รายใหญ่เปิดศึก “เวนดิ้ง แมชชีน” รับเทรนด์ผู้บริโภคซื้อด่วน SUN108 เครือสหพัฒน์ปูพรม 12,000 ตู้

เครื่องจำหน่ายสินค้าอัตโนมัติ (Vending Machine) เป็นอีกเทรนด์ธุรกิจตอบโจทย์ความสะดวกยุคสังคมเมืองขยายตัว พฤติกรรมการซื้อสินค้าแบบด่วน ให้บริการ 24 ชั่วโมง ปีนี้มีความคึกคักมากขึ้น หลังรายใหญ่ CP เปิดตัวธุรกิจเวนดิ้ง แมชชีน” อีกราย แต่ผู้นำตลาด “SUN108” ในเครือสหพัฒน์ประกาศเดินหน้าบุกเช่นกัน

ปัจจุบันตลาดไทยมีเวนดิ้ง แมชชีน ราว 20,000 ตู้ ผู้ที่เข้ามาทำตลาดรายแรกๆ คือ SUN108 ในเครือสหพัฒน์ เริ่มตั้งแต่ปี 1999 หรือเมื่อ 20 ปีก่อน โดยใช้โนว์ฮาวจากญี่ปุ่น อีกรายใหญ่คือ T.G. Vending ของกลุ่ม TCP (กระทิงแดง) เริ่มก่อตั้งในปี 1996

ส่วนรายใหญ่ที่เข้าสู่ธุรกิจนี้ล่าสุด คือ CP โดย CP Retailink ที่เริ่มวางตู้ช่วงต้นปีนี้ ชูเทคโนโลยีรับชำระเงินทุกรูปแบบ ทั้งเงินสด E-Wallet QR Code โดยทดลองวางตู้ไปแล้ว 120 ตู้ทั่วประเทศ ทำเลโรงเรียน โรงพยาบาล อาคารสำนักงานต่างๆ ทั้งหมด 5 โมเดล ได้แก่ ตู้ 7-Eleven ขายสินค้าทั่วไป, Duck Land อาหารที่เกี่ยวกับเป็ด เช่น ข้าว บะหมี่, Farm Mee ขายอาหารเพื่อสุขภาพ, Araebtia ขายกาแฟ ทั้งกาแฟมวลชน หรือ All Café และ Bear Box เป็นของใช้ทั่วไป

สมบัติ ภาณุพัฒนา

ตอบโจทย์เทรนด์สะดวก-ซื้อด่วน

สมบัติ ภาณุพัฒนา รองผู้อำนวยการสายงานการตลาด บริษัท ซัน ร้อยแปด จำกัด ผู้ดำเนินธุรกิจเวนดิ้ง แมชชีน ในเครือสหพัฒน์ กล่าวว่า ทำตลาดเวนดิ้ง แมชชีนมา 20 ปี แต่ธุรกิจนี้เริ่มคึกคักในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา โดยมีผู้เล่นรายใหม่ที่ชูเรื่องเทคโนโลยี Cashless จ่ายเงินผ่าน อี-วอลเล็ต หรือ คิวอาร์โค้ด เปิดตัวตู้เทคโนโลยีใหม่เข้าสู่ตลาดมากขึ้น แต่ปัจจุบันเวนดิ้ง แมชชีนเป็นตู้ที่จ่ายด้วยเงินสด 96.9% และเป็นระบบ Cashless 3.1%

ปัจจัยสำคัญกระตุ้นตลาดเวนดิ้ง แมชชีน คือการตอบเทรนด์พฤติกรรมผู้บริโภคในยุคดิจิทัลที่ต้องการความสะดวกรวดเร็ว ซื้อสินค้าได้ 24 ชั่วโมง โดยเฉพาะในยุคที่สัดส่วนของประชากรไทยอาศัยอยู่ในพื้นที่เมืองมากขึ้น

“คนที่ซื้อสินค้าจากเวนดิ้ง แมชชีน มีความตั้งใจซื้ออยู่แล้ว ไม่มีพฤติกรรมเลือกซื้อสินค้าเหมือนช่องทางค้าปลีกอื่นๆ จึงไม่ต้องการรอคิวจ่ายเงิน เป็นคนที่มีพฤติกรรมชอบความสะดวกและซื้อด่วน จะว่าไปแล้วซื้อจากตู้เร็วกว่าร้านสะดวกซื้อ”

สิ้นปี SUN108 มี 12,000 ตู้ เครือข่ายไม่แพ้ 7-Eleven

ปัจจุบัน SUN108 มีเวนดิ้ง แมชชีนอยู่ในตลาด 10,000 ตู้ จำหน่ายสินค้าเครื่องดื่มแบบถ้วย กระป๋อง ขวด, อาหารและสแน็ค มีสินค้ากว่า 500 SKU หมุนเวียนจำหน่าย ปีนี้วางเป้าหมายขยายเพิ่มอีก 2,000 ตู้ เป็นจำนวนมากกว่าทุกปี สิ้นปีนี้จะมีเวนดิ้ง แมชชีนรวม 12,000 ตู้ ถือเป็นผู้นำตลาดอันดับ 1

การติดตั้งสัดส่วน 60% อยู่ในโรงงาน เพื่อรองรับการทำงาน 24 ชั่วโมง นอกจากนี้ยังมีพื้นที่ติดตั้งในห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า ที่พักอาศัยประเภท อพาร์ตเมนต์ คอนโดมิเนียม โรงพยาบาล ปีนี้จะขยายเพิ่มเติมในพื้นที่ริมถนน ใต้รถไฟฟ้า MRT เพื่อรองรับกลุ่มคนเดินทาง

ข้อมูลจากศูนย์วิจัยธนาคารกรุงศรี รายงานการเติบโตของช่องทางค้าปลีกต่างๆ ปี 2017 ตู้เวนดิ้ง แมชชีน เติบโต 8.98% สูงสุเมื่อเปรียบเทียบกับค้าปลีกอื่นๆ  เช่น ห้างสรรพสินค้า เติบโต 2.8% , ดิสเคาน์สโตร์ โต 2% , ซูเปอร์มาร์เก็ต โต 8.3%, ร้านสะดวกซื้อ โต 3.2%

ขณะที่จำนวนตู้เวนดิ้ง แมชชีนประเภทอาหารและเครื่องดื่ม ซึ่งมีจำนวน 20,000 ตู้ ก็เทียบได้กับจำนวนร้านสะดวกซื้อในปัจจุบัน ส่วนเวนดิ้ง แมชชีนของ SUN108 จำนวน 12,000 ตู้ในสิ้นปีนี้ก็เปรียบเทียบได้กับจำนวนสาขาร้าน 7-Eleven เช่นกัน

“เวนดิ้ง แมชชีน” ทางเลือกวางสินค้า

ด้วยจำนวนกว่า 12,000 ตู้ ในปีนี้ ทำให้ “เวนดิ้ง แมชชีน” เป็นอีกตัวเลือกการวางจำหน่ายสินค้าให้กับซัพพลายเออร์ ที่มีกลุ่มเป้าหมายตรงกับผู้ที่ใช้ชีวิตอยู่ในทำเลที่ติดตั้งเวนดิ้ง แมชชีน

สินค้าที่มียอดจำหน่ายสูงสุด 3 อันดับแรก ของ SUN108 คือ เครื่องดื่มชูกำลัง, น้ำอัดลม และเครื่องดื่มน้ำผลไม้ แต่ละประเภทสินค้าจะเลือกจำหน่ายไม่เกิน 3 แบรนด์ และมีการหมุนเวียนเปลี่ยนสินค้าหากยอดขายไม่ได้ตามเป้าหมาย จะเลือกสินค้าใหม่เข้ามาแทน

หลังจากขยายโรงงานผลิตตู้เมื่อ 2 ปีก่อน ทำให้มีกำลังการผลิตเต็มที่เดือนละ 500 ตู้ นอกจากการติดตั้งเวนดิ้ง แมชชีนของตัวเองแล้ว ได้รับจ้างผลิตตู้เพื่อจำหน่ายให้สินค้าแบรนด์ต่างๆ ด้วย ซึ่งในฝั่งเจ้าของแบรนด์เอง ก็ต้องการมี “ช่องทาง” จำหน่ายสินค้าของตัวเองด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะกลุ่มเครื่องดื่ม สแน็ค หรือสินค้าที่ได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวจีน เช่น ยาหม่อง ก็ทำตู้จำหน่ายติดตั้งในสถานที่ท่องเที่ยวเช่นกัน.

ข่าวเกี่ยวเนื่อง