เปิดตัวเลขแพลตฟอร์มออนไลน์ทีวีดิจิทัล มิ.ย. จำนวนผู้ชม “ไทยรัฐทีวี” สูงสุด “เวิร์คพอยท์” แชมป์ยอดวิว

พฤติกรรมการรับชมคอนเทนต์ทีวี ผ่านแพลตฟอร์มดิจิทัลมีตัวเลขขยับขึ้นต่อเนื่อง สะท้อนได้จากรายการการวัดเรตติ้ง คอนเทนต์ ออนไลน์ของ “นีลเส็น” ร่วมกับ 3 ช่อง “ทีวีดิจิทัล” เดือนมิถุนายน จำนวนผู้ชมเพิ่มขึ้น 5 – 6% จากเดือนก่อน

สำนักนโยบายและวิชาการกระจายเสียงและโทรทัศน์ (วส.) สำนักงาน กสทช. รายงานข้อมูลการวัดค่าความนิยม (Rating) ระบบออนไลน์ รายการที่นำมาออกอากาศบนแพลตฟอร์มดิจิทัล ทั้งแบบสด (Live Streaming) และแบบดูย้อนหลัง ผ่านทางเว็บไซต์ โซเชียลมีเดีย และแอปพลิเคชั่น บนอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ แท็บเล็ต สมาร์ทโฟน และคอนเน็คเต็ด ดีไวซ์ (Connected Devices) เช่น Apple TV หรือ Android Box เดือนมิถุนายน 2562 ของทีวีดิจิทัล 3 ช่อง ซึ่งร่วมจัดทำระบบเรตติ้งออนไลน์กับนีลเส็น ได้แก่ ช่อง 7, เวิร์คพอยท์ทีวี และช่องไทยรัฐทีวี สรุปผลดังนี้

ช่อง 7 มียอดรับชมเป็นจำนวนคน แบบไม่นับซ้ำ (Unique Audience หรือ UA) บนแพลตฟอร์มดิจิทัล จำนวน 17.3 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 6% ผู้ชมส่วนใหญ่อายุ 21 – 34 ปี ยอดรับชมแบบนับซ้ำหรือยอดวิวรวม 288 ล้านครั้ง แบ่งเป็นยอดวิวเพศหญิง 200 ล้านครั้ง และเพศชาย 88 ล้านครั้ง

รายการยอดนิยมสูงสุด ละครเย็น “ขิงก็รา ข่าก็แรง” และละครไพรม์ไทม์หลังข่าวค่ำ เช่น ผู้บ่าวอินดี้ ยาหยีอินเตอร์

ไทยรัฐทีวี มียอดรับชมรายการแบบไม่นับซ้ำบนแพลตฟอร์มดิจิทัล จำนวน 30.1 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้า 5% ส่วนใหญ่ช่วงอายุ 21 – 39 ปี มียอดวิวประมาณ 608 ล้านครั้ง แบ่งเป็นยอดวิวของเพศหญิง 285 ล้านครั้ง และชาย 323 ล้านครั้ง

รายการที่ได้รับความนิยมทางออนไลน์ อยู่ในกลุ่มข่าวทั่วไป ตามด้วยข่าวบันเทิง กีฬา ไลฟ์สไตล์

เวิร์คพอยท์ทีวี มียอดรับชมแบบไม่นับซ้ำบนแพลตฟอร์มดิจิทัล 27.7 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้า 5% ส่วนใหญ่อายุ 25 – 29 ปี มียอดวิวรวม 938 ล้านครั้ง แบ่งเป็นเพศหญิง 423 ล้านครั้ง และชาย 515 ล้านครั้ง

รายการที่ได้รับความนิยมดูย้อนหลังมากที่สุดในเดือนมิถุนายน คือ The Mask Singer ตามด้วย I Can See Your Voice ไมค์ทองคำ หมอลำฝังเพชร ตลก 6 ฉาก

โฆษณาทีวีดิจิทัล มิ.ย. เกือบ 6 พันล้าน

สำหรับมูลค่าการโฆษณาทีวีดิจิทัลเดือนมิถุนายน 2562 มียอดรวม 5,927 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าประมาณ 197 ล้านบาท

มูลค่าการโฆษณาแบ่งตามประเภทช่องรายการ พบว่าช่องสาธารณะมีมูลค่า 300 ล้านบาท ช่องข่าวสารและสาระ 203 ล้านบาท ช่องเด็ก เยาวชน และครอบครัว 44 ล้านบาท ช่องวาไรตี้ SD 1,590 ล้านบาท และวาไรตี้ HD 3,790 ล้านบาท