ไม่กี่วันที่ผ่านมาชาวเวียดนามได้รู้จักโซเชียลมีเดียมีเดียตัวใหม่ ที่ถูกสร้างโดยบริษัทท้องถิ่นโดยตั้งชื่อว่า “Gapo” โดยใช้งบลงทุนกว่า 22 ล้านดอลลาร์ หรือราว 680 ล้านบาท โดยมีเป้าหมายเพื่อพยายามเปลี่ยนผู้ใช้ไปสู่แพลตฟอร์มท้องถิ่น ท่ามกลางผู้เล่นระดับโลกในตลาด
Gapo (กาโป) เป็นแอปพลิเคชันบนโทรศัพท์มือถือที่ผู้ใช้งานสามารถสร้างโปรไฟล์ส่วนตัวและแชร์โพสต์ต่างๆ บนฟีดข่าวแบบเดียวกับ Facebook ถึงแม้จะมีความคล้ายคลึงกันแต่บริษัทที่สร้างขึ้นระบุว่า ไม่มีเจตนาที่จะแข่งขันกับเครือข่ายสังคมออนไลน์รายใด แต่มีความตั้งใจที่จะให้ทุกคนใช้งานเครือข่ายสังคมออนไลน์หลากหลายช่องทางขึ้น
“ผู้ใช้งานชาวเวียดนามและองค์กรต่างๆ พึ่งพา Facebook มากเกินไปเพราะไม่มีเครือข่ายสังคมออนไลน์ให้พวกเขาเลือกใช้มากนัก” Ha Trung Kien ซีอีโอของ Gapo กล่าว
แต่เพียงไม่กี่ชั่วโมงหลังเปิดตัวแอป Gapo ในช่วงค่ำของที่ 23 กรกฎาคมที่ผ่านมา เว็บไซต์ก็ประสบปัญหาทางเทคนิค เนื่องจากผู้ใช้งานพยายามลงทะเบียนเข้าใช้พร้อมกันเป็นจำนวนมาก ซึ่งผู้ใช้งานบางรายไม่สามารถลงทะเบียนได้ ขณะที่อีกหลายคนไม่สามารถใช้งานฟังก์ชันบางอย่างของแอปได้
ปัญหานี้เกิดขึ้นท่ามกลางความฝันของ Gapo ที่ตั้งเป้ามียอดผู้ใช้งาน 3 ล้านรายภายในปี 2019 และภายในเดือนมกราคม 2021 คาดจะมีผู้ใช้เพิ่มขึ้นเป็น 20 ล้านราย
การเปิดตัวของ Gapo เกิดขึ้นในช่วงเวลาที่กระทรวงข้อมูลและการสื่อสารของเวียดนาม เรียกร้องให้มีการสร้างแพลตฟอร์มโซเชียล “ที่ทำในเวียดนาม” แอปหลายตัวได้ถูกสร้างขึ้นเช่น VietnamTa และ Hahalolo แต่ก็ไม่ได้คืบหน้ามากนัก
การเกิดขึ้นมาของโซเชียลมีเดีย Made in Vietnam เพิ่มแรงกดดันต่อยักษ์ใหญ่ในสหรัฐอเมริกา เช่น Facebook และ Youtube ที่กำลังเผชิญกับความท้าทายหลายประการ จากกฎหมายความมั่นคงไซเบอร์ของเวียดนาม ที่มีผลบังคับใช้ในเดือนมกราคม ซึ่งกำหนดให้บริษัทต้องตั้งสำนักงานในเวียดนาม และจัดเก็บข้อมูลในประเทศ รวมไปถึงการจัดเก็บภาษี
บัญชี Facebook และ Youtube มีรายได้โฆษณาเกือบ 70% ในปี 2018 ตามรายงานการวิจัยตลาด จากจำนวนประชากร 97 ล้านคนมีชาวเวียดนาม 42 ล้านคนที่ใช้ Facebook เป็นประจำทุกวันในปี 2018
ในเดือนมกราคมที่ผ่านมารัฐบาลยังได้ร้องขอให้บริษัทต่างๆ ไม่ลงโฆษณาในคลิปวิดีโอบน Youtube ที่มีเนื้อหาโฆษณาชวนเชื่อต่อต้านรัฐ ซึ่งแม้เวียดนามจะดำเนินการปฏิรูปเศรษฐกิจ และเปิดกว้างต่อการเปลี่ยนแปลงทางสังคมมากขึ้น แต่พรรคคอมมิวนิสต์ที่ปกครองประเทศ ยังคงควบคุมสื่อในประเทศอย่างเข้มงวด และไม่อดทนยินยอมต่อผู้เห็นต่าง
นักเคลื่อนไหวและผู้เห็นต่างถูกจับกุมหรือดำเนินคดีมากขึ้นในช่วงปีที่ผ่านมา จากการโพสต์เนื้อหาที่ถูกพิจารณาว่าต่อต้านรัฐลงบนโลกออนไลน์ โดยองค์การนิรโทษกรรมสากลระบุว่ามากกว่า 10% ของนักโทษ 128 คน ที่ถูกคุมขังจากการแสดงมุมมองต่างจากรัฐ ถูกจำคุกจากการโพสต์ความเห็นต่อต้านรัฐบนสื่อสังคมออนไลน์ เช่น Facebook