ยุคนี้ใครจะรอ! ส่องพฤติกรรมสังคม “ออนดีมานด์” บริการโดนใจ “ช้อปปิ้งออนไลน์-โมบายแบงกิ้ง”

ปัจจุบันอัตราการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตทั่วโลกอยู่ที่ 55% ขณะที่ประเทศไทยสูงกว่าโดยอยู่ในระดับ 79% การก้าวเข้าสู่สังคม 5.0 ที่มี “มือถือ” เป็นอุปกรณ์คอนเนคทุกอย่าง ได้ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมผู้บริโภคให้กลายเป็น Nowness ไม่ใช่แค่ของมันต้องมี แต่ต้องได้ ต้องมีเดี๋ยวนี้ เป็นยุคของ On-Demand เต็มรูปแบบ และเป็นสิ่งที่ธุรกิจต้องทรานส์ฟอร์มตามให้ทัน!

“มีเดียคอม ประเทศไทย” จัดสัมมนา MediaCom BLINK_live Thailand ปี 2019 เพื่ออัพเดทเทรนด์สื่อดิจิทัลและการสื่อสารการตลาด ในยุคสังคม On-demand พร้อมนำเสนอผลวิจัย “ยุคนี้…ใครจะรอ ผลสำรวจพฤติกรรมผู้บริโภคเพื่อเข้าสู่สังคม 5.0”

เอกดนัย ยุกตะนันท์ ผู้อำนวยการแผนกบริหารธุรกิจ มีเดียคอม (ประเทศไทย) ให้ข้อมูลว่าแนวโน้มการเติบโตของจำนวนประชากรออนไลน์ไทย ทำให้พฤติกรรมผู้บริโภคเป็นรูปแบบ “ออน ดีมานด์” มากขึ้น หรือเรียกได้ว่า Thailand Land of Demanded Connection

จุดเริ่มต้นของ “ออน ดีมานด์” มาจากการใช้งานโทรศัพท์มือถือ จากนั้นพัฒนาสู่รูปแบบอื่นๆ เช่น ช้อปปิ้ง ท่องเที่ยว จองตั๋วออนไลน์ Food Delivery ถือเป็นบริการออน ดีมานด์ ที่คนไทยใช้มากที่สุด

หากเปรียบเทียบจากปี 2018 ในปี 2019 พบว่าบริการออน ดีมานด์ มีอัตราการเติบโตขึ้น ไม่ว่าจะเป็น การจ่ายบิลผ่านมือถือ เพิ่มขึ้น 160% โมบาย แบงกิ้ง การโอนเงิน จองตั๋วต่างๆ เพิ่มขึ้น 67% ออนไลน์ ช้อปปิ้ง เติบโต 100% การซื้อสินค้าโดยไม่ได้วางแผนมาก่อน ปกติมีอัตราโตสูงอยู่แล้วในบางประเภทสินค้า และปีนี้ก็ยังเติบโตอีก 10% ฟังเพลงออนไลน์ 45% และ โซเชียล เน็ตเวิร์ก คนไทยมีการใช้งานสูงอยู่แล้ว ปีนี้ยังเติบโตได้อีก 17%

ช้อปปิ้งออนไลน์เป็นเรื่อง “สนุก”

จากการสำรวจผู้บริโภคพบว่ามี “แอปพลิเคชัน” ที่ใช้เวลามากที่สุดในแต่ละวัน เพื่อตอบสนองความบันเทิง คือ

  • YouTube นอกจากดูวีดิโอคอนเทนต์แล้ว ยังเปิดฟังเพลงแทนวิทยุ
  • Lazada/Shopee พฤติกรรมชาวออนไลน์ที่เข้ามาร์เก็ตเพลสวันนี้ บอกว่าเหมือนเป็นการไปเดินห้างในอดีต เพราะเป็น “เวอร์ชวล ช้อปปิ้ง มอลล์” ที่มีสินค้าให้เลือกซื้อจำนวนมาก เป็นแอปที่เข้าไปพักผ่อน ไปดูสินค้าเรื่อยๆ บางครั้งดูกับครอบครัว หรือดูเป็นกลุ่ม การตัดสินใจซื้อสินค้า ไม่ใช่เรื่องราคา เพราะรู้ว่าทุกรายราคาไม่ต่างกัน แต่ตัดสินใจซื้อจากบริการ ตอบคำถามและให้ข้อมูลต่างๆ หากตอบเร็วไม่เกิน 5 นาทีจะตัดสินใจซื้อทันที
  • Instagram เรียกได้ว่าการใช้งานโตแซงหน้าเฟซบุ๊กไปแล้ว ผู้บริโภคบอกว่าเลือกดูและหาคอนเทนต์ได้ง่ายกว่า
  • Facebook เป็นโซเชียล เน็ตเวิร์ก ที่มีการใช้งานสูงอยู่แล้ว แต่คนเริ่มรู้สึกว่ามีคอนเทนต์ดราม่ามากขึ้น จึงหันไปเสพข้อมูลจากอินสตาแกรมแทน

พฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงของแอปในกลุ่ม Entertainment จาก ปี 2018 ช้อปปิ้ง ออนไลน์  เป็นเรื่องของความสะดวก แต่ปี 2019 เป็นเรื่องของความสนุกและบางครั้งเป็นการทำกิจกรรมร่วมกันเป็นกลุ่ม

ดังนั้น “แบรนด์” จึงมีโอกาสได้ลูกค้าใหม่ๆ โดยต้องพัฒนาคอนเทนต์ที่สร้างความสนุกสนาน เพื่อดึงคนให้ใช้เวลาอยู่บนแพลตฟอร์มให้นานขึ้น สร้างโอกาสในการซื้อสินค้า เป็นการสร้างความรู้สึกให้อยากช้อปปิ้ง ไม่ใช่แค่มาซื้ออะไร จะเห็นได้ว่า Lazada มีนโยบายเรื่อง “Shoppertainment” หรือ “Retail-tainment” (Retail + Entertainment) ชัดเจน เพื่อดึงให้คนอยู่ในแพลตฟอร์มนานขึ้น เพราะนั่นคือ “โอกาส” จากการขาย

เทรนด์ Up-Skill และ Re-Skill

นอกจากพฤติกรรมใช้ “แอป” เอ็นเตอร์เทนเมนต์ เพื่อความบันเทิง ดูหนัง ฟังเพลง อัพเดทข่าวและเทรนด์ต่างๆ แล้ว คนไทยมีพฤติกรรมเรียนรู้ทักษะใหม่ๆ จากแอปกลุ่มนี้ จากการสำรวจมีสัดส่วนถึง 50% ไม่ว่าจะเป็นการเรียนรู้ทักษะเพื่อทำอาชีพ เช่น คลิปสอนทำน้ำผลไม้ ทำอาหาร ฝึกภาษาอังกฤษ ฟัง Podcast เรียนรู้ธุรกิจ เป็นการใช้แอป เพื่อ Up-Skill และ Re-Skill

การเปลี่ยนแปลงจากปี 2018 ที่เดิมพฤติกรรมการเสพคอนเทนต์ “ออน ดีมานด์” เป็นสิ่งที่ให้ความบันเทิง แต่ปัจจุบันเป็นเรื่องของการ Up-Skill และ Re-Skill เพื่อพัฒนาความรู้และโอกาสก้าวหน้าในอาชีพ หากแบรนด์ต่างๆ สามารถสร้างคอนเทนต์ที่เป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภค จะผลักดันให้ก้าวไปสู่ Brand Love ได้

“โมบาย แบงกิ้ง” คือ Basic Needs

ปัจจุบัน Mobile Banking เป็นแอป ที่มีการใช้งานอย่างแพร่หลายในทุกวัยจากการก้าวสู่สังคมไร้เงินสด และเป็นสิ่งที่ตอบโจทย์ “ออน ดีมานด์” ได้ดีกว่าเดิม โดยเฉพาะการโอนเงิน จากเดิมที่มีลิมิตในการโอน แต่ปัจจุบันไม่มีอีกต่อไป เพราะทุกอย่างอยู่ในมือ จะโอนเงินครั้งละ 5 บาท ก็ทำได้

จากการสำรวจกลุ่มนักศึกษา บอกว่าใช้โมบาย แบงกิ้ง โอนเงินจ่ายค่าอาหารร้านค้าในโรงเรียนทุกวันผ่านคิวอาร์โค้ด  คนต่างจังหวัดก้าวสู่สังคม Cashless ไม่ต่างในเมือง เพราะไม่มี ATM กระจายในทุกที่เหมือนกรุงเทพฯ บางคนยกเลิกใช้บัตร ATM เพราะไม่ต้องการจ่ายเงินค่าธรรมเนียมบัตรและใช้โมบาย แบงกิ้งแทน

แต่ก็พบว่าบางคนที่ใช้โมบาย แบงกิ้ง มักจะใช้เกินวงเงินที่ตั้งใจใช้จ่ายเสมอ เพราะมีบัญชีในมือที่สามารถจ่ายได้ จึงตัดสินใจซื้อสินค้าได้รวดเร็ว

จากปี 2018 ที่โมบาย แบงกิ้ง คือความสะดวกสบาย แต่ปี 2019 จึงกลายเป็นความต้องการพื้นฐาน (Basic Needs) ที่เกิดจากการใช้งานทุกวันทุกที่ทุกเวลา ในมุมของโอกาสแบรนด์อาจเสนอรูปแบบการช้อปปิ้งใหม่ๆ โดยมีเงื่อนไขจ่ายเงินที่หลัง ไม่ต้องรอซื้อช่วงเงินเดือนออก.

เอกดนัย ยุกตะนันท์