“ซิงเกอร์” ถือเป็นแบรนด์สินค้าอายุกว่า 130 ปี ที่คนไทยรู้จักเป็นอย่างดี เริ่มจากจักรเย็บผ้า ปัจจุบันมีทั้งสินค้าและบริการของแบรนด์ซิงเกอร์ และที่ไม่ใช่แบรนด์ซิงเกอร์ การทำตลาดในช่วง 3 ปีนี้ คือการเข้าถึงผู้บริโภคลงลึกระดับ “ตำบล” ด้วยเป้าหมายเปิดร้านแฟรนไชส์ให้ครบ 7,000 สาขา
กิตติพงศ์ กนกวิไลรัตน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ซิงเกอร์ประเทศไทย จำกัด (มหาชน) หรือ SINGER กล่าวว่าแผนธุรกิจในช่วง 3 ปีนี้จะขยายสาขาหรือ “ร้านซิงเกอร์” ให้ครอบคลุมทั่วประเทศถึงระดับตำบล ด้วยการขาย แฟรนไชส์ให้กับผู้ที่สนใจร่วมธุรกิจ โดยตั้งเป้าขยายแฟรนไชส์หรือสาขาย่อยให้มีประมาณ 300 สาขาหลัก และ 7,000 สาขาย่อย ครอบคลุม 925 อำเภอ รวม 77 จังหวัด ภายในปี 2565 เพื่อสร้างกรเติบโตมีรายได้เพิ่มเป็น 7 เท่า ภายในปี 2565
จากปัจจุบัน ซิงเกอร์ มีสาขารวมกัน 1,051 สาขา แบ่งเป็นร้านสาขาหลัก 182 สาขา ร้านแฟรนไชส์หรือสาขาย่อย 869 สาขา ครอบคลุม 763 ตำบล จาก 475 อำเภอ ใน 76 จังหวัดทั่วประเทศ ขาดจังหวัดเดียวคือ แม่ฮ่องสอนที่จะเปิดเร็วๆ นี้ หลังจากที่เคยมีสาขาและปิดไปก่อนหน้านี้
โดยวางเป้าหมายต้องเปิดสาขาได้ประมาณ 150 สาขาต่อเดือนจากนี้ เพื่อให้ถึงเป้าหมายที่ตั้งไว้ โดยช่วง 2 – 3 เดือนที่ผ่านมาเปิดสาขาเฉลี่ย 120 – 140 สาขาต่อเดือน ซึ่งคาดว่าภายในสิ้นปี 2562 จะมีรวมเป็น 200 สาขาหลัก กับอีก 2,000 สาขาย่อย
โมเดลแฟรนไชส์ของซิงเกอร์ จะไม่มีการเก็บค่าแรกเข้า ค่าธรรมเนียมรายปี ไม่ต้องลงทุนในการซื้อสินค้าไปสต๊อก ได้เป็นเจ้าของกิจการของตนเอง ในแต่ละโมเดลจะใช้ยอดขายเป็นเกณฑ์ในการแบ่งรายได้ ซึ่งจะส่งผลต่อการจัดรูปแบบร้าน การวางสินค้า และการคิดคำนวณค่าตอบแทนการขายที่ไม่เหมือนกัน และขายสินค้าได้ทั้งในรูปแบบของระบบเงินสดและเงินผ่อน
สำหรับร้านแฟรนไชส์ มี 3 รูปแบบและเงื่อนไขต่างกันไปแต่หลักๆ คือ 1. แบบสแตนดาร์ดหรือมาตรฐาน จะมีรายได้คือ 6% จากยอดขาย และค่าบริการเก็บเงินอีก 5 – 10% 2. แบบพรีเมียม รักษายอดขายไว้ที่ 3 แสนบาทต่อเดือน ค่าบริหารงานขาย 8% และค่าบริหารการเก็บเงิน 5 – 10% และ 3. แบบพาร์ทเนอร์ มียอดขาย 6 แสนบาทต่อเดือน ค่าบริหารงานขาย 10% และค่าบริหารการเก็บเงิน 5 – 10%
“ผู้เป็นแฟรนไชส์ไม่ต้องซื้อสินค้าจากเรา ไม่ต้องมีสต๊อก เพียงแต่มีคนค้ำประกันให้เท่านั้น ตามวงเงินที่รับสินค้าไป แต่จะมีรายได้จากการขาย การสร้างทีมขาย การบริหารบัญชีลูกค้าของตนเอง ขายสินค้าได้ทั้งระบบเงินสดและเงิน ผ่อน โดยจะได้รับเงินสัปดาห์ละ 2 ครั้งเข้าบัญชี และทุกสิ้นเดือนจะได้รับส่วนแบ่งที่เป็นอินเซนทีฟ บริษัทจะเป็นผู้ดูแลด้วยการนำระบบที่ใช้งานได้ทันทีผ่านแอปพลิเคชันบนมือถือ และมีทีมงานบริหารหลังบ้าน (back office) คอยสนับสนุน”
สำหรับสินค้าและบริการมี 2 – 3 ระดับและมีสัดส่วนรายได้ยอดขายคือ 1. การทำคาร์ฟอร์แคชหรือนอนซิงเกอร์ มีสัดส่วน 50% และ 2. การขายสินค้าแบรนด์ซิงเกอร์ ซึ่งจ้างผลิตทั้งหมด มีสัดส่วน 50% แต่ในแง่สินค้านั้นมี 3 กลุ่ม คือ เครื่องใช้ไฟฟ้า เช่น ทีวี ตู้เย็น แอร์ เครืองซักผ้า สัดส่วน 65%, กลุ่มหยอดเหรียญ ตู้แช่ สัดส่วน 30% และกลุ่มมือถือ 5%
โดยวางเป้าหมายจะปรับสัดส่วนเป็น กลุ่มนอนซิงเกอร์ 65% และ การขายสินค้าแบรนด์ซิงเกอร์ 35% ในปีหน้า และภายในปี 2565 จะเป็นนอนซิงเกอร์หรือการปล่อยสินเชื่อ 75% ส่วนแบรนด์ซิงเกอร์ 25%
ปัจจุบันมียอดสินเชื่อจากลูกหนี้หรือลูกค้าประมาณ 4,000 ล้านบาท โดยมีวงเงินหนี้สำรองประมาณ 20 – 30 ล้านบาทต่อเดือน และจะเพิ่มเป็น 6,000 ล้านบาทในปีหน้า และปี 2565 จะเพิ่มเป็น 8,000 ล้านบาท