ประชากรออนไลน์ไทย 90% ใช้ YouTube ตามดูพฤติกรรมเสพคอนเทนต์เปลี่ยนไปอย่างไร

หลังจาก YouTube เข้ามาเปิดบริการในเมืองไทยอย่างเป็นทางการเมื่อปี 2557 ก็ได้เห็นความเปลี่ยนแปลงมากมายที่เกิดขึ้นจากแพลตฟอร์มนี้ ไม่ว่าจะเป็นจำนวนผู้ใช้งานที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง สอดคล้องกับจำนวนผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตที่เพิ่มขึ้น ปัจจุบันมีผู้ใช้งาน YouTube ชาวไทยมากถึง 90% จากจำนวนประชากรออนไลน์ทั้งหมด

 

Google ประเทศไทย รายงานผลวิจัยข้อมูลเชิงลึกจาก Think with Google ซึ่งเป็นเครื่องมือของ Google ในการวิเคราะห์พฤติกรรมการใช้ YouTube ที่มีหลายสิ่งที่น่าสนใจ ไม่ว่าจะเป็นการใช้งานในต่างจังหวัดที่เพิ่มขึ้น มีคอนเทนต์ที่มีเอกลักษณ์ของตัวเอง ตัวอย่างคอนเทนต์ประเภท การค้นหาเกี่ยวกับการเรียน การปลูก หรือการซ่อม บน YouTube ล้วนแล้วแต่มาจากจังหวัดที่เป็นเมืองรอง ซึ่งสอดคล้องกับผลวิจัยเชิงลึก Hunt 2019 ของ Mindshare ที่พบว่าผู้บริโภคไทยในหัวเมืองรอง เรียนดนตรี กีฬา ทำอาหาร เรียนภาษาอังกฤษ ผ่าน YouTube

อีกทั้งยังมีการเพิ่มจำนวนของ “ครีเอเตอร์” ซึ่งสร้างคอนเทนต์เผยแพร่ให้กับผู้อื่นจนสร้างผู้ติดตามจำนวนมาก ปัจจุบันมีช่อง YouTube ที่มีผู้ติดตามมากกว่า 10 ล้านคน มากถึง 6 ช่อง มีครีเอเตอร์ที่เป็นคนธรรมดาคนแรกอย่าง “เก๋ไก๋สไลเดอร์” ที่สามารถสร้างผู้ติดตามได้มากกว่า 10 ล้านคนภายในระยะเวลาเพียง 2 ปีเท่านั้น

สร้างไพรม์ไทม์ส่วนตัวบน YouTube

เดิมช่วง “ไพรม์ไทม์” คือ ช่วงเวลาที่ผู้ชมติดตามดูคอนเทนต์ที่ต้องการรอดู และเสียดายหากต้องพลาดช่วงเวลาดังกล่าวไป แต่บนแพลตฟอร์ม YouTube แต่ละคนสามารถมีช่วงเวลาไพรม์ไทม์ในการดูคอนเทนต์ที่ตัวเองชื่นชอบเมื่อไรก็ได้ ที่ไหนก็ได้ เวลาไหนก็ได้ สามารถดูคอนเทนต์ทั้งสาระและบันเทิงได้เมื่อต้องการโดยไม่จำเป็นจะต้องเหมือนคนอื่น เพราะคอนเทนต์ใน YouTube มีจำนวนมากมาย ไม่ว่าจะเป็น ข่าวสาร บันเทิง รวมไปถึง การแก้ไขปัญหาต่างๆ และนั่นคือปรากฏการณ์สำคัญที่ YouTube ได้สร้างให้กับสังคมไทย เพื่อให้ทุกคนสามารถสร้างช่วงเวลาไพรม์ไทม์ส่วนตัวขึ้นมาได้.