แม้จะมีปัจจัยบวกเลือกตั้งและรัฐบาลใหม่ในปีนี้ ปกติจะเป็นปัจจัยช่วยกระตุ้นการจับจ่ายในกลุ่มผู้บริโภค หนุนให้อุตสาหกรรมโฆษณาเติบโต แต่ผ่านมาครึ่งปียังคง “ติดลบ”
นีลเส็น ประเทศไทย รายงานการใช้งบโฆษณาผ่านสื่อ 6 เดือนแรก (ม.ค. – มิ.ย.) 2562 เปรียบเทียบช่วงเดียวกันปีก่อน พบว่ามีมูลค่ารวม 50,702 ล้านบาท ติดลบ 2%
หากดูเม็ดเงินโฆษณรายสื่อ ส่วนใหญ่ยังอยู่ในภาวะ “ติดลบ” โดย ทีวี ครองเม็ดเงินสูงสุดมูลค่า 33,079 ล้านบาท ลดลง 0.58 % เคเบิล/ทีวีดาวเทียม มูลค่า 1,075 ล้านบาท ลดลง 13.31% วิทยุ มูลค่า 2,178 ล้านบาท ลดลง 3.63% สื่อในโรงภาพยนตร์ มูลค่า 3,681 ล้านบาท ลดลง 4.04%
ขณะที่กลุ่มสื่อสิ่งพิมพ์ยังคงติดลบอัตราสูงสุดต่อไป โดย หนังสือพิมพ์ มูลค่า 2,388 ล้านบาท ลดลง 17.74% ส่วน นิตยสาร มูลค่า 515 ล้านบาท ลดลง 21.13%
สื่อที่โฆษณา “เติบโต”ในช่วงครึ่งปีแรก คือ สื่อนอกบ้าน มูลค่า 3,373 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1.32% สื่อเคลื่อนที่ มูลค่า 3,147 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 6.07% สื่อในห้างฯ 514 ล้านบาท ทรงตัว และ สื่อดิจิทัล มูลค่า 302 ล้านบาท
“ทีวีช้อปปิ้ง” แชมป์เทงบสูงสุด
กลุ่ม “แบรนด์” ที่ใช้งบโฆษณาสูงสุด เป็นธุรกิจ “ทีวี ช้อปปิ้ง” จากการที่ “ทีวีดิจิทัล” เกือบทุกช่องปล่อยเช่าเวลาให้กับธุรกิจไดเร็คเซล และหลายช่องได้ขยายตัวเข้าสู่ธุรกิจนี้ เพื่อโอกาสสร้างรายได้นอกจากโฆษณา
ครึ่งปีแรกแบรนด์อันดับ 1 โฆษณาสูงสุด คือ ทีวีไดเร็ค มูลค่า 738 ล้านบาท ลดลงจากปีก่อน จากการลดการเช่าเวลาในทีวีดิจิทัล ที่มีการดำเนินธุรกิจ ทีวี ช้อปปิ้งเอง โดยมีแบรนด์ Sanook Shopping มาเป็นอันดับ 2 มูลค่า 637 ล้านบาท เริ่มเข้ามารุกตลาดตั้งแต่ปีก่อน
อันดับ 3 เครื่องดื่มโค้ก มูลค่า 587 ล้านบาท 4. ธนาคารออมสิน 535 ล้านบาท 5. โอ ช้อปปิ้ง ธุรกิจโฮมช้อปปิ้งอีกราย ด้วยมูลค่า 528 ล้านบาท
อันดับ 6 ผลิตภัณฑ์ดาวน์นี่ มูลค่า 410 ล้านบาท 7. เป๊ปซี่ มูลค่า 358 ล้านบาท 8. มือถือซัมซุง 339 ล้านบาท 9. รถเก๋งโตโยต้า 327 ล้านบาท และ 10. กระบะฟอร์ด มูลค่า 308 ล้านบาท
กลุ่ม FMCG ยึดท็อปทรี ครึ่งปีแรก
ทางด้าน “องค์กร” ที่ใช้งบโฆษณาสูงสุด ครึ่งปีแรก 2562 เปรียบเทียบช่วงเดียวกันปีก่อน กลุ่มท็อป 3 ยังเป็นยักษ์ใหญ่ในธุรกิจสินค้าอุปโภคบริโภค (FMCG)
อันดับ 1 ยูนิลีเวอร์ (ไทย) โฮลดิ้งส์ มูลค่า 1,490 ล้านบาท แต่ลดลงจากปีก่อนที่ใช้ไป 1,937 ล้านบาท 2. พีแอนด์จี มูลค่า 1,236 ล้านบาท 3. เนสท์เล่ มูลค่า 1,089 ล้านบาท
อันดับ 4 ธุรกิจไดเร็คเซล รวมหลายบริษัท มูลค่า 980 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1,821% จากช่วงเดียวกันปีก่อน 5. โตโยต้า มอเตอร์ มูลค่า 801 ล้านบาท 6. โคคา-โคล่า มูลค่า 762 ล้านบาท 7. ลอรีอัล มูลค่า 761 ล้านบาท
อันดับ 8 ทีวีไดเร็ค มูลค่า 738 ล้านบาท 9. ไบเออร์ดอร์ฟ มูลค่า 697 ล้านบาท และ 10. ตรีเพชรอีซูซุ มูลค่า 662 ล้านบาท
โฆษณา มิ.ย. ทีวีติดลบ 6% ฉุดตลาดวูบ
สำหรับงบโฆษณาเดือนมิถุนายน 2562 มีมูลค่า 9,044 ล้านบาท ติดลบ 5.38% โดยสื่อดั้งเดิมยังอยู่ในภาวะติดลบหนัก สื่อทีวี มูลค่า 5,929 ล้านบาท ลงลง 6.72% เนื่องจากทีวีครองสัดส่วนอุตสาหกรรมโฆษณา 65% จึงทำให้ภาพรวมทั้งตลาดลดลง
เช่นเดียวกับสื่อดั้งเดิมอื่นๆ ที่ยังติดลบ เคเบิล/ทีวีดาวเทียม 174 ล้านบาท ลดลง 20.91% หนังสือพิมพ์ มูลค่า 398 ล้านบาท ลดลง 22.72% นิตยสาร มูลค่า 81 ล้านบาท ลดลง 22.12%
ส่วนสื่อโฆษณาที่ยังเติบโต คือ วิทยุ มูลค่า 418 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1.95% โรงภาพยนตร์ มูลค่า 626 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 6.12% สื่อนอกบ้าน มูลค่า 607 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 6.12% สื่อเคลื่อนที่ มูลค่า 556 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 9.66% สื่อในห้างฯ 97 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 15.48% และ สื่อดิจิทัล มูลค่า 157 ล้านบาท
ทิศทางอุตสาหกรรมโฆษณาปีนี้ “มีเดีย เอเยนซี” ต่างประเมินเม็ดเงินโฆษณาปี 2562 “ไม่โต” โดย สมาคมมีเดียเอเยนซี่และธุรกิจสื่อแห่งประเทศไทย (MAAT) คาดการณ์ปี 2562 มูลค่าอยู่ที่ 116,761 ล้านบาท เท่าปีก่อน เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจยังผันผวน
ดังนั้นคงต้องมาลุ้นครึ่งปีหลังว่าจะฟื้นตัวได้หรือไม่ หลังจาก นีลเส็น รายงาน ครึ่งปีแรกยังติดลบ 2%.
ข่าวเกี่ยวเนื่อง
- โฆษณากุมขมับ ปี 62 ไม่โต หลัง Q1 ใช้งบลดลง 1.53% ทีวีดิ้น หวังพึ่ง “โฮมช้อปปิ้ง” ปั้นรายได้
- มายด์แชร์ จับตา 5 เทรนด์แรง รับมือผู้บริโภคเสพสื่อไม่เหมือนเดิม ฟันธงเม็ดเงินโฆษณาปี 62 ทะลุ 1.24 แสนล้าน
หมายเหตุจากนีลเส็น
นีลเส็น ชี้แจงว่าข้อมูลเม็ดเงินโฆษณา ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2562 เป็นต้นไป ได้เปลี่ยนวิธีการเก็บข้อมูลในสื่อ Internet จากการเก็บในรูปแบบ manual ทีใช้พนักงานเก็บข้อมูลจำนวน 50 website +10 mobile web มาเป็นการใช้เทคโนโลยี Crawler เพื่อจัดเก็บข้อมูลโฆษณาบนเว็บไซต์ จำนวนทั้งหมด 200 เว็บไซต์ ซึ่งจะใช้ชื่อสื่อใหมนี้ว่า ‘Digital’ ซึ่งเป็นสื่อในรูปแบบ Text, Flash, HTML5, Image, Skin, Video และ in banner video ทั้งโฆษณาจาก Direct, Indirect programmatic และนำมาคำนวณตาม Rate card กลาง จากวิธีการคำนวณของทีมนีลเส็น Global
สำหรับภาพรวมการใช้งบโฆษณาผ่านสื่ออินเทอร์เน็ตทั้งหมด ให้อ้างอิงข้อมูลจาก DAAT
สื่อกลางแจ้ง (outdoor) และสื่อเคลื่อนที่ (transit) : มีการรวมข้อมูลจาก JCDecaux สำหรับข้อมูลจากสื่อในสนามบินตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ ปี 2560 และข้อมูลของสื่อ outdoor และ transit จาก JCDecaux ได้ถูกรวมเข้าไว้ในรายงานตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2560
นีลเส็นได้มีการเพิ่มพื้นที่การเก็บข้อมูลสื่อกลางแจ้ง (outdoor) เช่น สื่อเคลื่อนที่ (transit), ป้ายบิลบอร์ด, ป้ายโฆษณาบนทางเท้า, สื่อในสนามบิน และอื่นๆ ตั้งแต่เดือนมกราคมปี 2559 เป็นต้นมา
สื่อในห้าง : นีลเส็นได้มีการเพิ่มข้อมูล สื่อวิทยุในห้าง Big C และ 7 Eleven เข้ามาในฐานข้อมูล ตั้งแต่เดือนมกราคม 2559
ทั้งนี้ ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2558 ข้อมูลของสื่อในห้าง Tesco Lotus และ Big C ไม่ได้รวมอยู่ในฐานข้อมูลของนีลเส็น
ตั้งแต่เดือน มิถุนายน 2559 เป็นต้นมา ได้มีการเพิ่มสื่อที่บริหารจัดการโดยบริษัท Plan B เข้ามาในฐานข้อมูลของสื่อกลางแจ้ง, สื่อเคลื่อนที่ และสื่อในห้างฯ