24 กรกฎาคมที่ผ่านมาเป็นวันที่ Jollibee Foods (JFC) ตกลงทุ่มเงินลงทุน 350 ล้านดอลลาร์สหรัฐหรือ 10,783 ล้านบาทซื้อบริษัทแคลิฟอร์เนีย The Coffee Bean & Tea Leaf (CBTL) การซื้อกิจการครั้งใหญ่ทำให้แบรนด์ไก่ทอดตากาล็อกถูกจับตามองเป็นพิเศษ เพราะนี่คือสัญญาณว่า Jollibee กำลังวางหมากสยายปีกคลุมเอเชียเพื่อผงาดบนเวทีโลก
Tony Tan Caktiong ประธานใหญ่ JFC ลุกขึ้นมาประกาศเป้าหมายของดีลนี้ว่าจะให้ความสำคัญกับการเร่งการเติบโตของแบรนด์ CBTL โดยเฉพาะในเอเชียเป็นที่แรก ด้วยการสร้างแบรนด์ให้แข็งแกร่ง ขณะเดียวกันก็จะอัดฉีดการตลาด และระบบสนับสนุนแฟรนไชส์ โดยไม่ลืมยืนยันในแถลงการณ์ว่าการได้แบรนด์ CBTL มาครองนั้นถือเป็นก้าวที่ใหญ่ที่สุดที่ส่งให้ JFC สร้างชื่อได้ข้ามชาติมากที่สุดสำหรับวันนี้ที่ CBTL ดำเนินธุรกิจใน 27 ประเทศทั่วโลก
CBTL ไม่ใช่บริษัทแรกที่ JFC ควักเงินซื้อ หากสังเกตจากไทม์ไลน์ของ Jollibee จะพบว่าหลังจากสร้างชื่อมาจากไก่ทอดสูตรพิเศษ Chickenjoy ผ่านมาสค็อตผึ้งยิ้มชื่อดัง JFC ก็สะสมเงินซื้อเพชรมาเสริมความแข็งแกร่งให้บริษัทหลายครั้งจนสะท้อนความเฉียบแหลมทางธุรกิจ ส่งให้ Jollibee ยกระดับตัวเองขึ้นมาได้ต่อเนื่องบนเมนูอาหารอร่อยถูกปากลูกค้าที่ entrepreneur สัญชาติฟิลิปปินโน Tony Tan Caktiong เริ่มต้นไว้
สำหรับ Tony Tan Caktiong นั้นเป็นผู้ก่อตั้งและประธาน Jollibee Foods Corporation ตัวของ Caktiong เป็นบุตรคนที่ 3 จาก 7 พี่น้องในครอบครัวยากจน แต่ก็เริ่มสร้างตัวได้เมื่อพ่อแม่ของเขาก่อตั้งธุรกิจร้านอาหารในเมือง ดาเวา จนทำให้หนุ่มน้อย Caktiong สามารถศึกษาสาขาวิศวกรรมโยธาในมหาวิทยาลัยซานโตโทมัสได้
เมื่ออายุได้ 22 ปี หนุ่ม Caktiong ตัดสินใจจ่ายเงินจำนวน 350,000 เปโซ (ราว 212,000 บาท) ซื้อแฟรนไชส์ร้านขายไอศกรีม นับแต่นั้นมา Jollibee ก็ผ่านเหตุการณ์สำคัญและการเข้าซื้อกิจการที่หลากหลายตลอดหลายปีที่ผ่านมา
1975
- Tony Tan Caktiong ในวัย 22 ปีเปิดร้านขายไอศกรีมที่เมือง Cubao ประเทศฟิลิปปินส์ซึ่งต่อมากลายเป็นร้าน Jollibee แห่งแรก
1978
- Caktiong ตัดสินใจที่จะเริ่มให้บริการแฮมเบอร์เกอร์ ไก่ทอด และสปาเก็ตตี้รสหวานนำแบบที่ชาวฟิลิปปินส์ชอบ
- ร้านอาหารถูกเปลี่ยนชื่อเป็น “Jollibee” เพื่อเป็นตัวแทนถึงเจ้าของธุรกิจ พนักงาน และลูกค้าที่มีความสุขและขยันขันแข็ง
- Jollibee จัดตั้งขึ้นเป็นบริษัทที่ถือหุ้นโดยชาวฟิลิปปินส์เต็ม 100% เวลานั้น Jollibee มีร้านอาหารฟาสต์ฟู้ด 7 แห่ง รวมสาขาในเมืองหลวงคือกรุงมะนิลา
1980
- เปิดตัว Chickenjoy ไก่ทอดเอกลักษณ์ของ Jollibee
- แจ้งเกิดมาสค็อตผึ้งยิ้มชื่อดังของ Jollibee
- Chickenjoy เป็นเมนูฮิตที่ประสบความสำเร็จในการขายสูงที่สุด
1981
- Jollibee Foods Corporation เข้าสู่ทำเนียบ Top 1000 Philippine Corporations หรือสุดยอด 1000 บริษัทในฟิลิปปินส์
1984
- Jollibee ติดอันดับ Top 500 Philippine Corporations หรือบริษัท 500 อันดับแรกของฟิลิปปินส์ และถูกยกเป็นผู้นำตลาดในอุตสาหกรรมอาหารฟาสต์ฟู้ดตากาล็อก
1986
- Jollibee ขยับไปติด Top 250 Philippine Corporations
1987
- ยอดขายกว่า 570 ล้านเปโซ (345 ล้านบาท) ดันให้ Jollibee เป็น Top 100 Philippine Corporations
- Jollibee เปิดร้านอาหารฟาสต์ฟู้ดแห่งแรกนอกประเทศฟิลิปปินส์ในบรูไน เป็นจุดเริ่มต้นของการเข้าสู่ตลาดโลกครั้งแรก
1991
- Jollibee เปิดสาขาที่ 100
1994
- JFC ซื้อหุ้น 80% ของ Greenwich Pizza and Pasta ซึ่งเป็นแบรนด์ฟิลิปปินส์
1995
- Jollibee ขยายฐานตลาดโลกมากขึ้น มีการเปิดสาขาในกวม ดูไบ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ คูเวต เจดดาห์ และซาอุดิอาระเบีย
1996
- Jollibee เปิดสาขาที่ 200
1998
- Jollibee เปิดสาขาแรกในสหรัฐอเมริกาในเมือง Daly City รัฐ California
- ร้านค้าทั้งหมดของ Jollibee มีจำนวนทะลุหลัก 300 สาขา
2000
- JFC ซื้อกิจการบริษัท Chowking ฟาสต์ฟู้ดของฟิลิปปินส์ซึ่งให้บริการฟาสต์ฟู้ดแบบจีนที่ปรับรสให้เข้ากับคนฟิลิปปินส์
2001
- เครือข่ายร้านค้า JFC ขยายเป็น 800 ร้าน จำนวนนี้รวมร้าน Greenwich ที่จำหน่ายพิซซ่า และร้าน Chowking ที่เป็นฟาสต์ฟู้ดสไตล์ฟิลิปปินส์ – จีน
- Jollibee เปิดสาขาที่ 400
2003
- Jollibee ฉลองครบรอบ 25 ปี
2004
- Jollibee เปิดสาขาที่ 500
- JFC ซื้อแบรนด์ต่างประเทศเป็นครั้งแรก Yonghe King ซึ่งเป็นเชนอาหารจานด่วนในประเทศจีน
2005
- JFC เข้าซื้อกิจการ Red Ribbon Bakeshop ของฟิลิปปินส์
2006
- JFC ซื้อหุ้นที่เหลือใน Greenwich Pizza Corp. คิดเป็นสัดส่วน 20%
2007
- Jollibee เปิดสาขาที่ 600
- Jollibee เปิดสาขาแรกที่ลาสเวกัส
2010
- JFC เข้าซื้อหุ้น 70% ของ Mang Inasal 70% แบรนด์ไก่ย่างสัญชาติฟิลิปปินส์
- Jollibee เปิดสาขาที่ 700
- Jollibee เปิดสาขาแรกในกาตาร์
2011
- JFC ซื้อหุ้น 54% ในบริษัท BK Titans, Inc. ผู้ได้รับสิทธิทำธุรกิจแฟรนไซส์แต่เพียงผู้เดียวของ Burger King ในฟิลิปปินส์
- Jollibee เปิดสาขาแรกที่ฮาวาย สหรัฐอเมริกา
2012
- Jollibee เปิดสาขาแรกในคูเวต
- ได้รับคำชมจากนิตยสาร Travel + Leisure ในนิวยอร์กว่า Jollibee เป็นหนึ่งในเครือข่ายอาหารฟาสต์ฟู้ดที่ดีที่สุดในโลก
2013
- Jollibee เปิดสาขาแรกในสิงคโปร์ซึ่งทำยอดขายสูงสุดเป็นประวัติการณ์ในวันแรก
- Jollibee เปิดสาขาที่ 800
- Jollibee เปิดสาขาที่ 100 ใน Jubail ประเทศซาอุดิอาระเบีย
2015
- Jollibee ขยายร้านครบ 1,000 สาขา ขณะที่เปิดสาขาแรกในดูไบ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์
- Jollibee เปิดสาขาแรกในบาห์เรน
2016
- JFC เข้าร่วมทุนเพื่อเป็นผู้ให้บริการ Dunkin’ Donuts ในประเทศจีน โดยมีแผนที่จะเปิดร้าน 1,400 สาขาภายใน 20 ปี ในตลาดจีนที่เป็นเขตเศรษฐกิจที่ใหญ่เป็นอันดับสองของโลก
- JFC ซื้อหุ้นที่เหลืออีก 30% ของบริษัท Mang Inasal
2018
- JFC ลงทุน 45 ล้านเหรียญสหรัฐในกองทุนเพื่อเป็นเจ้าของแฟรนไชส์หลักของเชนร้านติ๋มซำ Tim Ho Wan สัญชาติฮ่องกงที่มีรางวัลมิชลินสตาร์การันตี
- JFC ซื้อแบรนด์ Smashburger แบรนด์เบอร์เกอร์อเมริกันสไตล์คลาสสิกที่มีสาขามากกว่า 300 แห่งทั่วสหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร และแคนาดา รวมถึงบางสาขาในซาอุดิอาระเบีย
- JFC ลงทุนอีก 12.4 ล้านเหรียญสหรัฐ เพื่อซื้อหุ้น 50% ใน Tortos Frontera แบรนด์อาหารอเมริกัน – เม็กซิกันที่ให้บริการแซนด์วิชหมู เนื้อวัว และไก่ พร้อมเครื่องเคียงเป็นสลัดซัลซ่าและกัวคาโมเล่ (guacamole) ซอร์สแม็กซิกันที่ทำจากอโวคาโด
2019
- Jollibee ลงทุน 350 ล้านเหรียญสหรัฐเพื่อซื้อเชนกาแฟและชาชื่อดังจากแคลิฟอร์เนีย The Coffee Bean and Tea Leaf (CBTL) ซึ่งถือเป็นการซื้อกิจการที่ใหญ่ที่สุดและมีสาขาข้ามชาติมากที่สุด 27 ประเทศรวมไทย.