สวนกระแสสื่อซบ! “อสมท” ขึ้นเงินเดือนพนักงาน 1,400 คน แต่ปลายปีมี “โครงการร่วมใจจาก”

ถือเป็นเรื่องที่สวนกระแสอุตสาหกรรมสื่อเลยทีเดียว เมื่อ “อสมท” ที่เผชิญปัญหาขาดทุนหลังยุคทีวีดิจิทัล ประกาศ “ขึ้นเงินเดือน” ประจำปี 2562 เป็นครั้งแรกในรอบ 3 ปี นับตั้งแต่ปี 2558 ที่ผลประกอบการเริ่มขาดทุน

โดยเมื่อวันที่ 24 ก.ค. 2562 บมจ.อสมท มีการเผยแพร่สารจากกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ “เขมทัตต์ พลเดช” ที่มีเนื้อหาว่า ในรอบ 6 เดือนแรกปีนี้ อสมท ยังคงเป็นเหมือนธุรกิจในแวดวงสื่อที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของเทคโนโลยีและพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปและการแข่งขันที่รุนแรงในธุรกิจทีวีดิจิทัล ทำให้ธุรกิจสื่อไม่เติบโตและรุ่งเรืองเหมือนที่ผ่านมา รวมทั้ง อสมท ยังมีภาระต้นทุนด้านบุคลากรสูงและรูปแบบองค์กรที่ไม่เอื้อต่อการแข่งขันทางธุรกิจปัจจุบัน ทำให้ อสมท ไม่สามารถอยู่ในสถานะที่มั่นคง แข็งแรงและมีกำไรเหมือนที่ผ่านมา

ขึ้นเงินเดือนปี 62 ย้อนหลังให้ตั้งแต่ ม.ค.

แม้สถานการณ์ธุรกิจสื่อปัจจุบันยังไม่สดใสนัก แต่ผลการดำเนินงานของ อสมท ในปี 2561 เริ่มส่งสัญญาณดีขึ้น ฝ่ายบริหารจึงได้เสนอคณะกรรมการ บมจ.อสมท พิจารณาปรับ “ขึ้นเงินเดือน” พนักงานระดับ “ผู้อำนวยการฝ่าย” ลงมา และจ่ายค่าครองชีพแบบเหมาจ่ายให้กับลูกจ้างรายวัน วงเงิน 15 ล้านบาท โดยมีผลย้อนหลังตั้งแต่เดือน ม.ค. 2562 โดยปลายเดือน ก.ค. นี้ พนักงาน อสมท จะได้รับเงินเดือนใหม่ เพื่อเป็นขวัญและกำลังใจในการทำงาน

ช่วง 4 – 5 ปีที่ผ่านมา อสมท ได้พยายามสร้างรายได้ใหม่ๆ ให้องค์กร นอกจากธุรกิจหลักด้านสื่อและลดค่าใช้จ่าย เพื่อให้สถานะทางการเงินของ อสมท ดีขึ้น มาตรการเยียวยาของรัฐด้วยการเปิดให้คืนใบอนุญาตทีวีดิจิทัล ส่งผลให้ อสมท ในฐานะผู้ให้บริการโครงข่าย (Mux) มีรายได้ลดลงเช่นกัน จากลูกค้าผู้ใช้บริการโครงข่าย 2 รายคืนใบอนุญาต และจะยุติออกอากาศในเดือน ส.ค. นี้ รวมทั้ง อสมท ได้ขอคืนใบอนุญาตช่อง 14 MCOT Family ซึ่งจะยุติในเดือน ก.ย. 2562 และจะได้รับเงินชดเชยภายใน 2 เดือนหลังจากยุติออกอากาศ

ปลายปีเปิดโครงการร่วมใจจาก

แนวทางการดำเนินธุรกิจ 6 เดือนหลังปี 2562 อสมท จำเป็นต้อง “ลดต้นทุน” บางส่วนและปรับปรุงกระบวนการขายและการตลาดใหม่ ปรับปรุงรายการให้สามารถแข่งขันและแย่งชิงเม็ดเงินโฆษณาในตลาดได้ มุ่งเน้นสร้าง “แพลตฟอร์ม ดิจิทัล” เพื่อหารายได้รองรับการสิ้นสุดสัมปทานและสถานการณ์เม็ดเงินโฆษณาชะลอตัว

ปรับเปลี่ยนโครงสร้างธุรกิจและองค์กร เพื่อลดการขาดทุนในธุรกิจเดิมและสร้างรายได้ใหม่ จากธุรกิจดิจิทัลและดาต้า ซึ่งอาจทำให้บางหน่วยงานต้องควบรวมกันเพื่อให้เกิดเป็นหน่วยงานใหม่ที่จะสร้างเสถียรภาพให้องค์กร โดยได้แต่งตั้งคณะทำงาน 4 คณะ เพื่อผลักดันให้การเปลี่ยนแปลงครั้งนี้สำเร็จ โดยมีบทบาทดังนี้

  1. กำหนดค่าตอบแทนบุคลากรที่เหมาะสมและสามารถดึงดูดบุคลากรที่มีความสามารถและพัฒนาวัฒนธรรมองค์กร
  2. ปรับปรุงกระบวนการทำงานเพื่อให้เกิดการบูรณาการการทำงานได้ดีขึ้น มีความคล่องตัวในการดำเนินธุรกิจ
  3. กำหนดหลักเกณฑ์การประเมินเพื่อสรรหา บรรจุบุคลากรในโครงสร้างองค์กรใหม่
  4. บริหารจัดการและสื่อสารการเปลี่ยนแปลงและดำเนินโครงการร่วมใจจาก

ภายใต้นโยบายการปรับโครงสร้างธุรกิจและองค์กรใหม่ อสมท เตรียมประกาศ “โครงการร่วมใจจาก” ขณะนี้อยู่ระหว่างพิจารณากำหนดหลักเกณฑ์ โดยจะให้ผลประโยชน์ที่ดีที่สุดและเป็นธรรมกับผู้เข้าร่วมโครงการ ซึ่งจะดำเนินการเพียงครั้งเดียวเท่านั้น เริ่มไตรมาสสุดท้ายปี 2562

ปรับองค์กรลดพนักงาน

จากการสอบถามเพิ่มเติมไปยัง กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บมจ.อสมท กล่าวว่าการประกาศขึ้นเงินเดือนประจำปี 2562 ครั้งนี้ เป็นครั้งแรกในรอบ 3 ปี นับตั้งแต่ปี 2558 เพราะตั้งแต่ปี 2559 เป็นต้นมา อสมท ประสบภาวะขาดทุนมาถึงปัจจุบัน จากหลายปัจจัยทั้งเทคโนโลยี ดิสรัปชัน การแข่งขันในสื่อทีวี แต่ตัวเลขขาดทุนก็ลดลงเรื่อยๆ จึงมีการขึ้นเงินเดือนพนักงาน เฉลี่ยประมาณ 3% ตั้งแต่ระดับผู้อำนวยการฝ่ายลงมา หรือเกือบทั้งหมดของพนักงาน 1,400 คน โดยผู้บริหารที่ไม่ได้ขึ้นเงินเดือนมีราว 20 คน เพื่อเป็นขวัญและกำลังใจให้พนักงาน

แต่ก็ยอมรับว่า อสมท จำเป็นต้องปรับลดพนักงาน เช่นเดียวกับธุรกิจสื่ออื่นๆ เพื่อให้โครงสร้างองค์กรใหม่กระชับขึ้น โครงการร่วมใจจาก ที่เปิดโอกาสให้พนักงานอายุ 40 ปีตอนปลายเป็นต้นไป เข้าโครงการสมัครใจลาออก โดยจะให้เสนอสิทธิผลประโยชน์ที่ดีที่สุดให้กับผู้เข้าร่วปีมโครงการ

สำหรับผลประกอบการตั้งแต่เริ่มต้นยุคทีวีดิจิทัล ปี 2557 อสมท เป็นหนึ่งในบริษัทที่ประสบปัญหาขาดทุน   

  •  2557 รายได้ 4,136 ล้านบาท กำไร 535 ล้านบาท
  • ปี 2558 รายได้ 3,745 ล้านบาท กำไร 71 ล้านบาท
  • ปี 2559 รายได้ 2,848 ล้านบาท ขาดทุน 782 ล้านบาท
  • ปี 2560 รายได้ 2,728 ล้านบาท ขาดทุน 2,541 ล้านบาท
  • ปี 2561 รายได้ 2,102 ล้านบาท ขาดทุน 373 ล้านบาท
  • ปี 2562 ไตรมาสแรก รายได้ 594 ล้านบาท ขาดทุน 31 ล้านบาท