โรงพยาบาลเอกชนถือเป็นธุรกิจที่มีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง ทั้งกลุ่มคนไทยจากการก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัยและลูกค้าต่างประเทศจากนโยบาย Medical Tourism ของภาครัฐ รวมทั้งความเชื่อมั่นด้านการรักษาของแพทย์ไทย
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย รายงานว่าปี 2561 มีคนไข้ชาวต่างชาติมาใช้บริการรักษาพยาบาลประมาณ 3.42 ล้านครั้ง โดยกลุ่มคนไข้หลักคือชาวเอเชีย โดยเฉพาะญี่ปุ่น เมียนมา และจีน
ดร.นพ. เกริกยศ ชลายนเดชะ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลพญาไท 1 กล่าวว่า ปัจจุบันโรงพยาบาลในประเทศไทยมีลูกค้าชาวต่างชาติเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศเพื่อนบ้านที่เดินทางสะดวกและใช้เวลาไม่นาน สัดส่วนลูกค้าของพญาไท 1 เป็นกลุ่มคนไทย 65% และต่างชาติ 35% ในจำนวนนี้ 80% มาจากประเทศกัมพูชา รองลงมา คือ เมียนมา อาเซียน ยุโรป อเมริกา และจีน ปี 2561 จำนวนลูกค้าต่างประเทศเติบโต 8.6% และคาดว่าในปี 2562 จะขยายตัว 10%
“กัมพูชา” ใช้บริการ รพ.ไทยอันดับ 1
สำหรับลูกค้ากัมพูชา ที่เป็นตลาดต่างชาติอันดับ 1 ของโรงพยาบาลพญาไท 1 เป็นกลุ่มที่มีรายได้สูง เดินทางเข้าไทยโดยรถยนต์ 50% ผ่านด่านคลองลึก ใช้เวลาราว 2.30 ชั่วโมงถึงกรุงเทพฯ และเดินทางโดยเครื่องบิน 50% ส่วนใหญ่เดินทางเข้ามารักษาทุกโรค สัดส่วนมากสุดคือโรคที่โรงพยาบาลพญาไท 1 เชี่ยวชาญ คือ โรคหลอดเลือดสมองและมะเร็ง
ปีที่ผ่านมามูลค่าด้านเฮลท์แคร์ของกัมพูชามีมูลค่า 25,000 ล้านบาท ในจำนวนนี้พบว่าเป็นการเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลไทย 4,000 ล้านบาท ซึ่งไทยถือเป็นอันดับ 1 ของประเทศที่ชาวกัมพูชาเดินทางมาใช้บริการโรงพยาบาล จากเดิม “เวียดนาม” เป็นอันดับ 1 ขณะที่ พญาไท 1 เป็นโรงพยาบาลที่ลูกค้าชาวกัมพูชามาใช้บริการรักษาโรคมากที่สุดในประเทศไทย
จากแนวโน้มการขยายตัวของลูกค้าต่างประเทศดังกล่าวโรงพยาบาลจึงพัฒนาพื้นที่ International Zone ขึ้นมารองรับลูกค้าต่างชาติที่ต้องการ การรักษาโรคกลุ่มที่มีความซับซ้อน และโรคเฉพาะทาง (Innovative Product) สำหรับลูกค้ากัมพูชาจะมี International Lounge ให้บริการพิเศษ มีคอลเซ็นเตอร์และพยาบาลพูดภาษากัมพูชา สำหรับสอบถามข้อมูลและติดตามอาการ
“พญาไท 1 มีรายได้จากลูกค้ากัมพูชามากที่สุด และสูงกว่าโรงพยาบาลไทยที่ไปเปิดสาขาในกัมพูชา จึงไม่มีแผนเข้าไปเปิดโรงพยาบาลในกัมพูชา เพราะระยะเวลาเดินทางมาไทยไม่นาน ทั้งทางรถยนต์และเครื่องบิน ชาวกัมพูชาเชื่อมั่นการรักษาของแพทย์ไทยและต้องการเดินทางมาใช้บริการในไทย”
ปรับโครงสร้าง 3 เครือข่ายโรงพยาบาล PMC
ปัจจุบันได้ปรับโครงสร้างเครือข่ายโรงพยาบาล 3 แห่ง คือ พญาไท 1, พญาไท 2 และ เปาโล พหลโยธิน รวม 1,000 เตียง ที่อยู่ในทำเลใกล้กันให้เป็นรูปแบบ Phayathai Medical Campus หรือ PMC โดยวางนโยบายพัฒนานวัตกรรมและบริการสุขภาพสู่การเป็น State of the Art ที่เป็นมาตรฐานระดับโลก ตามความเชี่ยวชาญของแต่ละโรงพยาบาล
โดย พญาไท 1 เป็นศูนย์โรคหลอดเลือดสมอง ซึ่งมีบริการ Mobile stroke unit คันแรกของประเทศไทย ที่สามารถตรวจเอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์สมอง และให้การรักษาในรถฉุกเฉินได้ตั้งแต่หน้าบ้านผู้ป่วย รวมถึงระบบการดูแลผู้ป่วย 24 Hours Stroke Fast Track ตลอดจนได้นำแนวทางการดูแลผู้ป่วย stroke ที่เป็นสากล (International guideline for acute stroke) มาใช้ในกระบวนการดูแลผู้ป่วย
นอกจากนี้ยังมีความเชี่ยวชาญด้านโรคมะเร็ง โดยใช้วิธีรักษารูปแบบ Precision Medicine การตรวจยีนส์เพื่อหาเซลล์ผิดปกติ เพื่อการรักษาที่แม่นยำ โดยจะมีการจัดตั้งแล็บ ร่วมกับมหาลัยในสหรัฐอเมริกาในประเทศไทย เพื่อตรวจสอบยีนส์และทำการรักษา การจัดตั้งแล็บในประเทศไทยจะทำให้การรักษามีค่าใช้จ่ายลดลง 30%
ลงทุนอาคารใหม่ 17 ชั้นกว่าพันล้าน
ปัจจุบันโรงพยาบาลพญาไท 1 มี 3 อาคารรองรับผู้ป่วย 220 เตียงทั้งผู้ป่วยในและผู้ป่วยนอก 1,500 รายต่อวัน เฉลี่ยมีผู้ป่วย 40,000 รายต่อเดือน มีศูนย์ทางการแพทย์ 26 ศูนย์ กลางปีหน้าจะลงทุนสร้างอาคารแห่งใหม่ ความสูง 17 ชั้น ใช้งบลงทุนกว่า 1,000 ล้านบาท มากที่สุดในรอบ 43 ปี คาดแล้วเสร็จปี 2565 หลังจากเปิดให้บริการอาคารใหม่ จะมีจำนวนเตียงรวม 350 เตียง
โดยมีศูนย์การรักษาด้านอายุรศาสตร์ประสาทวิทยาครบวงจรที่มีมาตรฐานระดับโลก ต่อยอดความเชี่ยวชาญด้านการเป็นศูนย์โรคหลอดเลือดสมองแบบครบวงจร Comprehensive Stroke Center สู่การเป็น State of the Art of Neurology หรือศูนย์การรักษาโรคทางด้านสมองและประสาทวิทยาที่มีคุณภาพระดับโลก.