จากที่เคยมีภาพเป็นอิสระจากกัน วันนี้บริษัทย่อยของ Facebook กำลังจะถูกรีแบรนด์ใหม่โดยต่อท้ายคำว่า “From Facebook” เข้าไป ถือเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่เป็นรูปธรรมนับตั้งแต่ Facebook ซื้อกิจการ Instagram ในปี 2012 และ WhatsApp ในปี 2014
การรีแบรนด์ Instagram และ WhatsApp ครั้งนี้ได้รับความสนใจจากชาวออนไลน์วงกว้าง สาเหตุเป็นเพราะทั้ง 2 แบรนด์ถูกยกให้เป็นแบรนด์ที่มีศักยภาพมากที่สุดในโลกดิจิทัล ข้อมูลเบื้องต้นถูกเปิดเผยโดยรายงานจากสำนักข่าว The Information
ฟากโฆษกหญิงของ Facebook ยืนยันแล้วว่าจะทำการเปลี่ยนชื่อแบรนด์ Instagram และ WhatsApp มาเป็น “Instagram From Facebook” และ “WhatsApp From Facebook” จริงตามรายงาน
ต้องการความชัดเจน
โฆษกหญิงของ Facebook อธิบายว่าบริษัทต้องการสร้างความชัดเจนเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์และบริการที่เป็นส่วนหนึ่งของ Facebook แต่ไม่ตอบความคิดเห็นในรายงานที่ฟันธงว่าการเปลี่ยนชื่อครั้งนี้เป็นการลบคำสบประมาทที่ Facebook ไม่ได้รับเครดิตในความนิยมของ Instagram และ WhatsApp ที่เกิดขึ้นเลย
รายงานยังชี้ประเด็นไปถึง CEO “มาร์ก ซัคเกอร์เบิร์ก” (Mark Zuckerberg) แห่ง Facebook ที่คนทั่วไปมักมองว่าบริษัทที่ Zuckerberg ก่อตั้งไม่ได้รับเครดิตมากพอสำหรับความนิยมของ Instagram และ WhatsApp ส่วนหนึ่งเป็นเพราะปัจจุบันแฟนคลับของแอปเหล่านี้ไม่ได้สนใจว่าใครเป็นเจ้าของ
เห็นได้ชัดจากการสำรวจ 2 ครั้งในปี 2018 ที่พบว่าคนอเมริกันมากกว่าครึ่งไม่ทราบว่าตัวเองเชื่อมต่อกับ Facebook ได้อย่างไร สิ่งที่สำคัญกว่าในการดึงให้ผู้ใช้แอปยังผูกโยงใช้งานเป็นประจำคือความสัมพันธ์ยาวนาน หรือความคุ้นชิน
สถานการณ์ที่เกิดขึ้นต่อเนื่องในไม่กี่ปีที่ผ่านมาคือ เหล่าวัยรุ่นในหลายประเทศมองว่า Facebook ไม่เจ๋งและไม่น่าใช้งานอีกต่อไป แต่เลือกไปใช้งานเครือข่ายสังคมภาพอย่าง Instagram แทน
ดังนั้นการเปลี่ยนแปลงชื่อแบรนด์จะมีผลสะท้อนว่าความเป็นอิสระของ Instagram และ WhatsApp กำลังหมดลง ต่างจากที่ผ่านมา Facebook ปล่อยให้ผู้ก่อตั้งทั้ง 2 แอปรักษาวัฒนธรรมของตัวเองจนสาวกดูเหมือนจะพอใจกับเนื้อแท้ของแบรนด์ที่ยังเหลืออยู่
รวม Facebook, Instagram และ WhatsApp
ปัจจุบันผู้ก่อตั้ง Instagram และ WhatsApp ต่างก็ลาออกจากบริษัทจนมีข่าวว่าทั้งคู่ไม่พอใจกับการเข้าไปแทรกแซงของ Facebook ซึ่งก่อนหน้านี้ Mark Zuckerberg ประกาศวิสัยทัศน์เกี่ยวกับแนวคิดการรวม Facebook, Instagram และ WhatsApp เข้าด้วยกัน เพื่อมอบประสบการณ์แก่ผู้ใช้ที่ครอบคลุมทั้ง 3 บริการ
คาดว่าการรีแบรนด์ครั้งนี้ถูกวางแผนมาให้เป็นส่วนหนึ่งของขั้นตอนตามนโยบายนี้เบื้องต้นมีรายงานว่าทีมงาน Instagram ที่ทำงานเกี่ยวกับคุณสมบัติการส่งข้อความส่วนตัวโดยตรง นั้นถูกถอดออกแล้วโยนไปให้กลุ่มที่รับผิดชอบบริการ Messenger ของ Facebook แล้ว บนการตั้งข้อสังเกตว่าเป็นการรวมกันที่ไม่น่าจะเกิดขึ้นในปีที่ผ่านมา
ปฏิกิริยาของชาวเน็ตต่อการรีแบรนด์ Instagram และ WhatsApp นั้นออกไปในเชิงเหน็บแนมมากกว่าอารมณ์ประหลาดใจ ชาวเน็ตบางรายตั้งข้อสังเกตว่า Facebook อาจกำลังพยายามหลอมรวมองค์กรของตัวเองก่อนจะถูกไฟแดงจากคณะกรรมการของรัฐบาลสหรัฐฯ ที่กำลังเข้ามาตรวจสอบเพื่อต่อต้านการผูกขาด และอาจจะล้มดีลการซื้อขายบริษัท Instagram และ WhatsApp แบบย้อนหลัง
ในภาพรวมการตั้งชื่อใหม่อาจมีความสำคัญในระยะยาว เพราะท้ายที่สุดชื่อแบรนด์หรือตราสินค้าก็ยังคงมีผลกับความรู้สึกของผู้บริโภค ทำให้เป็นไปได้ว่าสาวก Instagram และ WhatsApp อาจจะให้ความสนใจกับแอป Facebook ทั้งคู่มากขึ้น
หรืออาจจะซ้ำรอยกรณีของ Microsoft ที่เคยพยายามติดแบรนด์ Windows ไว้บนบริการออนไลน์ที่ไม่สร้างชื่อ เช่น “Windows Live Search” แต่สุดท้ายก็ต้องเปลี่ยนมาเหลือแค่ “Bing” และกรณี “Windows Live Hotmail” ที่กลายเป็น Outlook.com ในที่สุด