Dean & Deluca ไม่มีไม่หนีไม่จ่าย? ลือชักดาบค่าจ้าง-ค่าชดเชยเลย์ออฟพนักงาน

Source : deandeluca

Dean & DeLuca ถูกสื่ออเมริกันแฉว่าได้ผิดนัดชำระเงินให้กับอดีตพนักงานที่ถูกเลิกจ้างไป แถมเชนร้านจำหน่ายอาหารหรูระดับโลกที่มีหนี้สินรุงรังในแดนลุงแซมยังระงับการจ่ายเงินให้แก่พนักงานปัจจุบันในสาขาที่เหลือด้วย เบื้องต้น Pace Development บริษัทแม่ของ Dean & DeLuca ในกรุงเทพฯ ยังเก็บตัวเงียบไม่ออกมาให้ความคิดเห็นกับข่าวที่เกิดขึ้น

รายงานจาก The New York Times ระบุว่าได้ข้อมูลนี้มาจากข้อมูลบัญชีและเอกสารจากพนักงาน Dean & DeLuca การชักดาบครั้งนี้เป็นข่าวคืบหน้าล่าสุดหลังจากในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา ร้านคาเฟ่หรู Dean & DeLuca จำนวน 4 แห่งถูกปิดตัวลง ซึ่งรวมถึงสาขา Stage ที่เป็นสาขาหลักร้านใหม่สุดหรูของ Dean & DeLuca ในย่าน Meatpacking อันทันสมัยของ Manhattan น่าเสียดายที่สาขานี้เพิ่งเปิดบริการได้เพียง 3 เดือน ปัจจุบัน Dean & DeLuca มีสาขาให้บริการเพียง 4 ร้านในสหรัฐอเมริกา ท่ามกลางชั้นวางสินค้าที่เกือบจะเต็มไปด้วยผลิตภัณฑ์ทั่วไปที่เห็นตามซูเปอร์มาร์เก็ต แทนที่จะเป็นวัตถุดิบหรูหราเฉพาะทางที่เคยสร้างชื่อให้แบรนด์ Dean & DeLuca มาก่อน

ภาวะนี้ถือเป็นความตกต่ำสุดขีดของ Dean & DeLuca ที่เมื่อย้อนไปในวันที่ Pace ซื้อกิจการ Dean & DeLuca ในปี 2014 คาเฟ่หรูแห่งนี้มีสาขามากกว่า 40 แห่งในสหรัฐอเมริกา เบื้องต้น สื่ออเมริกันรายงานว่า Dean & DeLuca ตัดสินใจปลดพนักงานประจำสำนักงานใหญ่ในสหรัฐฯ ช่วงสัปดาห์ปลายเดือนกรกฎาคม 2019 และพนักงานที่ถูกปลดออกจากร้านหลายรายยังไม่ได้รับการจ่ายเงินก้อนสุดท้าย ทำให้พนักงานกำลังหาทางฟ้องร้องต่อศาลต่อไป

หนังคนละม้วนกับเอเชีย

อย่างไรก็ตาม สื่ออเมริกันตั้งข้อสังเกตว่ารูปการณ์เหล่านี้สวนทางกับแถลงการณ์เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม เวลานั้นสรพจน์ เตชะไกรศรีเจ้าของ Dean & Deluca ได้การันตีว่า Dean & Deluca ยังเป็นเครือข่ายธุรกิจที่เติบโตได้ดีในเอเชียและตะวันออกกลาง ซึ่งเป็นภูมิภาคที่บริษัทมีสาขากว่า 70 สาขา สาขาส่วนใหญ่เป็นแฟรนไชส์ Dean & Deluca ที่ได้รับใบอนุญาต ซึ่งตัวสรพจน์ย้ำในงานแถลงข่าวว่าตั้งเป้าเปิดร้านใหม่ 90 สาขาในประเทศไทยช่วง 5 ปีข้างหน้า พร้อมกับการเปิดตัวใน 5 เมืองใหญ่ทั่วอาเซียน

แต่เมื่อถามถึงร้านค้าในสหรัฐอเมริกา สรพจน์กล่าวว่ากำลังปรับธุรกิจ Dean & DeLuca ให้มีขนาดที่เหมาะสมยิ่งขึ้น ด้วยการควบคุมค่าใช้จ่ายทั้งส่วนสำนักงานและร้านค้า

เวลานั้น สรพจน์ไม่ได้เล่าถึงหนี้สินรุงรังที่ Dean & DeLuca ค้างจ่ายกับซัปพลายเออร์ผู้ขายขนมปังบาแกตต์ ปลารมควัน ซอสเผ็ด ช็อคโกแลตและอีกหลายสินค้า รายงานระบุว่าหนี้เหล่านี้มีมูลค่าหลายแสนดอลลาร์สหรัฐ และทุกรายเลิกให้เครดิต Dean & DeLuca ยังมีข้อมูลจากพนักงานหลายคนทั้งในอดีตและปัจจุบัน ที่ระบุว่า Dean & DeLuca ถูกไล่ที่เพราะไปค้างค่าเช่าหลายพันเหรียญสหรัฐจนทำให้ร้านค้าในนิวยอร์ก 2 แห่งต้องปิดให้บริการ ขณะที่อดีตพนักงานที่ขอไม่เปิดเผยนามรายหนึ่ง เล่าว่าพนักงาน Dean & DeLuca ต้องทนใส่เครื่องแบบสกปรก เพราะบริษัทให้บริการซักรีดได้เลิกสัญญากับ Dean & DeLuca ทำให้พนักงานต้องแข่งขันกันแย่งแจ็คเก็ตที่สกปรกน้อยที่สุด

สื่ออเมริกันโจมตีสรพจน์

สิ่งที่สัมผัสได้จากรายงานเรื่อง Dean & DeLuca ของสื่ออเมริกันคือการย้ำว่าสรพจน์ผู้มีฐานะดีของตระกูลอสังหาริมทรัพย์ไทยที่มีชื่อเสียง รายงานของ The New York Times อ้างว่าสรพจน์ได้ยืนยันผ่านตัวแทนเมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมาว่าพนักงานปัจจุบันจะได้รับค่าตอบแทน แต่เช็คสั่งจ่ายเงินค่าจ้างรายสัปดาห์กลับล่าช้าซ้ำหลายครั้ง ล่าสุดคือวันศุกร์ที่พนักงานได้รับแจ้งว่าเช็คค่าจ้างจะถูกแจกจ่ายในวันจันทร์ที่ 5 สิงหาคมแทน

The New York Times ยังย้อนคำพูดของสรพจน์ที่ยืนยันว่าอดีตพนักงานประมาณ 180 คนที่ตกงานเมื่อร้านปิดบริการช่วงเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา จะได้รับการดูแลแน่นอน เบื้องต้นบริษัทได้ส่งจดหมายแจ้งพนักงานเหล่านี้ว่าทุกคนจะได้รับเงินชดเชยตามกฏหมายแรงงาน WARN Act (Worker Adjustment and Retraining Notification Act) ซึ่งเป็นกฎหมายเกี่ยวกับการแจ้งเตือน การปรับตัว และฝึกอบรมพนักงานของรัฐบาลกลางปี ​​1988

กฏหมายดังกล่าวกำหนดให้นายจ้างต้องชดเชยค่าแรงให้พนักงานที่ถูกเลิกจ้างเมื่อธุรกิจปิดทำการ โดยต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้าอย่างน้อย 60 วัน เบ็ดเสร็จแล้ว Dean & DeLuca จะต้องจ่ายค่าชดเชยเป็นค่าแรง 2-3 เดือน ล่าสุดพนักงานของ Dean & DeLuca กลับได้รับจดหมายแจ้งว่าบริษัทจะไม่จ่ายเงินเหล่านั้น เพราะบริษัทยังอยู่ในสถานการณ์ที่ไม่มั่นคง และไม่สามารถคาดการณ์ได้

จดหมายที่อดีตพนักงาน Dean & DeLuca ยังระบุว่า Dean & DeLuca ไม่ได้รับเงินทุนจากบริษัทแม่อีกต่อไป และเจ้าของได้พยายามขายธุรกิจแล้วแต่ไม่บรรลุผล

ในภาพรวม สื่ออเมริกันแปลเนื้อหาของจดหมายเหล่านี้ว่า Dean & DeLuca กำลังอ้างช่องโหว่ของกฏหมาย WARN Act ซึ่งในปี 2017 ได้มีการแก้ไขเพื่อให้มีข้อยกเว้นสำหรับนายจ้างที่สามารถพิสูจน์ได้ว่าการปิดกิจการนั้นเกิดจากภัยธรรมชาติ หรือสถานการณ์ทางธุรกิจที่ไม่สามารถคาดการณ์ได้ ทำให้พนักงานต้องหาทางรักษาความยุติธรรมให้ตัวเอง.

Source