 7 ประเด็นส่งผลต่อสภาพคล่องของตลาดหุ้นหายไป ชี้น่าสะสมหุ้นไทย ยังมีมูลค่าถูก

ภาพจาก Shutterstock

บริษัทหลักทรัพย์ ทรีนีตี้ จำกัด มอง 7 ความเสี่ยงเรื่องสภาพคล่องที่อาจกระทบต่อตลาดหุ้นทั่วโลก รวมถึงตลาดหุ้นไทย อย่างไรก็ดีดัชนีหุ้นไทยยังถือว่าเป็นจุดต่ำสุดที่น่าสนใจลงทุน และมองว่าควรลงทุนในหุ้นตาม Mega Trend ของโลก

วิศิษฐ์ องค์พิพัฒนกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์ ทรีนีตี้ จำกัด ได้กล่าวถึงนับตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา มีหลายสินทรัพย์ที่สร้างผลตอบแทนได้ดี ไม่ว่าจะเป็นหุ้นในตลาดหุ้นญี่ปุ่นที่ให้ผลตอบแทนดี หุ้นกลุ่มเทคโนโลยีในตลาดสหรัฐอเมริกา หรือแม้แต่สินทรัพย์อย่าง Bitcoin ก็ให้ผลดีเช่นกัน

ทิศทางการลงทุนในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ว่า มีปัจจัยหลายเรื่องที่จะต้องจับตามองในช่วงไตรมาส 3-4 ของปีนี้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) หรือแม้แต่ธนาคารแห่งประเทศไทย โดยทางทรีนีตี้มองว่าทั้ง 2 ธนาคารกลางนี้จะขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก 1 ครั้งเท่านั้น

แต่ในทางกลับกันเขายังชี้ว่าถ้า Fed ตัดสินใจลดดอกเบี้ยทันทีตลาดหุ้นมักให้ผลตอบแทนเป็นลบเพราะเป็นการตอกย้ำว่าเศรษฐกิจจะไม่ดี

ขณะที่ตลาดหุ้นไทย เขาได้กล่าวถึงในช่วงที่ผ่านมาตลาดหุ้นไทยปรับตัวลดลงกำลังสะท้อนความไม่แน่นอนของการจัดตั้งรัฐบาล และนโยบายที่มีผลต่อตลาดทุน โดยนักลงทุนขายสุทธิกว่า 100,000 ล้านบาทนับตั้งแต่ต้นปี โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเดือนพฤษภาคมที่ขายกว่า 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐหรือคิดเป็นเงินไทยมากถึง 33,000 ล้านบาท

ดร.วิศิษฐ์ องค์พิพัฒนกุล – กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์ ทรีนีตี้ จำกัด (ภาพจากทาง Trinity)

ปัจจัยสำคัญที่เกี่ยวกับสภาพคล่อง ซึ่งส่งผลต่อทั้งหุ้นไทยและหุ้นโลก

กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์ ทรีนีตี้ ได้กล่าวถึงปัจจัยสำคัญ 7 ข้อที่นักลงทุนจะต้องติดตามในช่วงครึ่งปีหลัง ซึ่งเกี่ยวกับเรื่องของสภาพคล่องของตลาดการเงินหลังจากนี้ เช่น

  1. Fed อาจจะต้องออกพันธบัตรเพื่อดูดซับเม็ดเงินกว่า 650,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ภายในครึ่งปีหลังของปีนี้ผ่าน Treasury General Account ซึ่งเป็นผลจากมาตรการแก้ไขปัญหาเพดานหนี้สาธารณะของสหรัฐอเมริกา
  2. ธนาคารกลางยุโรปจะต้องคืนเงิน LTRO กว่า 480,000 ล้านยูโร ตั้งแต่เดือนมิถุนายนถึงกรกฎาคม
  3. Dot Plot ของ Fed มีโอกาสปรับเพิ่มขึ้นอีก 0.25% ถึง 0.50% ในไตรมาส 3 หลังจากที่เฟดได้หยุดการขึ้นดอกเบี้ยในเดือนมิถุนายน
  4. Fed อาจกลับมาดูดสภาพคล่องออกอีกครั้ง โดยคาดว่าดูดสภาพคล่องถึงเดือนละ 95,000 ล้านเหรียญสหรัฐ จากปัจจุบันที่ 78,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ปัจจัยเหล่านี้จะนำไปสู่การแข็งค่าของเงินดอลลาร์ ซึ่งคาดว่าจะแข็งค่าขึ้นมากกว่า 2-3% แต่วิศิษฐ์ให้มุมมองว่าการแข็งค่าของดอลลาร์สหรัฐนั้นจะเป็นรอบท้ายๆ แล้ว
  5. สัญญาณทางตัวเลขเศรษฐกิจทื่สำคัญ ทั้งตลาดการเงิน และเศรษฐกิจทั่วโลก กำลังบ่งบอกเศรษฐกิจกำลังถดถอยอย่างมีนัยสำคัญ เช่น อัตราผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ที่อายุสั้นนั้นมีผลตอบแทนสูงกว่าอัตราผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐที่มีระยะยาวกว่า โดยผลตอบแทนถือว่าต่ำสุดนับตั้งแต่ปี 1982 ซึ่งเป็นข้อบ่งชี้ว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ กำลังเข้าสู่การถดถอยในไตรมาส 4 ปีนี้หรือปีหน้าและตัวเลข PMI ที่ตกต่ำลง
  6. ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคการเกษตรของสหรัฐฯ อาจจะลดลงจากปัจจุบัน 200,000 ถึง 300,000 ตำแหน่งต่อเดือน มาสู่ระดับต่ำกว่า 100,000 ตำแหน่งต่อเดือนในไตรมาส 4 ของปีนี้
  7. ปริมาณเงินในระบบของไทย (M2 Growth) เติบโตต่ำสุดในรอบ 15 ปี ซึ่งตัวเลขดังกล่าวนี้เป็นตัวชี้นำของ SET Index ล่วงหน้า ส่งผลทำให้การมีส่วนร่วมของนักลงทุนรายบุคคลในตลาดหุ้นไทยลดลง
ข้อมูลจาก Trinity

สำหรับปัจจัยบวกที่จะหนุนเศรษฐกิจไทยคือ การท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวกลับมาและมีสัดส่วนมากกว่า 10% ของ GDP รวมถึงการส่งออกไทยฟื้นตัวไตรมาส 4 โดยปกติการส่งออกของไทยจะอยู่ในช่วงเฉลี่ยเดือนละ 21,000-23,000 ล้านดอลลาร์ โดยที่ฐานต่ำในไตรมาส 4 ปีที่แล้วที่ระดับ 21,933 อาจทำให้เราเห็นการเติบโตของ Export ในไตรมาส 4 ปีนี้

ด้านกลยุทธ์ในการลงทุนนั้น เขามองว่าต้องลงทุนในหุ้นกลุ่ม Mega Trend เช่น หุ้นที่ได้ประโยชน์จากเอลนีโญ ซึ่งจะทวีความรุนแรงขึ้นในครึ่งแรกของปี 2567 หุ้นที่ได้ประโยชน์จาก AI Growth ทั่วโลก เป็นต้น นอกจากนี้ยังมองกลุ่มพลังงานและกลุ่มธนาคารเป็นกลุ่มที่ได้ประโยชน์จากเงินปันผลซึ่งมากกว่าผลตอบแทนของพันธบัตรระยะยาว

เขายังมองว่าเป้าของดัชนี SET Index ของไทยในกรณีดีสุดจะอยู่ที่ 1,490 จุด และกรณีที่ดีสุดหุ้นไทยอาจวิ่งไปได้ถึง 1,600 จุด

กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์ ทรีนีตี้ จำกัด ยังได้กล่าวเสริมว่า “ดัชนีหุ้นไทยที่ระดับ 1450 จุด ถูกเป็นอันดับที่ 5 ในรอบ 16 ปี ซึ่งใกล้เคียงกับการเกิด Covid รอบ 2 ในกลางปี 2021 ซึ่งถือเป็นจุดที่น่าลงทุนในระยะกลาง”