ในยุคที่อินเทอร์เน็ตพื้นที่ครอบคลุมไปทั่วโลก เป็นโอกาส “ธุรกิจอีคอมเมิร์ซ” ที่สามารถเข้าถึงลูกค้าได้อย่างไร้พรมแดน ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ถือเป็นตลาดที่กำลังแข่งขันแย่งชิงบัลลังก์ราชาแห่งร้านค้าอีคอมเมิร์ซกันอย่างดุเดือด
แน่นอนว่านอกจากร้านค้าชื่อคุ้นหูอย่าง Lazada (ลาซาด้า) และ Shopee (ช้อปปี้) แล้ว ในแต่ละไตรมาสก็จะมีร้านค้าน้องใหม่ทั้งในและนอกประเทศ เปิดตัวเข้ามาช่วงชิงเม็ดเงินที่กำลังเติบโตอยู่เสมอ
ดังนั้น iPrice แหล่งช้อปปิ้งเปรียบเทียบราคาสินค้าออนไลน์ในภูมิภาคอาเซียน สรุปตลาดอีคอมเมิร์ซ ไตรมาส 2 ปี 2019 เพื่อให้เห็นทิศทางของผู้ประกอบการแต่ละราย
ศึกช้างชนช้าง Lazada VS Shopee
แม้ Lazada จะเป็นร้านค้าอีคอมเมิร์ซยักษ์ใหญ่ที่เปิดตัวมานานจนชื่อเสียงติดปากนักช้อป แต่ Shopee ก็เป็นร้านค้าที่ช่วยพิสูจน์สำนวนไทยที่ว่า “ความพยายามอยู่ที่ไหน ความสำเร็จอยู่ที่นั่น” ได้เป็นอย่างดี ปัจจุบันในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ Shopee ถือเป็นร้านค้าอีคอมเมิร์ซที่มีผู้เข้าชมสินค้ามากที่สุด แซงหน้า Lazada ไปเมื่อไตรมาส 1 ปี 2019
หากมองย้อนไป 1 ปีก่อนหน้านี้จะเห็นความพยายามที่มากขึ้นเรื่อยๆ ของ Shopee ที่พยายามก้าวขึ้นมากระทบไหล่กับ Lazada ความบากบั่นนี้เริ่มเห็นผลลัพธ์ชัดเจนขึ้นตั้งแต่ไตรมาสที่ 4 ปี 2018 ที่ Lazada มีจำนวนผู้เข้าชมสินค้าเกือบ 200 ล้านคน ขณะที่ Shopee ทิ้งห่างอยู่ประมาณ 20 ล้านคน แต่ก็ตามมาก้าวแซงหน้าได้เล็กน้อยในไตรมาส 1 ปี 2019 และนำหน้าอย่างเห็นได้ชัดในไตรมาส 2 ปี 2019
รวมไปถึงจำนวนการดาวน์โหลดแอปพลิเคชันที่ Shopee ขึ้นเป็นอันดับที่ 1 ถึง 5 – 6 ประเทศในภูมิภาค โดย Lazada ครองอันดับที่ 1 ในประเทศไทยเท่านั้น
ปรากฎการณ์แซงหน้าของ Shopee นี้ หาก Lazada ยังไม่มีแผนเด็ดมาทวงบัลลังก์คืน คาดว่าอาจเสียแชมป์ไปอย่างกู่ไม่กลับก็เป็นได้ งานนี้คงต้องวัดกันที่ครึ่งปีหลังของปี 2019 ว่า Lazada จะกลับมาทำให้เกมพลิกได้หรือไม่
JD Central ชิงเค้กตลาดไทย
ต้องถือว่าไม่ง่ายเลยที่ร้านค้าอีคอมเมิร์ซหน้าใหม่จะก้าวขึ้นมาติดอันดับต้นๆ ในภูมิภาคได้ในเวลาอันสั้น แต่ไม่ใช่กับ JD Central ที่เพิ่งเปิดตัวช่วงไตรมาส 2 ปี 2018 แต่กลับเป็นร้านค้าอีคอมเมิร์ซที่มีผู้เข้าชมสินค้าติดอันดับ 1 ใน 10 ของประเทศไทย และครองอันดับ 4 ในประเทศไทย ของแอปพลิเคชันที่มีผู้ใช้งานรายเดือนสูงสุดอีกด้วย (Monthly Active User)
ดูเหมือนความสำเร็จจะอยู่ภายใต้การคุมบังเหียนของ JD.com ที่เลือกจับมือกับเจ้าของห้างสรรพสินค้ายักษ์ใหญ่อย่าง Central ในไทย ยังไม่นับ JD.ID (ติดอันดับที่ 5 ในประเทศอินโดนีเซีย) และการมอบเงินระดมทุนให้กับ Tiki (ติดอันดับที่ 3 ในประเทศเวียดนาม)
ครึ่งปีแรก 2019 ตลาดประเทศไหนแข่งดุ
หากพูดถึงตลาดอีคอมเมิร์ซในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ประเทศที่เป็นแกนนำสำคัญในการขับเคลื่อนเห็นจะได้แก่ มาเลเซีย อินโดนีเซีย เวียดนาม สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ และ ไทย ในโลกธุรกิจการเปิดตัวแรงตั้งแต่ 1 – 2 ไตรมาสแรกดูจะเพิ่มแต้มต่อได้ดี หากลองนำจำนวนผู้เข้าชมสินค้า (Traffic) ของร้านค้าอีคอมเมิร์ซ 10 อันดับแรกในแต่ละประเทศมาวิเคราะห์กันจะเห็นผลลัพธ์อย่างชัดเจนว่าตลาดอีคอมเมิร์ซในประเทศไหนเปิดตัวได้ดุที่สุด ดังนี้
อินโดนีเซีย : ตลาดอีคอมเมิร์ซที่หากวัดกันที่จำนวนประชากรดูจะชนะขาดลอย มากไปกว่านั้นยังเป็นประเทศที่มีกลยุทธ์ทางการตลาดเหนือชั้นเป็นอันดับที่ 1 เห็นได้จากการเปรียบเทียบระหว่างครึ่งปีแรก 2018 VS 2019 ที่มีจำนวนผู้เข้าชมเว็บไซต์เพิ่มขึ้น 14%
เวียดนาม : อีกหนึ่งตลาดอีคอมเมิร์ซที่เปิดตัวได้ดุเดือด เป็นอันดับที่ 2 จากการมีผู้เข้าชมเว็บไซต์เพิ่มขึ้น 11% ซึ่งนอกจากตลาดอินโดนีเซียแล้ว เวียดนามดูจะเป็นประเทศที่มีกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจที่ดี ต่างจากอีก 4 ประเทศที่เหลือ ซึ่งมีจำนวนผู้เข้าชมเว็บไซต์น้อยลงเมื่อเทียบกับครึ่งปีแรกของปี 2018
ไทย : แม้จะเป็นตลาดอีคอมเมิร์ซที่จำนวนผู้เข้าชมเว็บไซต์น้อยลงจากครึ่งปีแรก 2018 แต่ก็ลดลงเพียง 5% เท่านั้น เมื่อเทียบกับอีก 3 ประเทศที่เหลือซึ่งลดลงเป็นถึงตัวเลขสองหลัก นับว่าไทยเป็นตลาดอีคอมเมิร์ซขนาดกลางที่ต้องคอยรอลุ้นว่าในอนาคตจะโตขึ้นหรือเล็กลงกันแน่
มาเลเซีย : ประเทศที่ถูกเรียกว่า English country ทำให้มีจำนวนนักลงทุนเข้าไปเปิดธุรกิจสตาร์ทอัป และอีคอมเมิร์ซน้อยใหญ่กันเนื่องแน่น แต่กลยุทธ์ทางการตลาดกลับมีประสิทธิภาพลดลงกว่าครึ่งปีแรกปี 2018 ทำให้จำนวนผู้เข้าชมเว็บไซต์ลดลงถึง 33% มากที่สุดในบรรดา 6 ประเทศ
ฟิลิปปินส์ : อีกหนึ่ง English Country แต่มีจำนวนนักลงทุนเข้าไปประกอบธุรกิจไม่มากเท่ามาเลเซีย ในด้านตลาดอีคอมเมิร์ซก็มีจุดโดดเด่นไม่เยอะ ร้านค้าดังๆ ส่วนใหญ่จะมาจากภายนอก ซึ่งมีเพียง Argomall เท่านั้นที่มีสัญชาติฟิลิปปินส์ติดอยู่ในอันดับที่ 5 ของจำนวนร้านค้าอีคอมเมิร์ซทั้งหมด (ในฟิลิปปินส์) มีจำนวนผู้เข้าชมเว็บไซต์ลดลง 29% จากครึ่งปีแรก 2018
สิงคโปร์ : ประเทศที่มีจำนวนประชากรไม่มาก แต่กำลังซื้อสินค้าอีคอมเมิร์ซเรียกได้ว่าดูแคลนไม่ได้ มีจำนวนผู้เข้าชมเว็บไซต์ลดลง 20% เมื่อเปรียบเทียบจากครึ่งปีแรก 2018
นี่เป็นแค่ผลสรุปของไตรมาส 2 ซึ่งดูเหมือนว่าในไตรมาส 3 ร้านค้าอีคอมเมิร์ซได้งัดไม้เด็ดโปรโมชันและส่วนลดมาปูทางเพื่อก้าวเข้าสู่ไตรมาส 4 ที่จะตามมาด้วยเทศกาล 11.11 Sale, 12.12 Sale และ Black Friday นับเป็น 3 อีเวนต์อีคอมเมิร์ซยักษ์ใหญ่ส่งท้ายปี ยังคงต้องตามดูถึงโค้งสุดท้ายว่าใครจะครองบัลลังก์ ร้านค้าอีคอมเมิร์ซตัวจริงในปี 2019 กันแน่!