การประกาศเปิดตัว “Libra” เงินสกุลดิจิทัลของ Facebook ได้สั่นสะเทือนวงการเงินทั่วโลกไม่เว้นแม้แต่ในประเทศไทย ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เอ่ยว่ากำลังหารือกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เรื่องการออกหลักเกณฑ์คุม Libra
พราวพร เสนาณรงค์ ผู้ช่วยเลขาธิการ สายนโยบายตลาดทุน ก.ล.ต. เปิดเผยว่า Libra ยังไม่ได้อยู่ภายใต้การกำกับของ ก.ล.ต. ตาม พ.ร.ก.การประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล 2562 โดย ก.ล.ต.เตรียมพร้อมรับมือหาก Libra เกิดขึ้นในปี 2563 โดยจะมีการหารือกับ ธปท. อย่างใกล้ชิด
เพื่อศึกษาเตรียมออกกฎหมายลูกมากำกับดูแล เชื่อจะสามารถรับมือได้ทันก่อนปี 2563 ซึ่งขณะนี้ ธปท.ได้ตั้งคณะทำงานศึกษา Libra และพร้อมหารือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้ว ด้าน Libra ก็เริ่มเดินสายให้ข้อมูลกับธนาคารกลางทั่วโลกเพื่อสร้างความเข้าใจและแลกเปลี่ยนข้อมูล
ทั้งนี้ ก.ล.ต.ประเมินเบื้องต้นว่า Libra ไม่เหมาะเป็นสินทรัพย์เพื่อลงทุนหรือเก็งกำไรเพราะไม่ผันผวนเท่าเงินดิจิทัล แต่ Libra คือสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนชำระเงินมากกว่า พร้อมเตือนนักลงทุนให้ระมัดระวังและอาจถูกกลุ่มมิจฉาชีพหลอกให้ลงทุนหรือมีโอกาสร่วมกับ Facebook
ขณะที่ ฐากร ปิยะพันธ์ ประธานกรรมการกรุงศรี คอนซูมเมอร์ ผู้บริหารสายงานดิจิทัลแบงกิ้งและนวัตกรรม ธนาคารกรุงศรีอยุธยา กล่าวถึงเงินดิจิทัล “Libra” ของ Facebook และพันธมิตร โดยระบุว่า ปัจจุบันมีผู้ใช้ Facebook มากกว่า 2,000 ล้านคนทั่วโลก หากเกิดแพลตฟอร์มที่เป็นระบบชำระเงินกลาง จะทำให้บริการการชำระเงินทั้งในรูปแบบออนไลน์ อีคอมเมิร์ซ และออฟไลน์ หรือเฟซทูเฟซ
“สิ่งที่เกิดขึ้นคือการโอนเงินทำได้อย่างเสรีและข้ามประเทศได้ง่ายมากขึ้น ต้นทุนก็ถูกกว่า จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ธนาคารพาณิชย์ทั่วโลกจะมีความวิตกกังวล โดยสิ่งสำคัญที่ต้องพิจารณาคือ การพิสูจน์ตัวตนทางอิเล็กทรอนิกส์ ป้องกันไม่ให้เกิดการฟอกเงิน หรือใช้เงินผิดประเภท”
สำหรับประเทศไทยแม้จะไม่มี Libra มาใช้ในการชำระเงิน แต่ปัจจุบันการโอนเงินระหว่างประเทศยังมีข้อจำกัดอยู่ที่ธนาคารพาณิชย์เท่านั้น ซึ่งภาคการเงินการธนาคารก็ควรปรับตัวรองรับเทคโนโลยีใหม่ๆ ทั้งดิจิทัล และ Mobile Banking ที่เข้ามาตอบโจทย์ลูกค้ายุคใหม่ และในอนาคตมองว่าจะเห็นธนาคารพาณิชย์จับมือกับพันธมิตรเพื่อให้บริการด้านต่างๆ มากขึ้น อย่างไรก็ดี ธนาคารแห่งประเทศไทยได้เตรียมประชุมหารือเกี่ยวกับ Libra กับธนาคารพาณิชย์ต่างๆ ในเร็วๆ นี้ด้วย
ทั้งนี้ จากข้อมูลระบุว่า ในแต่ละปีทั่วโลกมียอดผู้ใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิต 2.2 ล้านล้านบาท ค่าเฉลี่ยค่าธรรมเนียมที่ร้านค้าต้องจ่ายให้กับธนาคารพาณิชย์อยู่ที่ประมาณร้อยละ 1.8 หรือคิดเป็นมูลค่า 36,000 ล้านบาท ส่วนธุรกรรมการโอนเงินของรายย่อยทั่วโลกเฉลี่ย 4-5 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี มีต้นทุนในการดำเนินการประมาณร้อยละ 6 หากมีเงินดิจิทัล “Libra” เกิดขึ้นจริงก็จะส่งผลกระทบต่อรายได้ของธนาคารพาณิชย์ทั่วโลก
ด้าน จิรายุส ทรัพย์ศรีโสภา ผู้เชี่ยวชาญด้านบิตคอยน์และบล็อกเชน ผู้ร่วมก่อตั้งเว็บเทรด bitkub กล่าวว่า การประกาศเปิดตัวสกุลเงินดิจิทัลใหม่ของโลก “Libra coin” มองว่าเป็นโอกาสที่จะทำให้ราคาบิตคอยน์สูงขึ้น ทำให้เกิดการพัฒนาในหลายๆ ตลาด
เช่น ตลาดหลักทรัพย์ที่สหรัฐฯ และเยอรมนีเปิดให้ซื้อขายไลต์คอยน์ และลิโปคอยน์ หรือเจพีมอร์แกนกำลังจะทำเหรียญของตัวเอง ทำให้ยิ่งมีเม็ดเงินไหลเข้ามาในตลาดสกุลเงินดิจิทัล ส่งผลให้มีคนเข้ามาสนใจเงินสกุลดิจิทัลมากขึ้น และผลักดันให้มีการพัฒนาสิ่งใหม่ๆ ร่วมกัน.