ทำความรู้จักเชนกาแฟดาวรุ่งสัญชาติญี่ปุ่นที่กำลังพยายามดึงลูกค้ากลุ่มมิลเลเนียลออกจากอก Starbucks ด้วยบริการที่มีคุณภาพและคุ้มค่ามากกว่า ที่น่าสนใจคือ 1 ใน 2 รายมีแผนบุกตลาดไทยต้นปีหน้า และกำลังบุกหนักทั้งในและนอกแดนซามูไรบ้านเกิด
ปรากฏการณ์เชนกาแฟญี่ปุ่นบุกหนักตลาดเอเชียครั้งนี้ ตอกย้ำว่ากลุ่มทุนญี่ปุ่นกำลังวางเดิมพันให้งานบริการลูกค้าและคุณภาพคุ้มราคาสามารถชนะคนท้องถิ่นรุ่นใหม่ให้นอกใจ Starbucks ได้ รวมถึงผู้นำเชนกาแฟระดับโลกรายอื่นด้วย
สำหรับ 1 ในเชนกาแฟญี่ปุ่นที่ตั้งเป้าเปิดตลาดไทยช่วงต้นปีหน้ามีชื่อว่า Sarutahiko Coffee รายงานระบุว่าบริษัทมีแผนเปิดสาขาในประเทศไทยและฮ่องกง ผ่านการลงทุนของกลุ่ม Mitsubishi Corp. ซึ่งมีสัดส่วนการลงทุนประมาณ 15% หรือราว 500 ล้านเยน (145 ล้านบาท) โดยอีกเชนกาแฟญี่ปุ่นน่าจับตาคือ Doutor Coffee และ Tully’s Coffee ซึ่งมีต้นกำเนิดจากสหรัฐอเมริกาจนมาเปิดตลาดที่ญี่ปุ่นครั้งแรกในปี 1997 ทั้งคู่เป็นร้านกาแฟที่มีสาขาทั่วสถานีรถไฟและศูนย์การค้าหลายแห่งทั่วแดนปลาดิบ
เชนญี่ปุ่นบุกหนักเอเซีย
Sarutahiko Coffee ไม่ใช่เชนกาแฟที่มีสาขาในโตเกียวเท่านั้น แต่วันนี้มีทั้งสิ้น 16 สาขาซึ่งรวม 3 สาขาในไต้หวัน และอีกหลายแห่งทั่วเมืองหลวงญี่ปุ่น รายงานระบุว่า Sarutahiko Coffee วางแผนจะขยายเครือข่ายร้านให้ครบ 30 สาขาภายใน 3 ปี เพื่อเจาะตลาดเอเชียอย่างจริงจัง
นอกจาก Sarutahiko ยังมีเชนกาแฟฮอตฮิตอย่าง Doutor Nichires Holdings ที่มีแผนจะนำแบรนด์ Hoshino Coffee มาสู่ไต้หวันในปีหน้า 2020 หลังจากที่ธุรกิจร้านกาแฟของบริษัทกำลังเติบโตอย่างแข็งแกร่งในสิงคโปร์ ซึ่งเป็นที่ตั้งของ Hoshino Coffee 10 สาขา จากทั้งหมด 14 สาขาที่ Hoshino Coffee มีในต่างประเทศ
Masanori Hoshino ประธาน Hoshino Coffee ที่อยู่ในเครือ Doutor มั่นใจว่าบริษัทจะเริ่มสร้างผลกำไรในเร็ววันนี้ โดยที่ผ่านมา Hoshino Coffee มีให้บริการแล้วในมาเลเซียและอินโดนีเซีย ขณะเดียวกันก็มีการดำเนินธุรกิจภายใต้แบรนด์ Doutor ที่ประเทศจีนผ่านพันธมิตรในฮ่องกงด้วย
นอกจากแบรนด์ญี่ปุ่นแท้อย่าง Sarutahiko และ Doutor อีกเชนกาแฟที่มาแรงจนทำให้เจ้าตลาดอย่าง Starbucks กำลังหนาวจับใจคือ Tully’s Coffee เหตุผลเพราะชาวญี่ปุ่นบางส่วนยกให้ Tully’s Coffee และ Doutor เป็นเชนกาแฟที่ให้บริการและสินค้าที่คุ้มค่ากับเงินที่จ่ายไปมากกว่าเมื่อเทียบกับ Starbucks ทั้งกาแฟแก้วใหญ่กว่า การชงกาแฟที่ทำได้ดี และการตั้งราคาขนมที่ Doutor ชนะทุกรายภายใต้งบประมาณเดียวกัน
ทำไมต้องเอเชีย
กองทัพร้านกาแฟในเอเชียเกิดขึ้นเพราะประชากรหลายล้านในเอเชียและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นิยมบริโภคกาแฟ ส่งผลให้วันนี้ Starbucks มีสาขามากกว่า 1,000 แห่งในภูมิภาค (รวมประเทศไทยและมาเลเซีย) โดยในไทย ผู้เล่นในท้องถิ่นก็กำลังเฟื่องฟูไม่แพ้กัน เห็นได้ชัดจาก True Coffee ที่มีร้านกาแฟมากกว่า 100 แห่งในประเทศไทย ยังมีร้าน Trung Nguyen แบรนด์ชั้นนำที่มีฐานแฟนกว้างขวางในเวียดนาม บนดีกรีการเป็นผู้ผลิตกาแฟรายใหญ่อันดับ 2 ของโลก
Tomoyuki Otsuka ประธานและซีอีโอของ Sarutahiko มั่นใจว่าผู้บริโภคที่นิยมใช้บริการ Starbucks บ่อยครั้ง จะพร้อมหันมาใช้บริการสไตล์ญี่ปุ่น ซึ่งกรณีของ Sarutahiko นั้นเป็นบริการที่ขึ้นชื่อเรื่องการใส่ใจในรายละเอียดตั้งแต่การคั่วเมล็ดกาแฟ ไปจนถึงเทคนิคการต้มด้วยตนเอง
สำหรับตลาดกาแฟในสิงคโปร์ อินโดนีเซีย และอีก 4 ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ คาดว่าจะเติบโตเป็น 7,200 ล้านเหรียญสหรัฐในปี 2023 จาก 6,300 ล้านดอลลาร์ในปี 2018 จากข้อมูลของบริษัทวิจัย Euromonitor International.