“บาหลี” กลายเป็นเกาะแรก และจังหวัดแรกของประเทศอินโดนีเซียที่ห้ามใช้ถุงพลาสติก หลอด และโพลีสไตรีน (Polystyrene) แบบใช้ครั้งเดียว เมื่อประกาศเป็นกฎหมายบังคับใช้อย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 23 มิถุนายนที่ผ่านมา
ซึ่งในช่วงเวลานั้น ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมสุดยอดอาเซียน (ASEAN Summit) ครั้งที่ 34 (22-23 มิ.ย.) ร่วมกับผู้นำอาเซียนอีก 9 ประเทศ โดยหัวข้อ “ขยะทะเล” เป็นหนึ่งประเด็นสำคัญที่นำมาถกร่วมเพื่อหาทางลดขยะทะเล
แนวทางสู่การบังคับของทางการบาหลี ได้เตรียมการล่วงหน้าแล้วราว 6 เดือน โดยทาง Wayan Koster ผู้ว่าราชการจังหวัดบาหลี ประกาศดำเนินการตามกฎหมายเมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2561 ให้เจ้าของธุรกิจทุกคนมีระยะเวลาผ่อนผัน 6 เดือน เพื่อหาทางเลือกใหม่ สำหรับถุงพลาสติก และโพลีสไตรีน (โฟม) พร้อมเตือนทุกภาคส่วนให้พร้อมรับสถานการณ์งดใช้พลาสติกที่ใช้แล้วทิ้ง
“นี่คือชัยชนะครั้งยิ่งใหญ่สำหรับสภาพแวดล้อมของบาหลี และอนาคตของเกาะแห่งเทพเจ้าที่รัฐบาลอินโดนีเซียประกาศไว้เมื่อเดือนธันวาคม 2560 ชาวบาหลีพร้อมใจกันแก้วิกฤตมลพิษพลาสติก เพราะพวกเราต้องการให้ทุกคนได้เป็นส่วนหนึ่งของการเคลื่อนไหวครั้งใหญ่ การบังคับใช้จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลง ผู้ค้าปลีกสมัยใหม่ไปจนถึงตลาดดั้งเดิมทั้งในเมือง หมู่บ้านชุมชนก็จะไม่ใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวอีกต่อไป”
ในจดหมายข่าวล่าสุด Bye Bye Plastic Bag อธิบายกระบวนการดำเนินการ “23 มิถุนายน 2562 เป็นวันที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์สำหรับพวกเราทุกคน นักเคลื่อนไหว นักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม และผู้สนับสนุนการเคลื่อนไหวหยุดการใช้พลาสติกฟรีมายาวนาน“
ผู้ว่าราชการจังหวัดบาหลี คาดหวังว่า “การห้ามจะช่วยรักษาความสามัคคีและคืนความสมดุลให้กับระบบนิเวศของบาหลี” ซึ่งสอดคล้องกับแนวทางเรียกร้ององค์การสหประชาชาติ ที่ให้ประเทศต่างๆ ลดการสร้างขยะพลาสติก ลดขยะทะเลที่ลงไปทำร้ายสัตว์ทะเล และระบบนิเวศ รวมถึงเป็นสาเหตุสำคัญของกิจกรรมมนุษย์ที่ทำให้เกิดภาวะโลกร้อน
อีกทั้งอินโดนีเซีย ตกอยู่ในฐานะประเทศผู้สร้างขยะทะเลมากเป็นอันดับที่ 2 ของโลก ด้วยปริมาณขยะทะเล 3.22 ล้านตัน/ปี และยังเป็นประเทศที่มีชายฝั่งยาวไกลมากที่สุดในอาเซียน 55,000 กิโลเมตร ซึ่งสุ่มเสี่ยงต่อการทำให้ขยะบกตกสู่ทะเลมาก.