โจทย์รายการทีวียุคนี้ ไม่ได้จบแค่เรตติ้งและเม็ดเงินโฆษณา “หน้าจอ” เท่านั้น เมื่อ “คอนเทนท์” ที่เป็นทรัพย์สิน สร้างการรับรู้ผ่านสื่อหลักทีวีแล้ว ต้องหาช่องทาง Utilize แบรนด์ให้เกิดประโยชน์ ต่อยอดรายได้จากทุกทิศทาง โดยเฉพาะ Food Content รายการยอดนิยมทางหาจอทีวีดิจิทัล
ภวัต เรืองเดชวรชัย ผู้อำนวยการธุรกิจ สายงานการวางแผนและกลยุทธ์สื่อโฆษณา บริษัท มีเดีย อินเทลลิเจนซ์ จํากัด หรือ MI กล่าวว่า ปัจจุบันรายการที่เกี่ยวกับอาหารทางหน้าจอทีวีดิจิทัลมีจำนวนเยอะมากรวม 46 รายการ กระจายอยู่ในเกือบทุกสถานี
กลุ่มท็อปเรตติ้ง คือ ช่อง 7 มี 4 รายการ เรตติ้งเดือนมิถุนายนสูงสุดในกลุ่มเชฟกระทะเหล็กและมาสเตอร์ เชฟ ประเทศไทย ซีซั่น 3 (ต่อด้วย The Next Iron Chef) ทำเรตติ้ง 2 – 3 ส่วนช่อง 3 มี 7 รายการ เช่น รายการตีท้ายครัว เรตติ้ง 1.84, ครัวคุณต๋อย เรตติ้ง 0.89 เวิร์คพอยท์ มี 2 รายการ Sweet Chef Thailand แข่งทำเมนูขนม ทำเรตติ้งได้ 1.04
ปัจจุบันรายการมีหลากหลายรูปแบบ ทั้งโชว์ทำอาหาร, ตระเวนชิมเมนูดัง, ไลฟ์สไตล์ กิน เที่ยว ดื่ม, สารคดีทำอาหาร, เกมโชว์, เรียลลิตี้แข่งทำอาหาร แต่รายการแนวเรียลลิตี้ถือว่าได้รับความสนใจจากผู้ชม ครองเรตติ้ง Food Content สูงสุด เพราะใส่เนื้อหาแนว “ดราม่า” ที่ผู้ชมไทยชื่นชอบเข้าไปในรายการ
ด้วยรูปแบบที่หลากหลาย ทำให้เรียกลูกค้าลงโฆษณาได้กว้าง นอกจากสินค้าอาหารและเครื่องดื่ม เครื่องปรุงรส เครื่องครัว สปอนเซอร์เจ้าประจำแล้ว กลุ่มที่เพิ่มเข้ามาในยุค 4.0 คือ แอปพลิเคชั่น Food Delivery จากไลฟ์สไตล์ผู้บริโภคดูรายการจบแล้วก็มักสั่งอาหารมาชิมตาม รวมทั้งกลุ่มท่องเที่ยว ที่พักโรงแรม
นอกจากรายได้หลักโฆษณาหน้าจอทีวี Food Content ยังใช้โอกาสต่อยอด “แบรนด์” รายการ ที่สร้างการรับรู้ผ่านหน้าจอทีวีมาแล้วสู่ธุรกิจอื่นๆ ที่เห็นได้ชัด คือการจัดอีเวนต์ เฟสติวัล ร้านอาหาร ร้านขนม รวมทั้งใช้ประโยชน์จากแบรนด์รายการ Collaboration กับแบรนด์อื่นๆ เพื่อเป็นการหารายได้อีกช่องทาง
“เชฟกระทะเหล็ก” ต่อยอดฟู้ดบิสสิเนส
รายการ Food Content ยืนหนึ่งเรตติ้ง ทั้งฟอร์แมต Master Chef Thailand และ Iron Chef Thailand ภายใต้การบริหารของ กิติกร เพ็ญโรจน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เฮลิโคเนีย เอช กรุ๊ป จำกัด หรือ H GROUP ผู้ผลิตคอนเทนท์ กล่าวว่า ปัจจุบันมีรายการกลุ่ม Food Content 2 รายการทางช่อง 7 คือ เชฟกระทะเหล็ก (Iron Chef Thailand) ทุกวันเสาร์ เวลา 12.00 – 13.15 น. และรายการ Master Chef Thailand ออกอากาศเป็นซีซั่นๆ ละ 3 เดือน ตลอดปี เดือนกรกฎาคมนี้เป็นซีซั่นของ The Next Iron Chef วันอาทิตย์ เวลา 18.20 – 19.50 น.
การผลิตคอนเทนต์ของ “เอช กรุ๊ป” วาง Positioning กลุ่ม Food Content ด้วยการซื้อไลเซ่นส์ฟอร์แมตจากต่างประเทศ รายการเชฟกระทะเหล็ก เป็นการแข่งขันระดับ Professional Food ส่วนมาสเตอร์ เชฟ เป็นการข่งขันประเภท Home Cook ของคนทั่วไปที่มีใจรักด้านอาหาร “มาสเตอร์ เชฟ จูเนียร์” อายุ 8 – 13 ปี เป็นกลุ่มเด็กที่สนใจด้านอาหาร จึงมีโอกาสหากสปอนเซอร์ได้กว้างทั้งกลุ่มเด็กและครอบครัว
หลังจากสร้างแบรนด์รายการ “เชฟกระทะเหล็กและมาสเตอร์เชฟ” ผ่านหน้าจอทีวีและเป็นที่รู้จักในวงกว้างแล้ว ได้มองโอกาสต่อยอด Food Business เพื่อหารายได้จากหลายช่องทาง โดยแบรนด์ “เชฟกระทะเหล็ก” ได้ทำ Collaboration กับร้าน 7-Eleven จำหน่ายอาหารพร้อมรับประทาน จากเมนูเชฟกระทะเหล็ก ปัจจุบันมี 12 เมนู ครึ่งปีหลังมีอีก 4 เมนู รวมทั้งเมนูอาหารเจ ความร่วมมือนี้ บริษัทเป็นผู้พัฒนาเมนูร่วมกับเซฟในรายการ เพื่อส่งให้ 7-Eleven ผลิตและจำหน่าย โดยแบ่งรายได้ร่วมกัน
นอกจากนี้ยังทำคอนเทนต์ผ่านช่องทางออนไลน์ โดยใช้ Asset ที่มี คือ ผู้เข้าแข่งขันใน Master Chef รวมทั้ง เชฟกระทะเหล็กที่มีสัญญากับบริษัทอย่างน้อย 2 ปี เป็นคอนเทนต์ประเภท Cooking Tips ต่างๆ ซึ่งเปิดพื้นที่ให้
สปอนเซอร์สินค้า มาสร้างสรรค์รายการร่วมกัน ทั้งการให้เชฟรายการเป็นพรีเซ็นเตอร์ รีวิวสินค้า
รวมทั้งการทำ Cooking Class โดย ม.ล.ขวัญทิพย์ เทวกุล หรือ เชฟป้อม กรรมการ Master Chef ด้านอาหารไทยโบราณ อาหารไทยชาววัง จัดปีละ 2 – 3 ครั้ง คลาสละ 500 คน นอกจากนี้ยังมี Cooking Party โดยนำกลุ่ม Master Chef มาสอนทำอาหาร จากนั้นก็รับประทานกับแฟนคลับในรูปแบบปาร์ตี้ จะเริ่มอีเวนต์นี้ในครึ่งปีหลัง จัดเดือนละ 1 ครั้ง หมุนเวียนเชฟที่มาจัดสอนในชั้นเรียน
ปีนี้จะต่อยอดไปสู่ Food Festival รวบรวมเชฟกระทะเหล็ก และ Master Chef ทั้งหมดมาทำอาหารในเทศกาล มีทั้งระดับกลางรูปแบบ Pop up Cafe ในพื้นที่ศูนย์การค้าต่างๆ ช่วงสุดสัปดาห์ ศุกร์ – อาทิตย์ และขนาดใหญ่ที่จะใช้พื้นที่ระดับฮอลล์ของศูนย์การค้าหรือศูนย์ประชุม มีรายได้จากเช่าบูธและสปอนเซอร์
“รายได้หลักยังมาจากทีวี 70% ส่วนธุรกิจต่อยอดฟู้ดบิสสิเนส 30% มองว่ายังมีช่องทางขยายได้อีกมาก จากแบรนด์รายการที่สร้างการรับรู้ผ่านสื่อทีวี ที่เข้าถึงคนทั่วประเทศ”
สำหรับธุรกิจทีวีดิจิทัล วันนี้ต้องบอกว่า “เหนื่อย” เพราะภาพรวมเรตติ้งยุคทีวีดิจิทัลลดลงกว่า 50% จากเดิมเรตติ้ง 5-6-7 ขายสปอตโฆษณาได้ 3 – 4 แสนบาทต่อนาที ปัจจุบันเรตติ้งเหลือ 1-2-3 ราคาโฆษณาก็ลดลงเหลือ 5 หมื่นบาทถึงแสนบาทต่อนาที เป็นผลจากผู้ชมกระจายตัวทั้งในสื่อทีวีเองและออนไลน์ ผู้ผลิตคอนเทนต์ทุกรายจึงต้องปรับตัวหาสร้างโอกาสหารายได้ใหม่ๆ จากแบรนด์คอนเทนต์ที่ผู้ชมรู้จักอยู่แล้ว
ต่อยอดคอนเทนต์จากหน้าจอสู่สโตร์
เช่นเดียวกับ ชลากรณ์ ปัญญาโฉม ประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายงานดิจิทัลทีวี บริษัท เวิร์คพอยท์ เอ็นเทอร์เทนเมนท์ จำกัด (มหาชน) ที่บอกว่าปีนี้ “เวิร์คพอยท์” เองได้ทดลองต่อยอดคอนเทนต์ผ่านรายการ Sweet Chef Thailand การแข่งขันทำขนมรูปแบบใหม่ ทุกวันอาทิตย์ เวลา 20.15 น. เริ่มออกอากาศเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา
หลังรายการออนแอร์จบ เมนูขนมจะนำมาขายที่ร้าน Sweet Chef Cafe สยามสแควร์ ซอย 3 ซึ่งเป็นร้านที่ “โต๊ะกลม” บริษัทในเครือเวิร์คพอยท์ลงทุนร่วมกับเจ้าของร้าน The Cassette Music Bar ร้าน Kobe Steakhouse และร้านรองเท้า paa ซึ่งมีประสบการณ์ในธุรกิจร้านอาหารอยู่แล้ว มาขยายธุรกิจร้านขนมเพิ่ม
หลักคิดการทำรายการ Sweet Chef Thailand ที่มีให้ดูทั้งหน้าจอทีวี ออนไลน์ และไปจบที่ “สโตร์” เป็นอีกรูปแบบการต่อยอดคอนเทนต์ของเวิร์คพอยท์ เพราะส่วนใหญ่คนที่ดูรายการอาหารหลังจบรายการแล้ว หากชอบเมนูนั้นๆ ก็ไม่รู้ว่าจะไปหารับประทานได้ที่ไหน จึงได้ไอเดียทดลองนำมาขายที่ร้าน Sweet Chef Cafe เพื่อให้คนที่สนใจมาชิมเมนูต่างๆ ถือเป็นการใช้ประโยชน์จากมีเดียที่สร้างการรับรู้ผ่านรายการทีวีมาหารายได้ผ่านหน้าร้าน ฟู้ดคอนเทนต์ เป็นรูปแบบรายการทีวีที่สามารถต่อยอดได้เช่นเดียวกับรายการประเภทอื่นๆ เช่น การประกวดร้องเพลงที่ผู้ชนะประกวดก้าวไปเป็นนักร้อง ออกซิงเกิลเพลงขาย
“ช่วง 1 – 2 ปีนี้ จะมีทดลองโปรเจกต์เชื่อมแพลตฟอร์มในธุรกิจขนาดเล็กเพิ่มอีก วันนี้สื่อของเวิร์คพอยท์ทุกช่องทาง จะเป็นเหมือนแล็บทดลองอะไรใหม่ๆ เพื่อต่อยอดคอนเทนต์ที่เป็นงานถนัดของเรา”
“ครัวคุณต๋อย” แตกไลน์โกยเงินนอกจอทีวี
ถือเป็นผู้ทำโมเดล “ฟู้ดคอนเทนต์” จากหน้าจอทีวีแตกไลน์สู่ธุรกิจใหม่ รายแรกๆ ที่เข้ากับไลฟ์สไตล์ผู้ชมยุคนี้ สำหรับ ต๋อย-ไตรภพ ลิมปพัทธ์ ประธานกรรมการ บริษัท บอร์น แอนด์ แอสโซซิเอทด์ จำกัด ผู้ผลิตรายการทีวี ตั้งแต่ทีวียุคแอนะล็อกสู่ “ทีวีดิจิทัล” โดยใช้แบรนด์และคอนเทนต์ที่แข็งแกร่งรายการ “ครัวคุณต๋อย” ออกอากาศ จันทร์ – ศุกร์ เวลา 13.15 – 13.45 น. ทางช่อง 3 มาสร้างธุรกิจใหม่
โดยมองว่ารายการเกี่ยวข้องกับอาหารเป็นเรื่องใกล้ตัว “ครัวคุณต๋อย” ที่ออกอากาศทางช่อง 3 เป็นรายการฟู้ดคอนเทนต์เรตติ้งสูงของช่อง ได้ถูกนำไปต่อยอดทั้งออฟไลน์ ออนไลน์และออนกราวด์ ทั้งการจัดงานเอ็กซ์โป แอปพลิเคชั่น เฟซบุ๊กไลฟ์ครัวคุณต๋อยและทัวร์ต่างประเทศ
จากความสำเร็จในการจัดงาน “ครัวคุณต๋อย Expo” ครั้งแรก ปี 2559 ใช้พื้นฮอลล์ ศูนย์การค้าเอ็ม ควอร์เทียร์ มีร้านค้า 90 บูธ คนร่วมงาน 3 แสนคน เงินหมุนเวียนวันละ 10 ล้านบาท โดย “ครัวคุณต๋อย Expo ซีซั่น 2” ต้องย้ายไปจัดสถานที่กว้างขึ้นบนพื้นที่ 11,000 ตารางเมตร ที่อิมแพ็ค ฟอรั่ม เมืองทองธานี รองรับคนเข้างาน 5 แสนคน มีเม็ดเงินหมุนเวียนราว 100 ล้านบาทตลอด 4 วัน
จากนั้นอีเวนต์ ครัวคุณต๋อย Expo ปีต่อมาถึงปัจจุบัน ให้พื้นที่อิมแพ็คจัดงานมาตลอด มีร้านค้าออกบูทกว่า 200 ร้านค้า คนร่วมงาน 1.5 ล้านคน ต้องถือเป็นโมเดลแตกไลน์จากหน้าจอทีวีที่ไปได้สวย!
พีพีทีวีจับมือ LINE MAN เสิร์ฟขนมฟรี
ทางด้าน พลากร สมสุวรรณ กรรมการรองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่สายรายการและการตลาด สถานีโทรทัศน์พีพีทีวีร่วมกับ LINE MAN จัดกิจกรรมเสิร์ฟขนมอบเมนูอร่อยจากรายการ “The Great Thai Bake Off ยอดนักอบขนม” ที่ออกอากาศทุกวันจันทร์ เวลา 20.15 – 21.45 น. เพื่อให้ผู้ชมได้ลองขนมสูตรพิเศษจากรายการ โดยจัดส่งถึงบ้านให้ชิมฟรี เริ่มตั้งแต่วันนี้ถึง 9 กันยายนนี้