เจาะลึก 6 ปี “Grab” โชว์สถิติส่งแล้ว 320 ล้านครั้ง คนที่ใช้มากสุดเดินทาง 7,000 ครั้ง ส่งอาหาร 670 ออร์เดอร์ และสั่งพัสดุ 2,500 ชิ้น

ปฏิเสธไม่ได้ว่า Grab กลายเป็นอีกหนึ่งบริการเรียกรถหรือสั่งซื้ออาหาร ที่คนในเมืองหลวงต่างคุ้นเคยกันไปเสียแล้ว ซึ่งสตาร์ทอัพจากสิงคโปร์รายนี้ต้องการที่จะเป็นซูเปอร์แอป ที่ทำให้คนไทยสามารถใช้งานได้ทุกวันผ่านกลยุทธ์ Every Day App

เป็นเรื่องปรกติที่ Grab จะไม่เปิดเผยรายละเอียดเชิงลึกของธุรกิจ โดยบอกแต่เพียงว่า ตลอด 6 ปีที่ผ่านมามีการส่งอาหารและการส่งของรวมกันกว่า 320 ล้านครั้ง เป็นระยะทางกว่า 1.2 ล้านกิโลเมตร ใน 16 จังหวัด 18 เมือง โดย 1 ใน 3 ของผู้โดยสารเป็นชาวต่างชาติ ซึ่งตั้งแต่ปี 2017 – 2019 ให้บริการไปแล้ว 5 ล้านคน จากประเทศต่างๆ เช่น จีน มาเลเซีย สิงคโปร์ เกาหลีใต้ และอินโดนีเซีย

จากข้อมูลนี้จึงสามารถอนุมานได้ว่ามีคนใช้บริการ Grab ไปแล้วกว่า 15 ล้านคน และยังมีคนขับอีกหลายแสนราย โดยลูกค้าที่ใช้งานมากที่สุดรายหนึ่งได้ใช้บริการเดินทางไปแล้ว 7,000 เที่ยว สั่งอาหาร 670 ออร์เดอร์ และสั่งพัสดุไปแล้ว 2,500 ชิ้น และจากผลตอบรับ Grab เชื่อว่าจะสามารถให้บริการครบ 300 ล้านครั้งเร็วกว่าเดิมที่ใช้ระยะเวลาราว 2 ปี

ขณะนี้บริการที่ Grab ให้ความสำคัญมากที่สุดคือ Grab Food ที่กำลังมีโอกาสเติบโตได้สูง เพราะพฤติกรรมของผู้บริโภคหันมาสั่งมากขึ้นด้วยไม่อยากออกไปผจญภัย โดยปีที่ผ่านมาให้บริการไปทั้งหมด 3 ล้านออร์เดอร์ เฉพาะ 4 เดือนแรก มียอดสั่งกว่า 4 ออร์เดอร์

ด้วยตัวเลขนี้ Grab ยืนยันว่า ตัวเองเป็นเบอร์ 1 ใน Food Delivery ด้วยส่วนแบ่งกว่า 50% ซึ่งก่อนหน้านี้ได้ใน 17 พฤษภาคม ถึง 2 มิถุนายน มีการจัดโปรโมชั่นใหญ่ ผลคือ ร้านค้าอาหารสามารถสร้างรายได้เพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ย 4 เท่า และมีรายหนึ่งที่ทำรายได้เพิ่มขึ้นถึง 50 เท่า 

ธรินทร์ ธนียวัน กรรมการผู้จัดการใหญ่ แกร็บ ประเทศไทย กล่าวว่า

บริการ Food Delivery ในเมืองไทยกำลังอยู่ในจุดเริ่มต้นของ S-Curve ซึ่งยังมีโอกาสเติบโตได้อีกเรื่อยๆ ขณะเดียวกันก็มาพร้อมกับเกมราคาที่หลายรายเลือกใช้ โดยในส่วนของ Grab Food ได้ขยายบริการเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ปัจจุบันให้พื้นที่ให้บริการได้แก่ กรุงเทพฯ เชียงใหม่ พัทยา ขอนแก่น หาดใหญ่ และวางแผนจะขยายไปที่อื่นๆ อีก จึงคาดว่าปี 2019 การส่งอาหารจะทะลุ 20 ล้านออร์เดอร์ได้ไม่ยาก

สำหรับในครึ่งปีหลังวางแผนที่จะเปิดให้บริการหนึ่งในจิ๊กซอว์ตัวท้ายๆ ของระบบอีโคซิสเต็ม นั้นคือแกร็บเพย์ พาวเวอร์ บาย เคแบงก์ โมบายล์ วอลเล็ตซึ่งเป็นบริการที่ร่วมมือกับธนาคารกสิกรไทยพัฒนาขึ้นมา หลังจากได้เข้ามาลงทุนด้วยเม็ดเงินกว่า 50 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 1,600 ล้านบาท

เบื้องต้นจะเปิดให้บริการในช่วงปลายเดือนกรกฎาคมนี้ก่อน และสามารถจ่ายได้กับบริการใน Grab หลังจากนั้นปลายไตรมาส 3 ถึงต้นไตรมาส 4 ถึงจะสามารถใช้จ่ายบริการอื่นๆ นอกแอปได้ จริงๆ แล้วช่วงครึ่งปีแรกยังมีอีกหนึ่งดีลใหญ่เกิดขึ้น นั้นคือการลงทุนกว่า 6.2 พันล้านบาทจากเครือเซ็นทรัล ซึ่งขณะนี้หลายๆ บริการได้มีให้เห็นแล้ว

อย่างไรก็ตาม โจทย์สำคัญที่ Grab ต้องก้าวข้ามคือการผลักดันกฎหมายที่เกี่ยวข้อง แม้ที่ผ่านมา Grab จะระบุว่าพูดคุยกับภาครัฐมาโดยตลอด แต่ก็ยังไม่มีความชัดเจนเสียที ต่างจากในปีนี้ที่หลายพรรคการเมืองยกเรื่องนี้ขึ้นมาหาเสียง ซึ่งธรินทร์ระบุว่า ต้องรอดูความคืบหน้าของการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ก่อน จากนั้นจึงค่อยเข้าไปคุย ซึ่งทาง Grab มีความพร้อมด้านแพลตฟอร์มอยู่แล้ว

ปัจจุบัน Grab ให้บริการใน 336 เมืองใน 8 ประเทศทั่วเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยมียอดดาวน์โหลดทั้งหมด 152 ล้านครั้ง มีผู้ขับขี่ ร้านค้า และผู้แทนกว่า 9 ล้านราย โดยถือเป็นเครือข่ายการให้บริการขนส่งทางบกที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาค โดยได้ให้บริการการเดินทางไปมากกว่า 3 พันล้านเที่ยวตั้งแต่ก่อตั้ง.