สนามเด็กเล่นเงินล้าน ณัฐชัย อึ๊งศรีวงศ์

รูป+มือถือ+เว็บ+แผนที่+ชุมชนทั้ง 5 ส่วนผสมนี้ถูกยำใหญ่ไว้อย่างน่าสนใจบน “สนามเด็กเล่น” เงินล้านของ “ณัฐชัย อึ๊งศรีวงศ์“ หนึ่งในทีมปั้นบริการ PG หรือ Playground โมบายล์แอพพลิเคชั่นแรกในโลกที่ให้ผู้ใช้โทรศัพท์มือถือสามารถส่งภาพขึ้นเว็บไซต์โดยแนบแผนที่จุดที่ถ่ายภาพไว้ด้วย
 
สิ่งที่เกิดขึ้นใน PG คือการรวมตัวของคนชอบดูและคนชอบถ่าย (รูป) ส่วนสิ่งที่กำลังตามมาในอนาคตคือการเปิดให้เสิร์ชแผนที่ได้ว่า ร้านที่ขายอาหารในรูปอยู่ตรงไหน หรืออยากไปเที่ยวแบบในรูปบ้าง ต้องใช้เส้นทางใด
 
นี่คือสนามเด็กเล่นอนาคตไกลในโลกการตลาดชัดๆ
 
แม้จะใช้ชื่อสนามเด็กเล่น แต่เงินลงทุนไม่ใช่เล่น ณัฐชัยควักงบไปแล้วกว่า 10 ล้านบาท ภายใต้การร่วมทุนกับดีแทค PG กำลังจะขยายวงไปสู่ประเทศอื่นในอาเซียนผ่านการเจรจากับโอเปอเรเตอร์ในเครือเทเลนอร์ ก่อนจะไประดับโลกตามที่ฝันไว้
 
“ก่อนทำ PG ผมเขียนโปรแกรมอยู่พักหนึ่ง เรียนจบออกมาเปิดบริษัททำซอฟต์แวร์บนมือถือ 7-8 ปีที่แล้วซิมเบียนไม่มีภาษาไทย พอทำขึ้นมาตลาดก็ต้องการมาก 3-4 ปีที่ผ่านมาเริ่มทำโปรแกรมมือถือชื่อ Smart Chat สำหรับเล่น MSN ทางมือถือ ทำกับดีแทค ตอนนี้ก็ยังมีคนใช้งานอยู่เกือบ 20,000 คน สังเกตว่ามีการส่งรูปไปมาทางมือถือเยอะมาก ก็เลยเกิดไอเดียว่า น่าจะทำให้รูปจากมือถือขึ้นเว็บได้เลย”
 
อย่างไรก็ตาม เขาประเมินว่าบริการออนไลน์ของยาฮูหรือกูเกิลที่เปิดให้บริการฟรีนั้นอาจไม่มั่นคง ปิดตัวลงเมื่อไหร่ก็ได้ จึงเลือกสร้างเว็บเพจของตัวเอง ทั้งที่ไม่เคยทำเว็บเชิงคอมมูนิตี้หรือชุมชนคนออนไลน์มาก่อน เป้าหมายคืออยากให้คนที่อยากแสดงออกมีพื้นที่ มีกิจกรรม สามารถหาเพื่อนได้ เชื่อว่าการได้เห็นรูปจะทำให้สมาชิกมีเรื่องคุยกันมากกว่าการอ่านหรือพิมพ์ข้อความ
 
“การเล่น Hi5 เน้นแต่การคอมเมนต์ไปมา แต่บริการของ PG จะเน้นถ่ายรูปกิจกรรม เชื่อว่ารูปถ่ายจะทำให้มีเรื่องคุยมากกว่า อนาคตเราจะจัดกลุ่มสมาชิก เป็นกลุ่มที่ชอบเที่ยว ชอบกิน เราไม่หยุดนิ่งที่จะพัฒนา”
 
ปัจจุบัน 300,000 รายนั้นรู้จัก PG แบบปากต่อปาก สมาชิกที่แอคทีฟเป็นประจำอยู่ที่ 10,000 คนต่อเดือน
 
“PG เป็นโปรเจกต์ที่ใหญ่ที่สุดที่เคยทำมา ใช้โปรแกรมเมอร์ 15-16 คน กราฟิกอีก 2-3 คน ลงทุนไปแล้วเกือบ 10 ล้านบาทส่วนใหญ่เป็นค่าจ้างโปรแกรมเมอร์ ถ้าถามว่าพอใจไหมก็พอใจในระดับหนึ่งเราเพิ่งให้บริการจริงเมื่อเดือนตุลาคมปีที่แล้ว ยูเซอร์โตระดับหนึ่งแต่ก็ยังไม่ถึงระดับ Well-Known รายได้ไม่เยอะมาก เว็บคอมมูนิตี้ต้องใช้เวลาในการตั้งตัว ดูอย่างยูทูบตอนนี้ยังสร้างรายได้ไม่ได้เลย”
 
แต่ PG สามารถสร้างเงินได้อย่างน่าสนใจ ไม่ใช่เงินค่าบริการจากการส่งรูป แต่เป็นส่วนแบ่งค่า GPRS จากโอเปอเรเตอร์ ซึ่งแบ่งกันระหว่างโอเปอเรเตอร์และ PG ผู้บริโภคก็รู้สึกว่าได้ (ใช้ฟรี) และอนาคตยังมีรายได้จากโฆษณาในอนาคตตามมาด้วย
 

ด้วยวิธีการนี้ และการรับผลิตซอฟต์แวร์ที่เกี่ยวข้องกับแผนที่ ณัฐชัยบอกว่า “ครีเอ้” ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนระหว่างบริษัทดั้งเดิมของณัฐชัยนามครีเอทีฟเทคโนโลยีกับดีแทคนั้นสามารถทำรายได้ราว 30 ล้านบาทในปีที่ผ่านมา บนอัตราเติบโตมากกว่า 100% ต่อปี
 
“ปีแรกที่ทำกับเพื่อน 2 คน รายได้ปีนั้นคือ 40,000 บาท เงินจดทะเบียนตั้งบริษัท 250,000 บาท ไปขอยืมพ่อแม่คนละ 120,000 ปี เอาเงินมาซื้อคอมพ์ ซื้อโต๊ะ ปีต่อๆ มาทำรายได้เป็น 1 ล้าน 4 ล้าน 7 ล้าน จนมาถึง 30 ล้าน ที่ทำได้แบบนี้เพราะเราทำออกมาแล้วคนต้องการ ตอนที่เรียนจบมาเพื่อนหลายคนไปสมัครบริษัทเขียนเกม เราเองก็อยากเขียนเกมเหมือนกันแต่มองว่าคนเขียนเกมกันเยอะ ซึ่งตอนนี้บริษัทเขียนเกมก็ล้มหายกันไปหลายบริษัท ตอนที่เรียน อาจารย์ยืน (ยืน ภู่วรวรรณ) ก็ปลูกฝังว่าเปิดบริษัทดีกว่าไปสมัครเป็นพนักงานบริษัท ประกอบกับตอนเรียนที่รับงานก็เห็นว่ามีลู่ทางโตอยู่แล้ว”
 
ณัฐชัยจึงย้ำว่า การจะเป็น “Start Up” หรือก่อตั้งบริษัทใหม่บนโลกไอทีนั้นสิ่งสำคัญที่สุดคือไอเดีย ต้องเป็นนวัตกรรมที่ไม่ได้คัดลอกใคร และเป็นสิ่งที่ผู้บริโภคจำเป็นต้องใช้งาน
 
“อย่าทำเพราะอยากทำเฉยๆ จะเปิดธุรกิจต้องมองตลาด ยุคนี้ผมว่าเริ่มได้ง่ายกว่ายุคของผม เพราะมีหนังสือที่พูดถึงการเปิดบริษัทเยอะพอสมควร ขอย้ำว่าต้องอดทน ถ้าคิดว่าเป็นทางที่เลือกแล้วและไอเดียดีจริงๆ ก็อย่าท้อ อย่าไปดูเพื่อนหรือฟังเสียงเหยียดหยาม”
 
ณัฐชัยบอกว่าความประทับใจของการปั้น PG ในวันนี้คือเสียงชมจากผู้ใช้จริงที่มีการโทรศัพท์เข้ามาบอกต่อเนื่อง สำหรับปัญหาที่พบคือการที่เว็บไซต์ PG เป็นสิ่งที่อธิบายด้วยคำพูดยาก ผู้ใช้ต้องลงมือใช้งานจริงจึงจะเข้าใจ การโปรโมตจึงทำได้ยาก
 
“แต่เราก็ลงมือปรับให้ง่ายขึ้นแล้ว แม้จะยังแก้ปัญหาได้ไม่หมด สองคือทีมงานไม่เคยทำโปรแกรมที่ใหญ่ขนาดนี้ ต้องจัดสรรทีม การบริหารงานไม่ง่ายเลย สามคือปัญหาเศรษฐกิจ มีผลมากเพราะ PG เป็นบริการเสริมที่ผู้ใช้ต้องเสีย GPRS ยอดตรงนี้ตกเพราะคนต้องประหยัด เศรษฐกิจไม่ดีการโปรโมตก็ทำได้ไม่มากเหมือนที่เคย”
 
ไอดอลที่ณัฐชัยยืดเป็นแบบอย่างในการทำงานไม่ใช่ บิล เกตส์ หรือ สตีฟ จ็อบส์ แต่เป็น แอนดี้ โกรฟ์ ผู้ก่อตั้งอินเทลที่กล่าวว่า “Only Paranoid Survive” ซึ่งกลายเป็นหลักในการทำงานของณัฐชัยในวันนี้
 
“คนที่ตื่นตัวตลอดเวลาเท่านั้นที่จะอยู่รอด เราจะมานั่งเฉยๆ ไม่ได้ มีอยู่แค่โปรดักต์เดียวไม่ได้ จริงๆ เป้าหมายหลักของผมคือการทำให้คนใช้เยอะ จริงๆ PG พยายามออกไปขายเมืองนอกเพื่อให้สามารถใช้งานทั่วโลกได้จริง บิล เกตส์ หรือ สตีฟ จ็อบส์ ก็เป็นไอดอลผมในแง่ที่เขาสามารถสร้างสิ่งที่นำไปใช้ได้จริงทั่วโลก มีหลายบริการที่ไม่ได้มาจากอเมริกาแต่ก็ถูกใช้งานทั่วโลกได้ เราจะเริ่มไปอาเซียนก่อน ที่ผ่านมามีคุยกับเครือเทเลนอร์ในมาเลเซียและฟิลิปปินส์แล้ว มีโอกาสสูงเพราะคนในอาเซียนมีไลฟ์สไตล์คล้ายกัน “
 
ณัฐชัยบอกว่า PG นั้นไม่ได้รับการช่วยเหลือจากหน่วยงานสนับสนุนอุตสาหกรรมไอทีไทยใดๆ เนื่องจากดำเนินธุรกิจไม่เข้าข่ายที่หน่วยงานเหล่านี้โหมสนับสนุน เช่น ธุรกิจเกมและแอนิเมชั่น จุดนี้ณัฐชัยบอกว่า หากหน่วยงานรัฐไม่ยึดติดกับหลักการ แล้วลงมือหนุนคนที่เริ่มดำเนินการจริงมาแล้ว เชื่อว่าอุตสาหกรรมไอทีไทยจะมีบริษัทเกิดใหม่อนาคตไกลมากกว่าที่เป็นอยู่
 

Profile

Name : ณัฐชัย อึ๊งศรีวงศ์
Age : 29 ปี
Career Highlight : ไม่เคยทำงานเป็นลูกจ้างมาก่อน
Education : ปริญญาตรี วิศวกรรมคอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
Lifestyle : ตระเวนกิน ท่องเที่ยว และสังสรรค์กับพี่น้อง
 

PG ทำอะไรได้บ้าง
 
Playground คือบริการที่ให้คุณถ่ายรูปหรือวิดีโอจากโทรศัพท์มือถือแล้วอัพโหลดขึ้นมาอวดเพื่อนได้เห็นทันทีที่ www.pg.in.th บนเว็บจะมีการแสดงข้อมูลแผนที่จุดที่ถ่ายภาพบนแผนที่ Google Map สามารถเลือกให้รูปบางรูปไปปรากฏบนเว็บเครือข่ายสังคมทั้ง Hi5 Facebook หรือ Twitter ได้ด้วย สนุก สะดวก สบายโดยไม่ต้องใช้สายโอนรูปจากโทรศัพท์มายังคอมพ์