เมินคนนอก! “ซีอีโอ” แห่เพิ่มทักษะแรงงานองค์กร รับมือดิจิทัล ดิสรัปชั่น

ในยุคเทคโนโลยี ดิสรัปชั่น ทักษะเดิมไม่เพียงพอกับการทำงานในโลกยุคใหม่ การ Reskilling & Upskilling จึงเข้ามามีบทบาทสำคัญและเป็นหัวใจของการอยู่รอดของแรงงงานยุคนี้  

จากรายงาน Talent Trends 2019: Upskilling for a Digital World เป็นส่วนหนึ่งของผลสำรวจประจำปี Annual Global CEO ครั้งที่ 22 ของ PwC สัมภาษณ์ “ซีอีโอ” 3,200 รายในกว่า 90 เมืองทั่วโลก

ภิรตา ภักดีสัตยพงศ์ หุ้นส่วนสายงานที่ปรึกษา บริษัท PwC ประเทศไทย กล่าวว่า จากการสำรวจซีอีโอทั่วโลก ของ PwC ปีนี้ สัดส่วน 79% กังวลว่าการขาดแคลนทักษะแรงงานที่จำเป็นของพนักงานในองค์กร กำลังเป็นภัยคุกคามการเติบโตในอนาคต ซึ่งเพิ่มขึ้นจาก 63% ในปี 2557 จากปัจจัยการเข้ามาของเทคโนโลยีใหม่ๆ ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา

ปัญหาการขาดแคลนแรงงานที่มีทักษะ ถือเป็นความกังวลของซีอีโอทั่วโลก เช่น ซีอีโอจากญี่ปุ่น 95% ยุโรปกลางและตะวันออก 89% กังวลประเด็นนี้มากที่สุด ขณะที่ซีอีโอจากอิตาลี 55% และตุรกี 45% กังวลเรื่องทักษะแรงงานน้อยที่สุด

อย่างไรก็ตาม 55% ของซีอีโอที่มีความกังวลมากที่สุด บอกว่าธุรกิจของพวกเขาไม่สามารถสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และอีก 52% กล่าวว่าต้นทุนค่าใช้จ่ายด้านแรงงานสูงขึ้นรวดเร็วกว่าที่คาดไว้

ภิรตา ภักดีสัตยพงศ์

ปัจจุบันองค์กรไทยกำลังประสบปัญหาการขาดแคลนแรงงานที่มีทักษะ โดยเฉพาะทักษะด้านดิจิทัลเช่นเดียวกับทั่วโลก ทาเลนท์ที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านไม่ว่าจะเป็นการวิเคราะห์ข้อมูล ทักษะด้านคลาวด์คอมพิวติ้ง การเรียนรู้ของเครื่องจักร และการป้องกันความปลอดภัยของข้อมูลกำลังเป็นที่ต้องการมาก ส่วนใหญ่หันมาลงทุนด้านบุคลากรมากขึ้น โดยมีการนำระบบบริหารจัดการบุคลากรเข้ามาใช้ เพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและขยายขีดความสามารถในการวิเคราะห์ทรัพยากรบุคคลขององค์กร

บริษัทไทยหลายรายจัดโปรแกรมฝึกอบรมการเพิ่มทักษะทางด้านดิจิทัลให้แก่พนักงานมากขึ้นด้วย เพื่อปิดช่องว่างทางทักษะและลดความกังวลของพนักงานในการถูกแทนที่ด้วยเทคโนโลยี

 

เพิ่มทักษะแรงงานเดิม “ต้นทุน” ต่ำกว่าหาใหม่

การเพิ่มพูนทักษะใหม่ (Upskilling) และเสริมสร้างทักษะเดิม (Reskilling) กลายเป็นวาระสำคัญของซีอีโอทั่วโลก

ผลสำรวจพบว่า ซีอีโอกำลังปรับเปลี่ยนวิธีปิดช่องว่างทางทักษะความสามารถให้กับแรงงานของตน โดยเกือบครึ่ง หรือ 46% ของซีอีโอทั่วโลกบอกว่า การฝึกอบรมทักษะเดิมที่มีอยู่และการเพิ่มพูนทักษะใหม่ กลายเป็นโครงการที่มีความสำคัญที่สุดในการปิดช่องว่างทางทักษะ ตรงข้ามกันกับผู้บริหารเพียง 18% ที่บอกว่าจะว่าจ้างแรงงานที่มีทักษะจากภายนอกอุตสาหกรรมของตน

การสำรวจปีนี้ยังตรงข้ามกับผลจากการสำรวจในปีที่ผ่านๆ มา ที่ระบุว่า ซีอีโอกำลังมองหาแรงงานที่มีทักษะจากกลุ่มอุตสาหกรรมอื่นๆ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับนวัตกรรมและมีการจ้างแรงงานชั่วคราวจากภายนอก (Gig economy worker)

PwC สหราชอาณาจักร เสริมมุมมองนี้ว่า “แม้ว่าการฝึกอบรมทักษะเดิมที่มีอยู่ให้กับพนักงานจะต้องอาศัยการลงทุน แต่เมื่อเทียบกับทางเลือกอื่นๆ เช่น การจ่ายเงินชดเชยให้กับพนักงานที่ถูกปลด และต้นทุนในการเฟ้นหาพนักงานใหม่ที่มีทักษะที่กำลังเป็นที่ต้องการ มองว่าการฝึกอบรมทักษะเดิมที่มีอยู่เป็นทางเลือกที่น่าสนใจกว่า”

แรงงานทั่วโลกพร้อมฝึกทักษะใหม่

ผลสำรวจพนักงานทั่วโลกจำนวนกว่า 12,000 ราย พบว่าพนักงานยินดีที่จะใช้เวลา 2 วันต่อเดือนในการเข้าฝึกอบรมเพื่อยกระดับทักษะทางด้านดิจิทัลของตนจากนายจ้าง

การหันมาให้ความสำคัญกับการเพิ่มทักษะใหม่นั้น เกิดขึ้นหลังจากการเพิ่มขึ้นของการใช้ระบบออโตเมชั่นและเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ หรือ Artificial Intelligence: AI โดยแม้ว่าเทคโนโลยีเกิดใหม่เหล่านี้ จะเข้ามาแทนที่พนักงานบางตำแหน่งอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่ความคิดเห็นของซีอีโอก็แตกต่างกันไปตามขนาดและความรวดเร็วของการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นนั้นๆ การลงทุนเพิ่มทักษะด้านดิจิทัลเป็นส่วนหนึ่งของสิ่งที่จำเป็นต่อการสร้างแรงงานในอนาคต (Workforce of the future)