ผ่า 4 กลยุทธ์ “ยีนส์ยั่งยืน” Uniqlo คิดใหญ่ตั้งเป้าลดภาระใช้น้ำฟอกผ้าเหลือ 0

Fast Retailng use lasers to burn the jeans to create the distressed looks popular with consumers. (Photo by Naomi Hayase)

Fast Retailing บริษัทแม่แบรนด์ค้าปลีกแฟชั่นญี่ปุ่น Uniqlo โชว์วิสัยทัศน์ไม่ธรรมดาเพื่อการพัฒนาสินค้าผ้ายีนส์เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมแบบยั่งยืน 1 ใน 4 กลยุทธ์สำคัญที่ทำให้ Uniqlo โดดเด่นในวงการยีนส์ยั่งยืนคือการไม่ตั้งเป้าเล็กหรือกระมิดกระเมี้ยนแค่การประหยัดน้ำ 10 – 20% แต่ต้องคิดใหญ่ทำใหญ่ด้วยการวางแผนลดการใช้น้ำในกระบวนการฟอกผ้าจนเหลือ 0 ให้ได้

อีก 3 กลยุทธ์ที่เหลือคือการเทมันสมองเพื่อพัฒนานวัตกรรม ซึ่งจะช่วยให้ Uniqlo มีจุดยืนเข้มแข็งเพื่อชนกับคู่แข่งที่มีเทคโนโลยียีนส์รักษ์โลกเช่นกัน และการเอาจริงเอาจังเพื่อการนำไปใช้ระยะยาว ซึ่งจะเป็นกลยุทธ์หลักที่ทำให้ความพยายามทั้งหมดของ Fast Retailing ปรากฏสู่สายตาชาวโลก 

อีกกลยุทธ์ที่สำคัญคือการคงราคาเดิม ไม่โยนภาระให้ผู้บริโภครับผิดชอบจนเกิดดราม่า

คิดใหม่ทำต้องใหญ่

แทนที่จะตั้งเป้าแบบเหนียมอาย บริษัทแม่ของ Uniqlo ประกาศชัดเจนว่าจะลดการใช้น้ำ 90 – 99% ในการผลิตสินค้าผ้ายีนส์ทั้งหมดของแบรนด์ในเครือให้ได้ในปีหน้า (2020) โดยจะเลือกใช้เทคโนโลยีเลเซอร์และหิน eco stone เพื่อสร้างรูปลักษณ์สินค้าวินเทจ แทนที่จะใช้แรงงานคนและการซักฟอกผ้าเต็มรูปแบบที่จะสิ้นเปลืองน้ำมาก และบริษัทมีแผนรีไซเคิลน้ำเพื่อลดมลภาวะที่อาจเกิดขึ้นจากสายการผลิตสินค้ายีนส์ทั้งหมด

สัดส่วน Impact ยิ่งใหญ่ที่จะเกิดขึ้นจากเป้าหมายนี้เป็นเรื่องสมเหตุสมผล เพราะสถิติล่าสุดพบว่าประมาณ 70% ของแม่น้ำและทะเลสาบในเอเชียมีการปนเปื้อนของน้ำเสีย 2.5 พันล้านแกลลอนที่เกิดจากอุตสาหกรรมสิ่งทอ รายงานจากเว็บไซต์ข่าวด้านสิ่งแวดล้อม EcoWatch ยกตัวอย่างเมือง Xintang ทางตอนใต้ของจีนที่เป็นแหล่งผลิตกางเกงยีนส์ 300 ล้านตัวต่อปี

แทนที่จะใช้เครื่องซักฟอกผ้าแบบดั้งเดิม และการใช้หินภูเขาไฟเพื่อสร้างสีและลวดลายน่าสวมใส่ให้สินค้า บริษัทหันมาใช้เทคโนโลยี “Nano-bubble” พร้อมกับ “eco stone” หินสังเคราะห์ที่มนุษย์สร้างขึ้น จุดเด่นของหินนี้คือสามารถนำมาใช้ซ้ำได้โดยไม่ต้องฟอกผ้า ทำให้สายการผลิตใช้น้ำน้อยลง

นวัตกรรมต้องมา

เพื่อให้ยืนส์ฟอกน้ำน้อยลงแต่สามารถทำความสะอาดสีครามตกค้างได้หมดจด Uniqlo ประเดิมนำเทคโนโลยีการซักด้วยโอโซน ระบบซักล้างแบบไร้น้ำที่น้ำจะถูกใส่เข้าไปในระบบรีไซเคิลนี้ได้รับการออกแบบและผลิตในลอสแองเจลิส สหรัฐอเมริกา ที่ศูนย์นวัตกรรมยีนส์ “Jeans Innovation Center” ซึ่งเป็นศูนย์การวิจัยและพัฒนาที่ Fast Retailing เปิดทำการตั้งแต่ปี 2016

จากรายงาน พบว่านวัตกรรมของ Uniqlo เริ่มต้นเมื่อนักออกแบบของ JIC สร้างลุคยีนส์วินเทจให้สินค้าด้วยคอมพิวเตอร์ จากนั้นจึงใช้เลเซอร์ในการสร้างรอยไหม้บนสินค้ายีนส์ตามที่ออกแบบมา ผลที่ได้คือสินค้าที่ตรงตามความต้องการของผู้บริโภค เบื้องต้น Fast Retailing ระบุว่าได้เริ่มวางแผนทดสอบและประสานกับผู้ผลิตเครื่องจักรมากขึ้น โดยหวังว่าจะลดปริมาณการใช้น้ำได้เกือบ 99%

Masaaki Matsubara ประธานฝ่ายปฏิบัติการของ Fast Retailing JIC เล่าว่า JIC ถูกสร้างขึ้นจากความต้องการของบริษัทในการทำให้การผลิตผ้าเดนิมมีความยั่งยืนมากขึ้น จึงออกแบบนวัตกรรมโดยคำนึงถึงวิสัยทัศน์ ที่ต้องการให้การผลิตผ้ายีนส์มีความสะอาดและใช้ทรัพยากรน้อยลง ซึ่งศูนย์นี้จะช่วยทำให้วิสัยทัศน์นี้เกิดขึ้นได้จริงสำหรับลูกค้าทั่วโลก

เราไม่เคยตั้งใจที่จะลดการใช้น้ำสำหรับการฟอกสินค้ายีนส์เพียงแค่ 10% หรือ 20% แต่เราต้องการลดการใช้น้ำให้เหลือใกล้ศูนย์ ซึ่งการทำให้ได้ระดับนี้เท่านั้นจึงเรียกว่าเป็นนวัตกรรมที่แท้จริง

ขยายผลบนราคาเดิม

Matsubara กล่าวว่ากระบวนการผลิตยีนส์แบบใหม่จะไม่มีผลเพิ่มราคาจนเป็นภาระให้ลูกค้า แถมผู้บริหารหวังว่าในที่สุดแล้ว นวัตกรรมนี้อาจลดต้นทุนสำหรับผู้บริโภคด้วย ทำให้บริษัทวางแผนนำนวัตกรรมเหล่านี้มาใช้กับทุกแบรนด์ในเครือ

ดังนั้นจึงไม่เพียง Uniqlo แต่เทคโนโลยีนี้จะถูกนำไปใช้กับแบรนด์ GU, J Brand, Theory, Helmut Lang และ Comptoir des Cotonniers

แม้จะมีกลยุทธ์สวยหรู แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า Fast Retailing ถูกกดดันจากหลายวงการเพราะแฟชั่นเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่ก่อมลพิษมากที่สุดในโลก ทำให้ผู้ค้าปลีกแฟชั่นหลายรายให้ความสำคัญต่อการประกาศพันธกิจเพื่อเน้นภาพใส่ใจต่อระบบนิเวศน์ของโลก เห็นได้ชัดจากทุกแบรนด์ที่มีเป้าหมายเป็นกลุ่ม Gen Z ทั้ง Nike, H&M, Zara และ Stella McCartney รวมถึงแบรนด์อย่าง Levi’s ก็พยายามชูโรงว่าตัวเองมีนวัตกรรมผ้ายั่งยืนเพื่อการรักษ์โลกกันถ้วนหน้า.

Source