โมเดล “โค–โปรดักชั่น” ลงทุนสร้างหนังมีมานานแล้วในต่างประเทศ ในไทยก็มีให้เห็นหลายโปรเจกต์เช่นกัน ด้วยราคาตั๋วหนังไม่ใช่ถูกๆ ผู้ชมก็ต้องคาดหวังเห็นหนังคุณภาพ งบลงทุนต่อเรื่องจึงต้องสูงอยู่ที่หลัก 50 ล้านบาท การลงทุนคนเดียวจึงถือว่า “เสี่ยง” รูปแบบการร่วมลงทุน “หลายพันธมิตร” จึงมีให้เห็นกันมากขึ้น
อุตสาหกรรมหนังไทยมูลค่า 10,000 ล้านบาท ครองตลาดโดยหนังต่างประเทศ 60-70% สัดส่วนหนังไทยอยู่ที่ 30-40% มานาน ไม่ได้ขยับมากไปกว่านี้สักเท่าไหร่ จำนวนหนังไทยที่สร้างต่อปีอยู่ที่ราว 40 เรื่องเท่านั้น แม้ฝั่งโรงภาพยนตร์จะสปีดขยายโรงในต่างจังหวัดตลาดหลักของหนังไทยแล้วก็ตาม
อุปสรรคของการสร้างหนังไทยอยู่ที่การลงทุน หากอยู่ในระดับคุณภาพ มีนักแสดงแม่เหล็กก็ต้องลงทุนระดับ 25-30 ล้านบาท ค่าโปรโมตอีก 10-15 ล้านบาท ต่อเรื่องจึงอยู่ที่ 40-50 ล้านบาท การลงทุนรายเดียวจึงนับว่า “เสี่ยง” หากรายได้จากตั๋วหนังไม่ปัง
ชูโมเดลร่วมลงทุน “ทุกพันธมิตร”
สง่า ฉัตรชัยรุ่งเรือง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ทรานส์ฟอร์เมชั่น ฟิล์ม จำกัด กล่าวว่า ที่ผ่านมาบริษัทได้ปรับรูปแบบการลงทุนสร้างภาพยนตร์ จากการลงทุนรายเดียวเป็นการจับมือพันธมิตรธุรกิจที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อร่วมทุนสร้างหนังไทยเป็นรายโปรเจกต์ แนวทางหลังจากนี้จะเห็นการร่วมทุนสร้างกับพันธมิตร “หลายราย” มากขึ้น โดยใช้ Asset ของแต่ละพันธมิตร มาทำงานร่วมกัน ซึ่งจะทำให้เงินลงทุนสร้างหนังต่อเรื่องเพิ่มขึ้น
“ผู้ชมคาดหวังว่าราคาตั๋วหนังที่พวกเขาจ่าย จะต้องได้รับชมหนังคุณภาพ การมีพันธมิตรมาร่วมลงทุน จะทำให้มีงบสร้างหนังมากขึ้น มีโอกาสประสบความสำเร็จด้านรายได้และลดความเสี่ยงการลงทุน”
โปรเจกต์ภาพยนตร์เรื่อง “โปรเม อัจฉริยะ/ต้อง/สร้าง” เป็นหนังไทยที่บริษัทได้ร่วมทุนกับพันธมิตรอีก 3 ราย คือ “บีฮีมอธ แคปปิตอล” ดูแลการวางกลยุทธ์การตลาดและสื่อประชาสัมพันธ์ภาพยนตร์ผ่านทางสื่อต่างๆ รวมทั้งการทำตลาดสินค้าพรีเมียมหรือเมอร์แชนไดส์ “นอร์ธสตาร์ สตูดิโอ” ที่ทำงานด้าน CGI, ANIMATION และสร้างภาพยนตร์ ช่วยเรื่อง CG (Computer Graphic) ที่ผ่านมาเคยร่วมทุนสร้างภาพยนตร์เรื่อง “แสงกระสือ” มาก่อนหน้านี้ และมีแผนที่จะร่วมทุนสร้างภาพยนตร์ร่วมกันอีก 5-6 เรื่องในปีนี้ และ “เอ็ม พิคเจอร์ส” ดูแลการจัดจำหน่ายภาพยนตร์ทั้งในและต่างประเทศ
“การสร้างหนังโดยไม่มีพันธมิตร จะทำให้สร้างได้ไม่กี่เรื่อง เห็นได้จากผู้สร้างอิสระที่มีจำนวนลดลงเรื่อยๆ แต่การร่วมทุนจะทำให้สามารถสร้างหนังได้จำนวนมากขึ้น คนดูเกิดความต่อเนื่องที่จะได้ดูผลงานของค่ายหนังนั้น ๆ”
“หนังไทย” แนวโน้มดี “โปรเม” ลุ้นรายได้ 200 ล้าน
ช่วงครึ่งปีแรกมีหนังไทยทำรายได้เกิน 100 ล้านบาท 3 เรื่อง ช่วงครึ่งปีหลังยังมีหนังไทยเข้าโรงอีกราว 20 เรื่อง ปีนี้จึงมองว่าหนังไทยน่าจะมีโอกาสทำรายได้รวม 4,000 ล้านบาท สัดส่วน 30-40% ของอุตสาหกรรม เติบโตราว 10%
สำหรับภาพยนตร์เรื่อง “โปรเม อัจฉริยะ/ต้อง/สร้าง” ที่จะเข้าฉายในโรงภาพยนตร์ วันที่ 15 ส.ค.นี้เป็นหนังแนวสร้างแรงบันดาลใจ เรื่องราวของครอบครัวเล็กๆ ที่ทุ่มเทดูแลและฝึกฝนลูก และสร้าง “โปรเม” เป็นนักกอล์ฟระดับโลก คาดการณ์ภาพยนตร์เรื่องนี้จะทำรายได้จากทุกช่องทางทั้งตั๋วหนัง ขายลิขสิทธิ์ทั้งในและต่างประเทศราว 200 ล้านบาท
พรชัย ว่องศรีอุดมพร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายภาพยนตร์ไทยและต่างประเทศ บริษัท เอ็ม พิคเจอร์ส จำกัด กล่าวว่า “โปรเม” เป็นคนดังระดับโลก ทำให้หนังเรื่องนี้เป็นสากล จึงมีโอกาสทำตลาดได้หลายช่องทาง ทั้งการฉายในโรงภาพยนตร์ ขายลิขสิทธิ์ ฟรีทีวี เพย์ทีวี และวิดีโอออนดีมานด์ (VOD) ทั้งในและต่างประเทศ คาดว่าจะได้รับความสนใจจากตลาดในภูมิภาคนี้ ทั้งกลุ่ม CLMV จีน รวมทั้งจะไปทำตลาดในอเมริกาและยุโรปด้วย เชื่อว่าอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทย สามารถเป็นสินค้าส่งออกที่ดีได้