ยึดพื้นที่! เทรนด์ธุรกิจ “สะดวกซื้อ-ซัก-ตู้กด” บุกหนัก รับพฤติกรรมผู้บริโภค “เน้นสบาย”

แนวโน้มการขยายตัวของประชากรไทยอาศัยในพื้นที่เมือง ปี 2563 จะมีสัดส่วนแตะ 50% อีกทั้งเทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทสำคัญในทุกอุตสาหกรรม ทำให้ไลฟ์สไตล์ผู้บริโภคเปลี่ยนไป ต้องการความสะดวกทุกด้าน ทั้งการจับจ่ายสินค้าและการใช้เซอร์วิสต่างๆ

ดร.เอกก์ ภทรธนกุล อาจารย์ประจำภาควิชาการตลาด คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และที่ปรึกษาด้านแบรนด์ กล่าวว่า พฤติกรรมผู้บริโภคยุคนี้ มีไลฟ์สไตล์ ที่ต้องการ “ความสะดวก” ทุกด้าน การเปลี่ยนแปลงที่เห็นได้ชัดเจน คือในฝั่งธุรกิจค้าปลีก ที่หันไป ช้อป ออนไลน์ มากขึ้น ธุรกิจค้าปลีกต้องแข่งขันพัฒนาทั้งอีคอมเมิร์ซและระบบส่งสินค้าให้เร็วที่สุด “แจ็ค หม่า” แห่งอาลีบาบา ย้ำว่าระยะเวลาส่งที่ลูกค้าพอใจ ต้องทำให้ได้ภายใน 30 นาที โดยยึดต้นแบบมาจากการสั่งพิซซ่า เดลิเวอรี่ ที่สร้างการรับรู้และระยะเวลารอคอยของตัวเลขดังกล่าว

เพย์เมนต์ “สะดวก” ได้อีก

สำหรับค้าปลีก Physical Store ทุกประเภท ปัจจุบันต้องยอมรับว่าการจับจ่าย ยังมีความไม่สะดวกเรื่องการ “จ่ายเงิน” ที่ต้องเสียเวลารอคิว ซึ่งต่อไปจะมีเทคโนโลยีมารองรับให้จ่ายสะดวกมากขึ้น ร้านสะดวกซื้อ 7-Eleven ได้พัฒนาต้นแบบสาขาที่ไม่ต้องต่อคิวจ่ายเงิน ที่ True Digital Park ใช้เทคโนโลยี Face Recognition แสดงตัวตน ลูกค้าเข้ามาหยิบสินค้าแล้วออกไปได้เลย ตัดเงินอัตโนมัติผ่าน All Member รูปแบบเดียวกับ Amazon Go ในสหรัฐฯ

ซูเปอร์มาร์เก็ต ในฝั่งยุโรป ทั้งสวิตเซอร์แลนด์ ฝรั่งเศส ได้ติดตั้งเทคโนโลยีเครื่องยิงบาร์โค้ดจ่ายเงินไว้บนรถเข็น เมื่อหยิบสินค้าจากชั้นวาง ก็นำมาสแกนบาร์โค้ดจ่ายเงินที่เครื่องได้ทันที เมื่อซื้อสินค้าเสร็จก็จ่ายด้วยบัตรเครดิต ทำให้ผู้บริโภคสะดวกในการจับจ่าย ไม่ต้องนำสินค้าออกจากรถเข็นไปจ่ายเงิน

“เทคโนโลยีจ่ายเงินที่สะดวกไม่ต้องรอคิว ทำให้ความไม่สะดวกสบาย ที่เกิดขึ้นในร้านค้าปลีกน้อยลง”

สิ่งที่จะเห็นการเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง คือ ระบบเพย์เมนต์สามารถพัฒนาให้สะดวกได้อีก ต่อไปรูปแบบการจ่ายเงินในร้านค้าปลีกจะใช้เทคโนโลยี Biometrics การระบุตัวตนแบบอัจฉริยะโดยใช้ข้อมูลทางกายภาพของบุคคล มาใช้ในระบบจ่ายเงินมากขึ้น

แม้ Physical Store จะนำเสนอเทคโนโลยีที่สร้างความสะดวกให้แล้วจำนวนมาก แต่ก็ยังมี “ความไม่สะดวก” ที่เกิดขึ้น จากการต้องคิดว่าจะซื้ออะไร ดังนั้นความสะดวกต่อไปจึงเป็นเรื่องของ Mental Convenience คือไม่ต้องคิดเอง เพราะเทคโนโลยีและดาต้าที่เก็บข้อมูลไว้ ทำให้ระบบสามารถคิดและนำเสนอความต้องการได้ จากสิ่งที่เคยซื้อประจำและสิ่งที่สนใจซื้อจากการค้นหาข้อมูลของผู้บริโภคเอง

“อินไซต์ของผู้บริโภคที่เกิดขึ้นทั่วโลก ทุกคนไม่ได้อยากลำบาก ต้องการความสะดวกสบาย เทคโนโลยีและดาต้า จะเข้ามาตอบโจทย์พฤติกรรมเหล่านี้ได้ดี”

ร้านสะดวกซื้อเปิดศึกชิงทำเล-เพิ่มเซอร์วิส

สำหรับธุรกิจตอบโจทย์เทรนด์ “สะดวก” ยุคแรก ต้องยกให้ “ร้านสะดวกซื้อ” หรือ Convenience Store แบรนด์เบอร์หนึ่งของโลก 7-Eleven ที่เข้ามาเปิดสาขาแรกในไทยครั้งแรกปี 2532 หรือกว่า 30 ปี ถือสิทธิ์แฟรนไชส์โดยเครือซีพี

ปีนี้ 7-Eleven วางแผนเปิดร้านใหม่รวม 700 สาขา ใช้งบลงทุน 4,000 ล้านบาท ทำให้สิ้นปี 2562 7-Eleven จะมีถึง 11,688 สาขา วางเป้าหมายปี 2564 มีสาขารวม 13,000 สาขา จำนวนสาขา 7-Eleven ในไทยเป็นอันดับ 2 รองญี่ปุ่นประเทศเดียวที่มีสาขา กว่า 20,000 สาขา

เป้าหมาย 7-Eleven ที่ยังเปิดสาขาต่อเนื่องปีละ 700 สาขา แม้ปัจจุบันมีสาขากระจายอยู่ในทุกตรอกซอยแล้วก็ตาม บางทำเลตั้งอยู่ใกล้กัน หรือคนละฝั่งถนน ถือเป็นยุทธศาสตร์กวาดกำลังซื้อหนาแน่นและกัน “คู่แข่ง” ไปในตัว

ไม่เพียงขายสินค้า อาหารและเครื่องดื่ม ที่มียอดขายเป็นสัดส่วน 70% เท่านั้น แต่ 7-Eleven เพิ่มเติมเซอร์วิสใหม่ๆ เข้ามาให้บริการอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็น “แบงกิ้งเอเย่นต์” รับฝาก-ถอนเงิน, บริการรับส่งพัสดุ Speed D, บริการเครื่องถ่ายเอกสาร, จุดรับซัก อบ รีด, จุดคืนภาษีนักท่องเที่ยว, ร้านขายยา เพื่อให้บริการความสะดวกทุกรูปแบบ นอกจากการเป็นร้าน “อิ่มสะดวก” 24 ชั่วโมง

สมรภูมิค้าปลีกวันนี้ ผู้ประกอบการในตลาดต่างมองโอกาสการเติบโตไปที่ “ไซส์เล็ก” เพราะฟอร์แมต “ไฮเปอร์มาร์เก็ต” ก็ไม่สามารถเปิดได้ในหลายพื้นที่ จึงไม่สะดวกต่อการเข้าถึงของผู้บริโภค สินค้าและชั้นวางจำนวนมากทำให้ต้องใช้เวลาเลือกซื้อ เมื่อถึงชั้นวางมีสินค้าจำนวนมาก ทำให้ต้องเสียเวลาคิดอีก ค้าปลีกไซส์ใหญ่จึงไม่สอดคล้องกับเทรนด์ “สะดวก” ของผู้บริโภคในยุคนี้

สะท้อนได้ชัดเจนจาก “เทสโก้ โลตัส” ประกาศขอโฟกัสขยายสาขาไซส์เล็ก “เทสโก้ โลตัส เอ็กซ์เพรส” เซ็กเมนต์เดียวกับคอนวีเนี่ยนสโตร์

สมพงษ์ รุ่งนิรัติศัย ประธานกรรมการบริหาร เทสโก้ โลตัส มองว่าค้าปลีกคอนวีเนี่ยนสโตร์ ที่เข้ามาตอบโจทย์สังคมเมืองขยายตัว ยังมีโอกาสเติบโตได้อีก ปัจจุบันมีสาขา Express แล้ว 1,600 สาขา ทั่วประเทศ ภายใน 3 ปีนี้ จะเปิดเพิ่มอีก 750 สาขา หรือเฉลี่ยปีละ 250 สาขา สปีดเร็วขึ้นกว่าเดิม 5 เท่าตัว” จากเดิมที่เปิดปีละ 50 สาขา ดังนั้นภายใน 3 ปีนี้ จะมี Tesco Lotus Express รวม 2,350 สาขา

สาขาโฉมใหม่ใช้คอนเซ็ปต์สินค้า For Now เพิ่มกลุ่มอาหารสดพร้อมรับประทานทันทีเข้ามามากขึ้น พร้อมทั้งให้บริการ “ร้านกาแฟ” Tesco Coffee โดยใช้ผลิตภัณฑ์เมล็ดกาแฟจากดอยตุง บริการไปรษณีย์ 24 ชั่วโมง โดยเป็นจุดรับส่งของไปรษณีย์ไทย นอกจากนี้ “แดรี่ ควีน” ได้เข้ามาเข้าพื้นที่ให้บริการอีกด้วย

พลิกกลยุทธ์สู้ไม่ถอยในตลาดร้านสะดวกซื้อเช่นกัน สำหรับ ลอว์สัน (Lawson) แบรนด์เบอร์ 3 ในตลาดญี่ปุ่นที่มีกว่า 15,000 สาขา แต่เพิ่งเข้าสู่ตลาดไทย ในปี 2556 โดยเป็นพันธมิตรร่วมทุนกับเครือสหพัฒน์

โคอิชิ ฮิโรเซะ กรรมการผู้จัดการ บริษัท สห ลอว์สัน จำกัด ผู้บริหารร้าน “ลอว์สัน 108” ในประเทศไทย กล่าวว่า แม้วันนี้ตลาดคอนวีเนี่ยนสโตร์ในไทยเข้าสู่วิกฤติการแข่งขัน ทั้งทำเลที่มีรายใหญ่ยึดพื้นที่เปิดสาขาทั่วประเทศ และวิกฤติต้นทุนค่าเช่าพื้นที่ โดยเฉพาะในเมืองที่ขยับขึ้นทุกปี แต่ลอว์สันก็ยังเห็นโอกาสในตลาดนี้ เพราะเป็นค้าปลีกที่ตอบโจทย์ความสะดวก

หนึ่งในกลยุทธ์การขยายสาขาจึงจับมือกับพันธมิตร เพื่อช่วยสร้าง “จุดแข็ง” ให้ลอว์สันในการขยายสาขา ไม่ว่าจะเป็นการขยายสาขาในสถานีรถไฟฟ้า MRT และ BTS ใน 2 – 3 ปี วางเป้าหมาเปิดสาขาบนบีทีเอส 30 สาขา เรียกว่าเป็นทำเล exclusive เฉพาะลอว์สันเท่านั้น ทำให้ได้เปรียบเรื่องโลเคชั่น ในพื้นที่ระบบขนส่งมวลชน ที่มีผู้ใช้บริการจำนวนมาก ตอบโจทย์สะดวกซื้อในช่วงเวลาเดินทาง

รวมทั้งความสะดวกด้านเพย์เมนต์ ทั้งบนรถไฟฟ้าบีทีเอสและสาขาทั่วไป สามารถจ่ายค่าสินค้าผ่าน Rabbit Line Pay

แม้ปัจจุบันประเทศไทยจะมีร้านสะดวกซื้อกว่า 20,000 สาขา แต่ยังมีโอกาสเปิดเพิ่มได้อีก เพราะหากเปรียบเทียบกับประเทศญี่ปุ่น ที่ปัจจุบันมีประชากร 120 ล้านคน มีร้านสะดวกซื้อกว่า 50,000 สาขา โดยเฉลี่ยร้านสะดวกซื้อ 1 สาขา รองรับประชากร 2,000 คน นั่นเท่ากับว่าประเทศไทยยังมีโอกาสเปิดสาขาร้านสะดวกซื้อรวมได้กว่า 33,000 สาขา จากจำนวนประชากร 67 ล้านคน

“สะดวกซัก” กำลังโต

บริการ “ร้านซักผ้าหยอดเหรียญ” 24 ชั่วโมง ในต่างประเทศให้บริการกันอย่างแพร่หลาย แต่ในไทยเริ่มเห็นสาขาให้บริการหนาตามากขึ้น โดยเฉพาะช่วง 2 – 3 ปีนี้ จากการขยายแฟรนไชส์ของทั้งผู้ประกอบการไทยและต่างชาติ ที่เห็นเทรนด์พฤติกรรมคนไทยหันมาใช้บริการ “สะดวกซัก” มากขึ้น อีกทั้งเป็นอีกธุรกิจที่คนสนใจลงทุน สร้างแหล่งรายได้อีกทาง

กวิน นิทัศนจารุกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท เค-เน็กซ์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด เจ้าของแฟรนไชส์เครื่องซักผ้าหยอดเหรียญ Otteri wash & dry มองว่า สัดส่วนประชากรไทยที่อาศัยในพื้นที่เมืองเพิ่มขึ้น กลุ่มนี้มีพฤติกรรมชอบความ “สะดวก” และบริการเครื่องซักผ้าหยอดเหรียญ ก็เป็นอีกเทรนด์ “สะดวกซัก” ที่เข้ามาตอบโจทย์ในยุคนี้ เป็นบริการที่อยู่ตรงกลางระหว่างตู้หยอดเหรียญ ตามอพาร์ตเมนต์ คอนโด และบริการของร้าน ซัก อบ รีบ โดยเครื่องซักผ้าหยอดเหรียญ มีบริการซักและอบแห้ง ไม่ต้องนำผ้าไปตากอีก เก็บเข้าตู้ได้เลย ราคาซักเริ่มต้น 40 บาท และอบ 40 บาท

ตลาดหลักคือกลุ่มแมส คนที่อาศัยอยู่ในชุมชน อพาร์ตเมนต์ คอนโด กลุ่มนักศึกษา คนทำงานทั่วไป ที่ไม่ต้องการลงทุนซื้อเครื่องซักผ้าและเครื่องอบที่มีราคาแพง และไลฟ์สไตล์คนไทยที่มีความเร่งรีบ ไม่มีเวลาทำงานบ้าน โดยเฉพาะการซักผ้า การอาศัยในคอนโดมิเนียมมีพื้นที่จำกัดต่อการติดตั้งเครื่องซักผ้า

ธุรกิจร้านซักผ้าหยอดเหรียญเพิ่งเริ่มต้น ในตลาดมีราว 300 สาขา ทั้งแบรนด์แฟรนไชส์ไทย ต่างชาติ และร้านไม่มีเชน หากเปรียบเทียบกับจำนวนประชากรโอกาสการขยายตัว เพื่อตอบโจทย์ “สะดวกซัก” ก็ยังมีอีกมาก

“เวนดิ้ง แมชชีน” รับเทรนด์ผู้บริโภคซื้อด่วน

อีกธุรกิจที่เข้าตอบเทรนด์สะดวก คือ เครื่องจำหน่ายสินค้าอัตโนมัติ (Vending Machine) ที่ตอบโทจย์พฤติกรรมการซื้อสินค้าแบบด่วน ให้บริการ 24 ชั่วโมง

ปัจจุบันตลาดไทยมีเวนดิ้ง แมชชีน ราว 20,000 ตู้ ผู้ที่เข้ามาทำตลาดรายแรกๆ เมื่อ 20 ปีก่อน คือ SUN108 ในเครือสหพัฒน์ โดยใช้โนว์ฮาวจากญี่ปุ่น อีกรายใหญ่คือ T.G. Vending ของกลุ่ม TCP (กระทิงแดง) เริ่มมาตั้งแต่ในปี 2539

ส่วนรายใหญ่ที่เข้าสู่ธุรกิจนี้ล่าสุด คือ CP โดย CP Retailink ที่เริ่มวางตู้ช่วงต้นปีนี้ ชูเทคโนโลยีรับชำระเงินทุกรูปแบบ ทั้งเงินสด E-Wallet QR Code โดยทดลองวางตู้ไปแล้ว 120 ตู้ทั่วประเทศ ทำเลโรงเรียน โรงพยาบาล อาคารสำนักงานต่างๆ ทั้งหมด 5 โมเดล ได้แก่ ตู้ 7-Eleven ขายสินค้าทั่วไป, Duck Land อาหารที่เกี่ยวกับเป็ด เช่น ข้าว บะหมี่, Farm Mee ขายอาหารเพื่อสุขภาพ, Araebtia ขายกาแฟ ทั้งกาแฟมวลชนหรือ All Café และ Bear Box เป็นของใช้ทั่วไป

สมบัติ ภาณุพัฒนา รองผู้อำนวยการสายงานการตลาด บริษัท ซัน ร้อยแปด จำกัด ผู้ดำเนินธุรกิจเวนดิ้ง แมชชีน ในเครือสหพัฒน์ กล่าวว่า ธุรกิจ เวนดิ้ง แมชชีน เริ่มคึกคักในช่วง 2 – 3 ปีที่ผ่านมา จากการพัฒนาเทคโนโลยี Cashless จ่ายเงินผ่าน อี-วอลเล็ต หรือ คิวอาร์โค้ด ทำให้สะดวกจ่ายเงินมากขึ้น อีกทั้งตอบสนองพฤติกรรมผู้บริโภค ที่ต้องการความสะดวกรวดเร็ว ซื้อสินค้าได้ 24 ชั่วโมง

“คนที่ซื้อสินค้าจากเวนดิ้ง แมชชีน มีความตั้งใจซื้ออยู่แล้ว ไม่มีพฤติกรรมเลือกซื้อสินค้าเหมือนช่องทางค้าปลีกอื่นๆ จึงไม่ต้องการรอคิวจ่ายเงิน เป็นคนที่มีพฤติกรรมชอบความสะดวกและซื้อด่วน จะว่าไปแล้วซื้อจากตู้เร็วกว่าร้านสะดวกซื้อ ยิ่งตู้รูปแบบใหม่เป็น Cashless ทำให้สะดวกจ่ายขึ้นอีก”