ในวันที่พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว โดยมีปัจจัยที่ชื่อว่า “เทคโนโลยี” เข้ามาหนุนนำ ธุรกิจต่างกังวลกับ Digital Disruption ที่จะเข้ามากดดันธุรกิจ ส่งผลให้ต้องปรับตัวเองยกใหญ่เพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลง
AIS ก็เป็นอีกรายหนึ่งที่มีการปรับตัว ตั้งแต่ 5 ปีก่อนได้เริ่ม Transformation ตัวเองเนื่องจากเชื่อว่าจะถูก Disruption จากธุรกิจโทรคมนาคมที่เปลี่ยนแปลงไป และ AIS จะต้องพลิกธุรกิจไปสู่ Digital Life Service Provider
กานติ มาเลอเลิศยุติธรรม หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านทรัพยากรบุคคล เอไอเอส ระบุว่าสิ่งสำคัญที่สุด คือ การ เตรียมความพร้อมภายในองค์กร ดังนั้นปีแรกของการทำ Transformation จึงเป็นการระดมทีมเพื่อหาองค์ความรู้เข้ามาช่วยกัน ปีถัดมาจึงได้เกิด AIS Academy ขึ้นเพื่อสร้างความแข็งแรงให้กับภายใน
สมัยก่อนจะมีฝ่ายทรัพยากรบุคคลสำหรับการทำเทรนนิ่ง หาคอร์สเรียนมาให้ความรู้ในห้อง แต่ AIS มองว่า ภาพเหล่านี้กำลังจะเปลี่ยนแปลงไป ระบบการศึกษาจะต้องรวดเร็วขึ้น ดังนั้น AIS Academy เกิดขึ้นมาเพื่อปรับ Mindset เอาองค์ความรู้มาช่วยพนักงานรับมือยุค Digital
หลังจากทำไปครึ่งทางได้เห็นว่าหลายๆ องค์ความรู้ที่ให้กับพนักงานน่าจะเป็นประโยชน์ถ้า AIS จะช่วยคนไทยไปด้วยกัน 2 ปีที่แล้วจึงเริ่มทำ AIS ACADEMY for THAIs ครั้งแรกได้รับการตอบรับจากผู้เข้าร่วมที่กรุงเทพฯ 4,000 กว่าคน ปีถัดมาทำครั้งที่ 2 มีผู้เข้าร่วมล้นหลามไม่แพ้กัน
AIS จึงมั่นใจว่าองค์ความรู้เหล่านี้เป็นที่ต้องการ ซึ่ง AIS มองว่า การเติบโตแต่เพียงผู้เดียวสำหรับองค์กรไม่น่าจะใช่การเติบโตที่ยั่งยืน แต่การทำให้สังคมไทยเข้มแข็งและแข็งแรง น่าจะเป็นการเติบโตแบบถาวร นั้นคือที่มาของการทำ “ภาระกิจคิดเผื่อ” องค์ความรู้ที่ทำขยายมาสู่ประชาชนภายนอก
ด้วย AIS ชื่อว่าเมืองไทยไม่ใช่แค่กรุงเทพฯ คนที่อยู่ในภูมิภาคย่อมต้องการองค์ความรู้ ซึ่งสิ่งที่ยากที่สุดคือการเข้าถึง ต้องเสียเงิน ต้องไปประสาน ที่ผ่านมาการสัมมนาให้ความรู้ใหญ่เกิดในกรุงเทพฯ เป็นหลัก แต่สิ่งที่สวยงามที่สุดของสังคมไทยคือการเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ดังนั้น จึงตัดสินใจขยับไปสู่ภูมิภาค
และนั้นคือที่มาของการจัดงาน “AIS ACADEMY for THAIs : to the Region องค์ความรู้ สู่ภูมิภาค” ครั้งแรกจัดขึ้นที่จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อเตรียมความพร้อมปรับในการเปลี่ยนธุรกิจ (Business Transformation) และถ่ายทอดเคล็ดลับนอกตำราเรียนจากประสบการณ์ตรงในการนำ Big Data มาช่วยสร้างโอกาสทางธุรกิจให้เติบโต
อย่างไรก็ตาม เมื่อ “ข้อมูล” เป็นสิ่งสำคัญที่ต้องใช้ในการรับมือ “Disruption” จากหัวข้อในงานทั้งหมด Positioning จึงขอสรุปใจความสำคัญของสัมนาในหัวข้อ “Data ขุมทรัพย์เอาชนะ Disruption” มาเล่าสู่กันฟัง
โดยผู้ร่วมให้ข้อมูลมี 4 คนได้แก่ สาโรจน์ ปุญญพัฒนกุล Solution Architect, Amazon Web Services – อนันต์ แก้วร่วมวงศ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.ไทยคม – นครินทร์ วนกิจไพบูลย์ บรรณาธิการบริหารสำนักข่าว The Standard และ ดร.กวิณพงศ์ ฉัตรานนท์ Head of Data Management & Big Data Analytic, AIS
แกนหลัก 5 เรื่องที่ต้องรู้ก่อนนำ Data มาใช้งานคือ หนึ่ง “ลูกค้าเป็นใคร” ขาจรหรือขาประจำ สอง “ยอดขาย” ขายดีจากอะไร สาม “สินค้า” ขายแบบเดิมดีแล้วหรือต้องมีปรับปรุงอะไรเพิ่มเติม สี่ “การผลิตและการบริการ” ถ้าไม่ดีหรือช้าก็ต้องปรับปรุง สุดท้าย “กำไร – ขาดทุน” ซึ่งปรกติร้านค้า SME จะรู้วันต่อวันอยู่แล้ว
เหล่านี้เป็น Data ที่คนจัดการธุรกิจต้องรับรู้ไม่ใช่รู้แค่เจ้าของ ตัวอย่างเช่น มีอาแปะเปิดร้านขายกาแฟ จำได้หมดว่าลูกค้าชื่นชอบรสชาติแบบไหน นี่คือสิ่งที่อยู่ในหัวอาแปะ แต่ถ้าเกิดแกเสียชีวิตข้อมูลเหล่านี้จะหายไปหมดเลย จึงต้องมีการกลั่นข้อมูลออกมาเพื่อที่ว่าคนบริหารต่อจะสามารถใช้งานได้ด้วย
Data ไม่ใช่เรื่องไกลตัว สิ่งสำคัญต้องรู้ก่อนว่า จะเอา Data ไปทำอย่างไร ไม่อย่างนั้นจะกลายเป็นการกลัดกระดุมผิดจุด ซึ่งนี่เป็นเรื่องของกลยุทธ์ขององค์กร ผู้บริหารต้องเห็นความสำคัญของข้อมูล
ต่อมาเป็นของ “คน” ต้องพัฒนาทั้งคนเก่าและคนใหม่ อย่าไปนึกว่าคนรุ่นเก่าจะทำไม่ได้ ต้องมั่นใจกับพวกเขา อีกสิ่งคือพันธมิตรทางธุรกิจ ซึ่งจุดนี้จะทำให้สามารถเติบโตได้เร็วยิ่งขึ้น
ยุคนี้ถ้าไม่มีข้อมูลถือว่าเสียเปรียบคนอื่นทันที จะไม่สามารถมองธุรกิจข้างหน้าเหมือนกับคนอื่นๆ ผู้บริหารต้องทำใจยอมรับ เปิดกว้าง ยอมรับการเปลี่ยนแปลง อย่ากลัวที่จะล้มเหลว เพราะข้อมูลเป็นทั้งศาสตร์และศิลป ทำไปเรื่อยๆ สุดท้ายจะเห็นภาพเอง
ทั้งนี้ “AIS ACADEMY for THAIs : to the Region องค์ความรู้ สู่ภูมิภาค” ครั้งต่อไปจะจัดขึ้นที่จังหวัดขอนแก่น เป็นหัวข้อที่ว่าด้วยเรื่อง “สมาร์ทซิตี้”