เรื่อง Enjoy ของสิงห์

เป็นอีกเกมรุกที่จัดเป็น Strategic Move สำคัญของค่ายสิงห์ คอร์เปอเรชั่น ในการบุกเข้าสู่ตลาดขนมขบเคี้ยว ซึ่งเป็นตลาดใหม่สำหรับค่ายสิงห์ ที่ได้ชื่อว่าเป็น “Big Player” สำคัญ ที่อยู่ในตลาดเบียร์มายาวนานกว่า 75 ปี

แม้ว่าในช่วงหลังสิงห์จะแสวงหาโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ ในธุรกิจ “นอน-แอลกอฮอล์” ก็ตาม แต่ก็ยังอยู่ในหมวดเครื่องดื่ม ยังไม่เคยฉีกตัวเองไปในตลาดใหม่ อย่าง ขนบขบเคี้ยว ที่ได้ชื่อว่าเป็นตลาด “หิน” น่าดู เช่นเดียวกับในครั้งนี้

ด้วยเงื่อนไขและสภาพแวดล้อมในการทำธุรกิจที่เปลี่ยนไป ตอนนี้ สิงห์คอร์ปจึงขอนำกำไรจากรายได้ 80,000 ล้านบาทของผลิตภัณฑ์เบียร์มาเป็นต้นทุนพัฒนาสินค้า แตกไลน์สู่ธุรกิจอาหาร เป็น “น้องใหม่ล่าสุด” ในธุรกิจสแน็ค ที่มีมูลค่าสูงถึง 15,000 ล้านบาท

ในชื่อของ “N-Joy” ผลิตภัณฑ์ปลาแผ่นกรอบปรุงรส

สันต์ ภิรมย์ภักดี ผู้จัดการกลุ่มการตลาดนอน-แอลกอฮอล์ และผู้จัดการฝ่ายพัฒนาธุรกิจ บริษัท สิงห์ คอร์เปอเรชั่น จำกัด ได้อธิบายถึงปัจจัยแวดล้อมในธุรกิจหลักของบริษัทที่ไม่เหมือนเดิมว่า หากบริษัทฯหวังพึ่งเพียงแค่รายได้จากเบียร์เป็นหลัก คงไม่ใช่เรื่องที่ถูกต้องนัก เพราะหากวันใดที่ธุรกิจเบียร์เกิดการอิ่มตัวขึ้นมา บริษัทก็คงไม่สามารถสร้างการเติบโตได้อีกต่อไป

ดังนั้น การพัฒนาธุรกิจ เพื่อหาลู่ทางใหม่ๆ ให้กับองค์กร จึงเป็นสิ่งจำเป็น แม้ว่าแทบทุกผลิตภัณฑ์ในเครือสิงห์ครองอันดับหนึ่งในตลาดก็ตาม

ด้วยเงินทุนที่หนา ทำให้สแน็คน้องใหม่อย่าง N-Joy สามารถเข้าไปวางขายใน 7-11 ได้ในระยะเวลาอันรวดเร็ว ในขนาด 28 มิลลิกรัม ราคา 20 บาท แต่นั่นไม่ได้เป็นเครื่องยืนยันความสำเร็จ

สันต์บอกว่า ตลาดขนมขบเคี้ยวถือว่าหินพอสมควร เพราะผู้เล่นในตลาดล้วนมีประสบการณ์ และเข้มแข็งอย่างมากในเซ็กเมนต์ย่อยของแต่ละผลิตภัณฑ์ แต่หลังจากทบทวน และปรึกษากับบอร์ดบริหาร จึงได้ข้อสรุปว่า เซ็กเมนต์ผลิตภัณฑ์ “ฟิชสแน็ค” ถือเป็นโอกาสที่ดีที่สุดของบริษัทฯในธุรกิจขนมขบเคี้ยว

ถึงแม้มูลค่าตลาดจะมีเพียงแค่ 1,380 ล้านบาท จากตลาดรวมขนมขบเคี้ยว 15,000 ล้านบาท แต่เป็นตลาดที่มีอัตราการเติบโตสูงกว่า 15% เพราะผู้บริโภคมองว่าเป็นขนมขบเคี้ยวที่มีประโยชน์ จึงหันมานิยมบริโภคมากขึ้น ขณะเดียวกัน การแข่งขันก็ไม่ได้สูงมากเมื่อเทียบกับตลาดมันฝรั่ง

ในส่วนการผลิต สิงห์ ได้พาร์ตเนอร์มืออาชีพ บริษัท แคปปิตัล เทรดดิ้ง จำกัด เจ้าของแบรนด์สาหร่าย “ซีลีโกะ” มาร่วมผลิต หลังจากใช้เวลาพัฒนาสินค้ากว่า 1 ปี

อย่างไรก็ตาม การออกผลิตภัณฑ์นอน-แอลกอฮอล์ใหม่ของสิงห์ในครั้งนี้ ดูไม่ผลีผลามเหมือนตอนเปิดตัวชาเขียวพร้อมดื่ม โมชิ แต่เน้นทำตลาดแบบค่อยเป็นค่อยไปด้วยงบประมาณ 60 ล้านบาท โดยมุ่งไปที่กิจกรรม Below the line และโฆษณาทางเคเบิลทีวี และตั้งเป้าส่วนแบ่งการตลาดในปีแรกเพียง 10% หรือ 130 ล้านบาทเท่านั้น

อัตราการเติบโตกลุ่มสินค้านอน-แอลกอฮอล์
ผลิตภัณฑ์ การเติบโต
น้ำดื่มตราสิงห์ 15%
โซดาตราสิงห์ 5%
เครื่องดื่มบีอิ้ง 87.9%

สัดส่วนรายได้ระหว่างผลิตภัณฑ์แอลกอฮอล์ กับนอน-แอลกอฮอล์
ผลิตภัณฑ์แอลกอฮอล์ 90%
ผลิตภัณฑ์นอน-แอลกอฮอล์ 10%

ชื่อสินค้า N-Joy
ประเภทสินค้า ปลาแผ่นกรอบปรุงรส มีทั้งหมด 3 รสชาติ ได้แก่ ออริจินัล ปาปริก้า และวาซาบิ
ราคาและขนาด
28 มิลลิกรัม 20 บาท
15 มิลลิกรัม 10 บาท
สถานที่จัดจำหน่าย เริ่มเข้าสู่ตลาดด้วยการวางจำหน่ายในร้าน 7-11 จากนั้น จึงขยายตามร้านค้าทั่วไป
บรรจุภัณฑ์ เหลือง เขียว และแดง คือ สีหลักของบรรจุภัณฑ์ เพื่อสะท้อนให้เห็นถึงรสชาติที่แตกต่างกันออกไป สีเหลือง คือ รสออริจินัล สีแดง คือ รสปาปริก้า และสีเขียว คือ รสวาซาบิ นอกจากนี้ ยังได้ใส่รูปของ ทอมมี่ แทง เชฟไทยคนดังที่เป็นผู้ปรุงรสให้กับขนมไว้บนผลิตภัณฑ์ เพื่อชูความแตกต่างของสินค้า