การเติบโตของตลาดอีคอมเมิร์ซ จากข้อมูลของ ETDA ปี 2561 มูลค่าอยู่ที่ 3.05 ล้านล้านบาท เติบโต 9-10% คาดการณ์ถึงปี 2565 อีคอมเมิร์ซไทยยังร้อนแรง น่าจะเติบโตเฉลี่ย 22% ถือเป็นปัจจัยที่ทำให้เกิด “ผู้เล่น” หน้าใหม่ในธุรกิจขนส่งพัสดุทั้งไทยและต่างชาติ ดาหน้าเข้ามาขยายธุรกิจ หวังชิงเม็ดเงินกว่า 28,000 ล้านบาท
ปัจจุบัน “ผู้นำ” ในตลาดขนส่งพัสดุ ฝั่งภาครัฐเบอร์หนึ่ง คือ ไปรษณีย์ไทย และส่วนเบอร์ 2 ของตลาดในฟากเอกชน คือ Kerry Express โดยเบอร์ 1 และ 2 ครองส่วนแบ่งตลาดร่วมกันกว่า 80% แต่ทุกแบรนด์ก็มีโอกาสเข้ามาแย่งเค้กก้อนนี้ได้เช่นกัน ในวันที่อีคอมเมิร์ซยังโตไม่หยุด
Ship Smile ปั้นศูนย์บริการรวมทุกแบรนด์
สฐีรณัฐ ลาภไกวัล ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ชิปป์สไมล์ เซอร์วิส จำกัด (Ship Smile Services) ผู้ให้บริการร้านสารพัดงานบริการ ทั้งจุดรับส่งพัสดุ จ่ายบิลค่าบริการต่างๆ กล่าวว่า ธุรกิจอีคอมเมิร์ซในประเทศไทย ยังขยายตัวได้อีก เพราะปัจจุบันมีสัดส่วนเพียง 3% ของธุรกิจค้าปลีก หากไปได้ถึง 10% นั่นเท่ากับธุรกิจขนส่งจะขยายตัวได้มหาศาลเช่นกัน
บริษัทจึงเห็นโอกาสในการสร้างธุรกิจและเปิดให้บริการ Ship Smile Services ศูนย์รวมบริการขนส่งจากพันธมิตรหลายแบรนด์ ไม่ว่าจะเป็น ไปรษณีย์ไทย, แฟลช เอ็กซ์เพรส, อัลฟ่า, ดีเอชแอล เป็นต้น ปัจจุบันเปิดให้บริการแล้ว 600 สาขาทั่วประเทศ
ลูกค้าที่เข้ามาใช้บริการในร้าน Ship Smile สามารถเลือกได้ว่าจะใช้บริการของบริษัทขนส่งรายใด โดยอัตราค่าส่งเท่ากับราคาที่ทุกแบรนด์ให้บริการในสาขาของตัวเอง โดย “ไม่คิดค่าบริการเพิ่ม” ราคาเริ่มต้นที่ 25 บาท และให้บริการเก็บเงินปลายทาง (COD) รูปแบบการหารายได้มาจากแบ่งกำไรจากยอดส่งพัสดุร่วมกับธุรกิจขนส่งที่เป็นพันธมิตร
นอกจากนี้ในร้านยังให้บริการพื้นฐานด้านอื่นๆ เช่น การชำระเงินออนไลน์ต่างๆ การทำเรื่องพรบ. การต่อภาษีรถ โดยจะเพิ่มเติมเซอร์วิสใหม่ๆ เข้ามาต่อเนื่อง เช่น จ่ายเงินจองตั๋วโดยสาร จุดรับเอกสารการขอสินเชื่อของธุรกิจเช่าซื้อ ลูกค้าที่เข้ามาใช้บริการปัจจุบันในขณะนี้เกือบ 100% ยังเป็นบริการส่งพัสดุ โดยเป็นกลุ่มพ่อค้าแม้ค้าออนไลน์ส่งปริมาณมากและลูกค้าทั่วไป
ปั้นโมเดลแฟรนไชส์ 2,000 แห่งปี 2563
บิสสิเนส โมเดล ของ Ship Smile เป็นการขยายสาขาแฟรนไชส์ทั้งหมด ช่วงแรกเป็นร้านเต็มรูปแบบ หรือพื้นที่อาคารพาณิชย์ 1 คูหา คิดค่าแฟรนไชส์ครั้งเดียว ราคา 2.9 แสนบาท ซึ่งจะได้รับการตกแต่งร้านและติดตั้งอุปกรณ์ต่างๆ ให้ครบ อีกรูปแบบคือ Drop Off เป็นจุดรับบริการขนาดเล็ก ค่าแฟรนไชส์ 29,000 บาท ซึ่งจะได้รับการตกแต่งและอุปกรณ์เช่นเดียวกัน
สิ้นปีนี้คาดว่าจะมีสาขา Ship Smile ราว 1,000 แห่ง โฟกัสสาขาไซส์เล็ก Drop Off เป็นหลักสัดส่วน 80% เน้นแฟรนไซส์ที่มีหน้าร้านทำธุรกิจอื่นอยู่แล้ว และเปิดแฟรนไชส์ Ship Smile เป็นอีกจุดบริการในพื้นที่เดิม เพื่อเพิ่มโอกาสหารายได้ เช่น ร้านกาแฟ หน้าร้านของพ่อค้าแม่ค้าออนไลน์
หลังเปิดบริการมาแล้ว 2 ปี มีสาขาทั่วไทยกว่า 600 สาขา คาดว่าสิ้นปีนี้ที่จะครบ 1,000 สาขา จะทำรายได้รวมกว่า 80 ล้านบาท เติบโตกว่า 1,000% ปัจจุบันมียอดรับส่งพัสดุ 4 แสนชิ้นต่อเดือน สิ้นปีนี้คาดเพิ่มเป็น 1 ล้านชิ้นต่อเดือน
“เราวางเป้าหมายปี 2563 จะมีสาขาครบ 2,000 แห่ง ครอบคลุมในทุกตำบลเล็กๆ ไปจนถึงอำเภอ และเพิ่มบริการส่งสินค้าไปยังต่างประเทศอีกด้วย”
ประกบทำเล “เคอรี่” ชี้ดีมานด์ยังมี
จากแนวโน้มการเติบโตของตลาดอีคอมเมิร์ซในไทย ทำให้มีพ่อค้าแม่ค้าออนไลน์หน้าใหม่เกิดขึ้นตลอดเวลา รวมทั้งมีการพัฒนาแพลตฟอร์มการขายสินค้าใหม่ๆ จึงมองว่าตลาดอยู่ในสภาวะ Supply น้อยกว่า Demand ก็คือสินค้าในตลาดออนไลน์มากกว่าขนส่งที่ให้บริการ จึงเป็นโอกาสของธุรกิจขนส่งพัสดุที่ยังเปิดสาขาได้อีก
กลยุทธ์การเลือกทำเลเปิดสาขาของ Ship Smile จะเปิดประกบในพื้นที่ที่มีสาขาของ “เคอรี่ เอ็กซ์เพรส” เปิดให้บริการอยู่ เพราะเชื่อว่ายังมีดีมานด์ จากการที่ลูกค้าต้องรอต่อคิวใช้บริการ ซึ่งเป็นโอกาสที่จะมาใช้เซอร์วิสของ Ship Smile ที่มีให้เลือกหลายแบรนด์ขนส่งในร้านเดียว
“ผู้นำอันดับหนึ่งในตลาดขนส่งพัสดุขณะนี้ยังเป็นไปรษณีย์ไทย ด้วยจำนวนสาขาคิดว่าคงแซงได้ยาก ส่วนอันดับ 2 เคอรี่ เป็นผู้เล่นที่ยังมีโอกาสเข้าไปแข่งขันชิงลูกค้าได้ จากกลยุทธ์รวมทุกแบรนด์ขนส่งไว้ในร้านเดียว ก็มีโอกาสที่ลูกค้าจะไหลมาที่เราได้เช่นกัน”