ปัจจุบันเริ่มเห็น “ร้านซักผ้าหยอดเหรียญ” เปิด 24 ชั่วโมงมีสาขาให้บริการหนาตามากขึ้น โดยเฉพาะช่วง 2 – 3 ปีนี้ จากการขยายแฟรนไชส์ของทั้งผู้ประกอบการแบรนด์ไทยและต่างชาติ ที่เห็นเทรนด์พฤติกรรมคนไทยหันมาใช้บริการ “สะดวกซัก” มากขึ้น อีกทั้งเป็นอีกธุรกิจที่มีผู้สนใจลงทุน เพื่อสร้างแหล่งรายได้อีกทาง
บริการ “ตู้ซักผ้าหยอดเหรียญ” ต้องบอกว่ามีมานานแล้ว แต่เป็นรูปแบบให้บริการในสถานที่ปิด เช่น อพาร์ตเมนท์ หอพัก โรงแรม คอนโดมิเนียม เป็นการสั่งซื้อเครื่องซักผ้าแบบคอมเมอร์เชียลที่ใช้ในตลาดผู้บริโภคทั่วไป ทั้งฝาบนและฝาหน้าไปติดตั้งระบบหยอดเหรียญเพื่อให้บริการในสถานที่ต่างๆ
แต่จุดนี้ยังมี pain point เรื่องสถานที่ใช้บริการเฉพาะ การซักอาจไม่สะอาด ที่สำคัญไม่มีเครื่องอบผ้า ซักเสร็จแล้วก็ต้องนำไปตากให้แห้ง หากเป็นหน้าฝนก็ลำบากไปอีก แต่มีข้อดีเรื่องราคาต่อครั้งอยู่ที่ 20 – 30 บาท
ธุรกิจร้านเครื่องซักผ้าหยอดเหรียญ 24 ชั่วโมง ที่เป็นรูปแบบอุตสาหกรรมแฟรนไชน์รายแรกๆ ในไทย คือ “คลีน โปร เอ็กซ์เพรส” (Clean Pro Express) จากประเทศมาเลเซีย ที่เริ่มในปี 2552 แต่การขยายอยู่ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ปัจจุบันมีราว 50 สาขา
เทรนด์ “สะดวกซัก-อบ” จบที่เดียว เริ่มมา
แบรนด์ร้านแฟรนไชส์เครื่องซักผ้าหยอดเหรียญที่เข้ามาจุดพลุตลาดนี้เมื่อ 3 ปีก่อน คือ Otteri wash & dry จากการเห็นร้านเครื่องซักผ้าหยอดเหรียญเปิดให้บริการจำนวนมากในประเทศเพื่อนบ้านไทย ทั้งมาเลเซียและสิงคโปร์ ไม่ต้องพูดถึง ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา ที่ให้บริการอย่างแพร่หลายมานานมากแล้ว
กวิน นิทัศนจารุกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท เค-เน็กซ์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด เจ้าของแฟรนไชส์เครื่องซักผ้าหยอดเหรียญ Otteri wash & dry มองว่าสัดส่วนประชากรไทยที่อาศัยในพื้นที่เมืองขยายตัว กลุ่มนี้มีพฤติกรรมชอบความ “สะดวก” จะเห็นได้ว่าธุรกิจร้านสะดวกซื้อทุกแบรนด์ยังเดินหน้าขยายสาขาจำนวนมาก
บริการเครื่องซักผ้าหยอดเหรียญ 24 ชั่วโมง ก็เป็นอีกเทรนด์ “สะดวกซัก” ที่เข้ามาตอบโจทย์ความสะดวกสบายในยุคนี้ เป็นบริการที่อยู่ตรงกลางระหว่างตู้หยอดเหรียญ ตามอพาร์ตเมนท์ คอนโด และบริการของร้าน ซัก อบ รีบ โดยเครื่องซักผ้าหยอดเหรียญ มีบริการซักและอบแห้ง ไม่ต้องนำผ้าไปตากอีก เก็บเข้าตู้ได้เลย ราคาซักเริ่มต้น 40 บาท และอบ 40 บาท
มองว่าบริการเครื่องซักผ้าหยอดเหรียญ ตลาดหลักคือกลุ่มแมส คนที่อาศัยอยู่ในชุมชน อพาร์ตเมนต์ คอนโด กลุ่มนักศึกษา คนทำงานทั่วไป ที่ไม่ต้องการลงทุนซื้อเครื่องซักผ้าและเครื่องอบที่มีราคาแพง รวมทั้งนักท่องเที่ยวก็เป็นอีกกลุ่มลูกค้า บริการนี้สามารถขยายได้ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด เพราะพฤติกรรมการใช้ชีวิตไม่ได้แตกต่างกัน
“ธุรกิจร้านซักผ้าหยอดเหรียญตลาดไทยเพิ่งเริ่มต้น ในตลาดมีราว 300 – 400 สาขา ทั้งแบรนด์ไทย ต่างชาติ ร้านไม่มีเชน หากเปรียบเทียบกับจำนวนประชากรไทยก็ยังขยายได้อีก เชื่อว่าปีนี้ตลาดโตได้อีก 50%”
Otteri เจ้าตลาดปูพรม 1,000 สาขา
สำหรับ Otteri เป็นแบรนด์ไทย ที่เริ่มขยานสาขาแฟรนไชส์ร้านซักผ้าหยอดเหรียญในปี 2559 โดยครอบครัวทำธุรกิจขายเครื่องซักผ้าเพื่ออุตสาหกรรม นำเข้าจากจีนและอเมริกามาทำตลาดขายให้โรงงานอุตสาหกรรม โรงแรม โรงพยาบาล
ปัจจุบัน Otteri ถือเป็นผู้นำในตลาดแฟรนไชส์ร้านเครื่องซักผ้าหยอดเหรียญ ครองส่วนแบ่งตลาด 50% หลังจากเริ่มขยายสาขาเมื่อปี 2559 ปัจจุบันมี 155 สาขา เป็นสาขาลงทุนเอง 25 สาขา ถึงสิ้นปีนี้จะมีแฟรนไชส์ 300 สาขา และลงทุนเอง 40 สาขา วางเป้าหมายปี 2565 มีสาขารวม 1,000 สาขา สัดส่วนกรุงเทพฯ 60% และต่างจังหวัด 40%
การลงทุนแฟรนไชส์มี 2 ขนาด คือ ไซส์ M พื้นที่ 40 – 50 ตร.ม. เครื่องซักผ้า 5 เครื่อง เครื่องอบ 4 เครื่อง ลงทุน 2.3 ล้านบาท และ ไซส์ L พื้นที่ 60 – 90 ตร.ม. เครื่องซักผ้า 7 เครื่อง เครื่องอบ 6 เครื่อง ลงทุน 2.9 ล้านบาท รายได้หลัก 70% ของบริษัทมาจากการขายเครื่องซักผ้าและบริการดูแลรักษาหลังการขายให้กับร้านแฟรนไชส์ และ 30% จากค่าแฟรนไชส์และค่าการตลาด
กลุ่มเป้าหมายผู้ซื้อแฟรนไชส์ ส่วนใหญ่เป็น คนทำงาน ที่ต้องการลงทุนทำธุรกิจเพื่อหารายได้อีกทาง โดยไม่ต้องออกจากงานเดิม เพราะร้านเครื่องซักผ้าหยอดเหรียญไม่ต้องมีพนักงานดูแล เป็นธุรกิจที่คุ้มทุนราว 3 ปี ขึ้นอยู่กับทำเล
“มารุ ลอนดรี้” ชิงเปิดแบรนด์ก่อนเรด โอเชี่ยน
เปิดตัวธุรกิจแฟรนไชส์เครื่องซักผ้าหยอดเหรียญเป็นรายล่าสุด สำหรับ “มารุ ลอนดรี้” (MARU Laundry) ซึ่งเป็นธุรกิจร่วมทุนของ “กันยง” บริษัทจำหน่ายเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้านของไทย ร่วมทุนกับ “อัพยัง” บริษัทอิเล็กทรอนิกส์จากไต้หวัน มีธุรกิจเครื่องซักผ้าหยอดเหรียญในไต้หวันและญี่ปุ่น โดยก่อตั้งบริษัท กันยงอัพยัง จำกัด สัดส่วนถือหุ้นเท่ากัน
ปวริศ โพธิวรคุณ รองประธานกรรมการ บริษัท กันยงอัพยัง จำกัด กล่าวว่า “มารุ ลอนดรี้” เป็นแบรนด์ใหม่ที่พัฒนาขึ้นสำหรับทำตลาดไทย เป็นโมเดลธุรกิจแบบแฟรนไชส์ “ร้านสะดวกซัก” จากไลฟ์สไตล์ของคนไทยที่มีความเร่งรีบ ไม่มีเวลาทำงานบ้าน โดยเฉพาะการซักผ้า การอาศัยในคอนโดมิเนียมมีพื้นที่จำกัดต่อการติดตั้งเครื่องซักผ้า ตลาดไทยจึงมีศักยภาพสำหรับธุรกิจบริการเครื่องซักผ้าหยอดเหรียญ
“มารุ ลอนดรี้” มองตลาดในกลุ่มพรีเมี่ยม เจาะลูกค้าคอนโดแนวรถไฟฟ้า กลุ่มคนรุ่นใหม่และครอบครัว ที่ต้องการซักเสื้อผ้าปริมาณมากสัปดาห์ละ 1 ครั้ง บริการซักและอบแห้งจบในโปรแกรมเดียว เริ่มที่น้ำหนักผ้า 17 กิโลกรัม ราคา 120 บาท
แฟรนไชส์ “มารุ ลอนดรี้” พื้นที่ 50 ตร.ม. เครื่องซักผ้า 6 เครื่อง ลงทุน 3 ล้านบาท ใช้แบรนด์อควา (AQUA) ซึ่งเป็นเครื่องซักผ้าหยอดเหรีญอันดับหนึ่งจากประเทศญี่ปุ่น คาดคืนทุน 3.7 ปี ผลตอบแทน 12% ต่อปี เจาะกลุ่มนักลงทุนที่ต้องการสร้างแหล่งรายได้ที่สองนอกเหนือจากงานประจำ ปีนี้วางเป้าหมายเปิดร้านแฟรนไชส์ 5 – 10 สาขา และปีหน้าเปิดอีก 20 – 50 สาขา ทั้งกรุงเทพฯและต่างจังหวัด
“มองว่าธุรกิจเครื่องซักผ้าหยอดเหรียญยังเป็นตลาดบลูโอเชี่ยน จากพฤติกรรมคนไทยเริ่มใช้บริการสะดวกซัก เช่นเดียวกับญี่ปุ่น สหรัฐ ที่มีสาขาให้บริการจำนวนมาก เชื่อว่าตลาดไทยเปิดได้ปีละ 400 – 500 สาขา มารุ ลอนดรี้ จึงต้องการเข้ามาสร้างตลาดก่อนที่จะมีการแข่งขันสูงและเข้าสู่เรด โอเชี่ยน”
“ไฮเออร์” เปิด Smart Plus ขยายตลาดเครื่องซักผ้า
เห็นโอกาสในธุรกิจไม่ต่างจากรายอื่นๆ สำหรับ “ไฮเออร์” ที่ได้เปิดตัวเข้าสู่ธุรกิจร้านเครื่องซักผ้าหยอดเหรียญอีกราย
จาง เจิ้งฮุ้ย ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ไฮเออร์ อีเลคทริคอล แอพพลายแอนซ์ (ประเทศไทย) จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายเครื่องใช้ไฟฟ้าแบรนด์ ไฮเออร์ จากจีน กล่าวว่าได้เปิดตัวธุรกิจใหม่ในประเทศไทยคือ สมาร์ทพลัสบายไฮเออร์ (Smart Plus by Haier) ร้านเครื่องซักผ้าหยอดเหรียญ 24 ชั่วโมง เป็นช่องทางขยายการตลาดผลิตภัณฑ์และการสร้างแบรนด์ไฮเออร์ รูปแบบนี้มีแล้วที่ อินเดีย
บริษัทลงทุนเปิดสาขาแรกเองที่รามคำแหง ใกล้กับหอพักนักศึกษาที่มีจำนวนมากในย่านนั้น พื้นที่ 50 ตร.ม. ลงทุน 2 ล้านบาท มีเครื่องซักผ้า 10 ตู้ และเครื่องอบผ้า 10 ตู้ เป็นตู้หยอดเหรียญ อนาคตจะเป็นสมาร์ทเซอร์วิส เปิดบริการ 24 ชั่วโมง
ปีนี้วางแผนลงทุนเองให้ครบ 10 สาขา ในอนาคตจะขายแฟรนไชส์และมอบสิทธิให้กับดีลเลอร์ที่สนใจเปิดร้านเพื่อฐานตลาดเครื่องซักผ้า ที่ขณะนี้ไฮเออร์มียอดขายเครื่องซักผ้า 640 ล้านบาท จากมูลค่าตลาดรวมในไทยกว่า 10,000 ล้านบาท