การเก็บ “ภาษีดิจิทัล” เป็นที่พูดถึงกันมากของรัฐบาลในทุกประเทศ ที่พยายามหาทางรีดภาษีกับบริษัทต่างชาติที่เข้ามาดำเนินธุรกิจในประเทศ แต่ไม่สามารถเก็บภาษีได้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย ด้วยบริษัทอินเทอร์เน็ตยักษ์ใหญ่จำนวนมาก สามารถใช้ประโยชน์จากการที่บางประเทศเก็บภาษีในอัตราต่ำ เช่น ไอร์แลนด์ และบางประเทศกระทั่งอาจไม่ต้องเสียเลย ทำให้บริษัทเหล่านี้ตักตวงผลกำไรเต็มที่
ด้วยเหตุนี้เมื่อวานที่ผ่านมา (11 กรกฎาคม) “ฝรั่งเศส” จึงได้ผ่านกฎหมาย “ภาษีบริการดิจิทัล” ไปเรียบร้อยแล้ว โดยภาษีนี้จะเรียกเก็บในอัตรา 3% ของรายได้ที่เกิดขึ้นในฝรั่งเศส ซึ่งอัตราที่ว่านี้ไม่ได้เก็บภาษีจากอัตรากำไรเหมือนธุรกิจอื่นๆ
แต่ไม่ใช่จู่ๆ จะส่งบิลไปเก็บกับทุกบริษัทที่ทำธุรกิจที่เกี่ยวข้อง รัฐบาลแดนน้ำหอมระบุว่า ผู้ที่จะโดนเก็บต้องมีรายได้มากกว่า 750 ล้านยูโร หรือราว 25,000 ล้านบาท ขณะเดียวกันต้องมีรายได้อย่างน้อย 25 ล้านยูโร ประมาณ 900 ล้านบาท เกิดขึ้นในฝรั่งเศส
บริษัทที่เข้าข่ายมีกว่า 30 บริษัท รวมไปถึงยักษ์ใหญ่ของอเมริกาทั้ง Alphabet บริษัทแม่ของ Google – Apple – Amazon – Facebook และ Microsoft รวมไปถึงบริษัทเทคโนโลยีของจีน เยอรมัน สเปน และอังกฤษก็ได้รับผลกระทบ เช่นเดียวกับ Criteo โฆษณาออนไลน์ของฝรั่งเศส
ถึงจะเพิ่งได้รับการรับรองแต่ภาษีที่ว่านี้จะถูกนับตั้งแต่ต้นปี 2019 เป็นต้นมา รัฐบาลฝรั่งเศสประเมินว่าจะสามารถเก็บภาษีคิดเป็นเม็ดเงินกว่า 400 ล้านยูโร หรือกวา 14,000 ล้านบาทเลยทีเดียว
อย่างไรก็ตามด้วยความที่บริษัทส่วนใหญ่ที่โดนมีสัญชาติ “อเมริกัน” ทำให้ ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ซึ่งย้ำเสมอว่า “อเมริกันต้องมาก่อน” เสมอมาได้โดดมาป้องกันยกใหญ่
โดยก่อนหน้าที่ภาษีจะผ่าน 1 วัน “โรเบิร์ต ไลต์ไฮเซอร์” ผู้แทนการค้าของสหรัฐฯ ได้ออกแถลงว่าอเมริกากังวลอย่างมากต่อภาษีบริการดิจิตอลที่เป็นการพุ่งเป้าเล่นงานบริษัทอเมริกันโดยไม่เป็นธรรม
ดังนั้นประธานาธิบดีทรัมป์จึงสั่งให้เริ่มต้นการตรวจสอบโดยใช้อำนาจตามมาตรา 301 ของกฎหมายการค้าสหรัฐฯ ภายในระยะเวลา 1 ปี เพื่อพิจารณาว่า แผนการภาษีของฝรั่งเศสนี้ป็นแนวทางปฏิบัติทางการค้าที่เป็นธรรมและกระทบกระเทือนบริษัทเทคโนโลยีอเมริกาหรือไม่ ?
การสอบสวนนี้อาจปูทางให้วอชิงตัน ประกาศมาตรการตอบโต้ด้วยการเรียกเก็บภาษีศุลกากรจากสินค้าฝรั่งเศส โดยที่แนวทางเช่นนี้เป็นสิ่งซึ่งทรัมป์ใช้บ่อยมาก นับจากเข้ารับตำแหน่งซึ่งรวมถึงการเล่นงานจีนที่อเมริกาอ้างว่า มีแนวทางปฏิบัติทางการค้าอย่างไม่เป็นธรรม
ความเคลื่อนไหวนี้ยังอาจทำให้ประเด็นขัดแย้งทางการค้าระหว่างสองฟากฝังแอตแลนติก นั่นคือฝั่งสหรัฐฯกับฝั่งยุโรปบานปลายขยายวง หลังจากมีปัญหาในเรื่อง เหล็กกล้า อลูมิเนียม รถยนต์ เครื่องบินและสินค้าเกษตรกันอยู่แล้ว
ขณะเดียวกัน “สำนักงานผู้แทนการค้าของสหรัฐฯ” (USRT) ระบุในคำแถลงว่า บริการดังกล่าวเป็นบริการที่บริษัทอเมริกันเป็นผู้นำทั่วโลก โครงสร้างภาษีใหม่ที่เสนอ ตลอดจนถึงถ้อยแถลงของเจ้าหน้าที่บ่งชี้ว่า ฝรั่งเศสพุ่งเป้าเก็บภาษีบริษัทเทคโนโลยีที่มีฐานในอเมริกาอย่างไม่เป็นธรรม
ทางด้านทางด้าน TIT กลุ่มล็อบบี้ในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีของอเมริกาที่เป็นตัวแทนของ Apple – Amazon – Google และอีกมากมายแถลงว่า เห็นด้วยที่รัฐบาลสหรัฐฯ พยายามตรวจสอบเรื่องนี้ แต่เรียกร้องให้ใช้มาตรา 301 โดยอิงกับความร่วมมือระหว่างประเทศ และหลีกเลี่ยงการออกมาตรการใช้ภาษีศุลกากรตอบโต้ฝรั่งเศส
ส.ว.ชัค กราสส์ลีย์ ประธานคณะกรรมาธิการการเงินของวุฒิสภาสหรัฐฯ จากพรรครีพับลิกัน และ ส.ว.รอน ไวเดน สมาชิกระดับสูงของคณะกรรมาธิการชุดนี้จากพรรคเดโมแครตออกมาให้ทัศนะว่า เห็นด้วยกับการสอบสวน เนื่องจากมองว่า ภาษีบริการดิจิตอลที่ฝรั่งเศสและชาติยุโรปอื่นๆ กำลังจะนำมาใช้เป็นการกีดกันการค้าและพุ่งเป้าที่บริษัทอเมริกันอย่างไม่เป็นธรรมซึ่งจะกระทบต่อตำแหน่งงานและแรงงานอเมริกัน
กระนั้นไลต์ไฮเซอร์ย้ำว่ายูเอสทีอาร์ จะเปิดรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนเกี่ยวกับเรื่องนี้ ในอีกหลายสัปดาห์ต่อจาก นี้และหลังจากนั้นจะออกรายงานฉบับสุดท้าย พร้อมมาตรการดำเนินการที่เสนอแนะ
เขาสำทับว่าอเมริกาจะยังคงสานต่อความพยายามร่วมกับประเทศอื่นๆ ในองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) เพื่อบรรลุข้อตกลงพหุภาคีในการรับมือจัดการกับความท้าทายด้านระบบภาษีระหว่างประเทศ สืบเนื่องจากเศรษฐกิจโลกที่เข้าสู่ยุคดิจิตอลเต็มตัวมากขึ้นทุกที