Facebook เปิด 3 ฟีเจอร์ใหม่ย้ำโฆษณาโปร่งใส “ปัดข้อหาดักฟัง”

ปัจจุบัน “เฟซบุ๊ก” ถือเป็นแพลตฟอร์มโซเชียล มีเดียทรงอิทธิพล มีฐานผู้ใช้กว่า 2,300 ล้านคนทั่วโลก ในประเทศไทยมีบัญชีผู้ใช้กว่า 55 ล้านคน มีจำนวนผู้ใช้กว่า 38 ล้านคนต่อวัน ทำให้เฟซบุ๊ก เป็นแพลตฟอร์มหลักที่ใช้ในการสื่อสารของแบรนด์และผู้บริโภคในปัจจุบัน เพื่อสร้างความมั่นใจในการใช้งาน ได้เปิดตัว 3 ฟีเจอร์ใหม่ยกระดับโฆษณาโปร่งใส

เจมส์ ตัน ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาดผลิตภัณฑ์ ประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก Facebook กล่าวว่าปัจจุบัน Facebook ดำเนินธุรกิจโฆษณาบน 7 หลักการที่เน้นความโปร่งใส เพื่อให้ทุกฝ่ายทั้งผู้ใช้และนักโฆษณาสามารถควบคุมโฆษณาได้ ขณะเดียวกันก็โฟกัสกับการพัฒนาระบบคัดเลือกโฆษณาที่คำนึงถึงผู้ใช้งานก่อนเสมอ

“หลักการโฆษณาของ Facebook คือสร้างเครื่องมือโฆษณาโดยคิดถึงผู้ใช้ก่อน รองลงมาจึงเป็นการเปิดให้ทุกฝ่ายมีความสามารถในการควบคุมโฆษณา เราจะเน้นความโปร่งใสในการโฆษณา และไม่ได้บริการเฉพาะธุรกิจใหญ่ แต่จะรองรับธุรกิจเล็กด้วย”

3 ฟีเจอร์ใหม่เน้นความโปร่งใส

ผู้บริหาร Facebook ระบุถึง 3 ฟีเจอร์ล่าสุดที่ Facebook ออกแบบมาเพื่อยกระดับความโปร่งใสของระบบโฆษณา 1 ใน 3 ฟีเจอร์นั้นคือ “แอดไลบรารี” (Ad Library) ห้องสมุดข้อมูลโฆษณาที่รันบนแพลตฟอร์ม Facebook ผู้ใช้จะเห็นได้ว่ามีโฆษณาอะไรที่รันบนแพลตฟอร์มบ้าง ทำให้โปร่งใสเพราะผู้ใช้สามารถตรวจสอบได้ โดยที่ผู้ใช้ไม่ต้องมีบัญชี Facebook ก็สามารถชมได้เช่นกัน

ฟีเจอร์ที่ 2 คือ “ทำไมฉันจึงเห็นโฆษณานี้” ซึ่งผู้ใช้สามารถคลิกที่ 3 จุดบริเวณมุมขวาของโฆษณา ผู้ใช้จะเห็นหัวข้อ “ทำไมฉันจึงเห็นโฆษณานี้” ซึ่งเนื้อหาภายในจะตอบอย่างโปร่งใสว่าข้อมูลใดที่ทำให้โฆษณากำหนดผู้ใช้รายนั้นเป็นกลุ่มเป้าหมาย ประเด็นนี้ชาว Facebook สามารถควบคุมได้ด้วยการตั้งค่าปิดโฆษณาที่ไม่ชื่นชอบ ซึ่งบางครั้งโฆษณา Facebook อาจถูกแสดงเพราะการเป็นเพื่อนกับผู้ใช้บางราย รวมถึงช่วงอายุที่เข้าข่าย

“ข่าวลือที่ว่าเราแอบฟังผู้บริโภคไม่ใช่ความจริง ผู้ใช้สามารถเข้าไปดูได้ว่าเพราะอะไร Facebook จึงแสดงโฆษณานี้ การเปิดดูอาจได้รับคำตอบว่าอาจเป็นเพราะเพื่อนเคยเสิร์ช แล้วระบบพบว่าอยู่กับเพื่อนคนนี้ และเป็นกลุ่มเป้าหมายที่อายุเท่ากัน ระบบก็จะแสดงโฆษณาขึ้นมา”

อีกฟีเจอร์ที่ Facebook ต้องการเพิ่มความโปร่งใสให้ระบบคือ ออฟ-เฟซบุ๊ก แอคทิวิตี้ คอนโทรล (Off-Facebook Activity Control) หลักการคือการเปิดให้ผู้ใช้ควบคุมส่วนที่นอกเหนือจากแพลตฟอร์ม Facebook ซึ่งจะแสดงว่าเว็บไซต์ใดที่ร่วมมือเป็นพันธมิตรกับ Facebook ทำให้ผู้ใช้สามารถเลือกตัดการเชื่อมต่อ ไม่ให้ Facebook เก็บข้อมูลไปโฆษณาได้

เบื้องต้น Facebook นำร่องเปิดให้ผู้ใช้ใน 3 ประเทศก่อน คือ เกาหลีใต้ สเปน และไอร์แลนด์ หลังจากนั้นจะทยอยให้ผู้ใช้กว่า 1 พันล้านคนที่ใช้งานในเว็บไซต์พันธมิตร Audience Network ทั่วโลกรวมถึงคนไทย สามารถควบคุมกิจกรรมที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับ Facebook แต่เชื่อมโยงถึงกันได้ภายในปีนี้

โฆษณา Instagram Stories เด่นกว่าเดิม

นอกจากฐานผู้ใช้ Facebook ที่มีมากกว่า 2,300 ล้านคนทั่วโลก ยังมีผู้ใช้อีกกว่า 1,000 ล้านคนบนอินสตาแกรม (Instagram) ล่าสุด Facebook มั่นใจว่า Instagram จะเป็นหนึ่งในพื้นที่หลักที่ทำให้ธุรกิจโฆษณาของบริษัทเติบโต

จุดต่างของ Instagram คือผู้ใช้จะไม่ได้ให้ความสำคัญเฉพาะเพื่อนหรือครอบครัวเหมือนบน Facebook แต่จะเน้นที่ความสนใจส่วนตัว สถิติพบว่าทั่วโลก 80% ของคนบน Instagram จะติดตามข่าวจากแบรนด์ธุรกิจ และชาว Instagram กว่า 370 ล้านคนเข้าไปดูโปรไฟล์ธุรกิจทุกวัน

“เทรนด์ใช้งาน Stories เยอะขึ้นทั้งใน Facebook และ Instagram ปัจจุบัน มีการสร้าง Stories เกิน 500 ล้านเรื่องราวต่อวันบน Instagram หากมองโฆษณาบน Instagram Stories จะดึงดูดผู้ใช้มากเพราะการแสดงเต็มจอ เคลื่อนไหวได้”

ล่าสุด Facebook เปิดตัวฟังก์ชัน อินเทอร์แอคทิวิตี้ (Interactivity) ให้ผู้ใช้ Instagram มีส่วนร่วมและมีปฏิสัมพันธ์กับโฆษณานั้น สามารถเลือกว่าชอบเฟรนซ์ฟรายหรือโดนัท เพื่อให้เลือกดูเฉพาะโฆษณาที่ชอบได้ ในราคาต้นทุนที่ต่ำกว่าวิดีโอทั่วไป

นอกจากนี้ยังมีระบบไดนามิกแอด (Dynamic Ad) ระบบโฆษณาที่จะเปลี่ยนสีพื้นหลังตามสินค้าบนโฆษณา เป็นระบบอัตโนมัติที่ Facebook เชื่อว่าจะกระตุ้นตลาดโฆษณาบน Instagram ได้

ก้าวต่อไปของ Instagram คือผู้มีอิทธิพลหรือ Influencer ผู้ใช้ Instagram กว่า 69% บอกว่าใช้ Instagram แล้วได้เข้าไปพูดคุยปฏิสัมพันธ์กับคนดังที่ชื่นชอบ Instagram จึงมีเครื่องมือ “แบรนด์เดดคอนเทนต์” (Branded Content) ให้แบรนด์ร่วมกับ Influencer เพื่อโปรโมทสินค้าหรือบริการได้อย่างเป็นทางการ ข้อดีคือจะไม่แสดงโพสต์เฉพาะผู้ติดตาม Influencer รายนั้นเท่านั้น เพราะถ้าร่วมเป็น Branded Content ก็จะเข้าถึงคนทั่วไปได้มากขึ้น กำหนดกลุ่มเป้าหมายได้โปร่งใส

เราอยากให้ Influencer ใช้ฟังก์ชันนี้เพราะโปร่งใส ได้รู้เลยว่าเป็นความร่วมมือกัน

Source