The Time “Designer” Show

แม้เทคโนโลยีจะล้ำเพียงใด แต่หากดีไซน์ไม่โดน ก็ยากที่จะสร้างยอดขายได้ นี่คือ “พลังการดีไซน์” ที่มักถูกนำมาพูดถึง เพื่อให้โปรดักต์หรือแบรนด์นั้นมีเรื่องราวชวนติดตาม

ท่ามกลางความ Kool และโดนใจกลุ่มเป้าหมายมากกว่าของ “ไอโฟน” และ “แบล็คเบอร์รี่” ทำให้ชื่อของโนเกียแผ่วไป แต่โนเกียกำลังพยายามใช้ “พลังแห่งการดีไซน์” เพื่อคืนชีวิตชีวาให้กับแบรนด์ แม้กระทั่งในงานบิ๊กอีเวนต์ ระดับภูมิภาค “Nokia Showcase 2010” ในกรุงเทพฯ เมื่อปลายเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นเวทีที่โนเกียควรนำโปรดักต์และบริการใหม่มาบอกเล่าให้สื่อต่างชาติ 40 คน และสื่อไทยอีก 20 คนฟัง โนเกียเลือกเล่าซ้ำเกี่ยวกับ Ovi และพยายามดึงความสนใจด้วยการเผย Behind the sceneของ “โนเกีย” ผ่านดีไซเนอร์ 3 คน

เช่นเดียวกับการเปิดตัวมือถือรุ่นไฮไลต์ในเดือนมกราคมกับ XpressMusic X6 ที่ฟังก์ชันมิวสิกในโทรศัพท์มือถือคือความธรรมดาในยุคนี้ โนเกียจึงนำเสน่ห์ให้กับการแถลงข่าวด้วย การเปิดตัวดีไซเนอร์เช่นกัน

ความท้าทายของทีมดีไซน์โนเกีย คือความเป็นแบรนด์เบอร์ 1 มีลูกค้าอยู่ทั่วโลกนับพันล้านคน ต่างเชื้อชาติ ต่างวัฒนธรรม แต่โนเกีย 1 เครื่องต้องสามารถเข้าถึงลูกค้าทั่วโลก หรือแม้แต่หนึ่ง icon บนหน้าจอ ที่นอกจากสวยงามแล้วเป็นสัญลักษณ์ที่ทุกคนเข้าใจจนสามารถใช้งานได้อย่างสะดวก

3 ดีไซเนอร์ในงานโชว์เคส คือ “นิกกิ บาร์ตัน” หัวหน้าแผนกดิจิตอล ดีไซน์ “โรเบิร์ต วิลเลียมส์” ผู้จัดการแผนกออกแบบ ทั้งสองเป็นชาวอังกฤษ อยู่ที่โนเกียสตูดิโอ ดีไซน์ ลอนดอน และอีก 1 จากเกาหลีใต้ คือ “ยองฮี จุง” หัวหน้างานวิจัย เธอเพิ่งย้ายจากลอนดอนไปอยู่ที่ศูนย์วิจัยโนเกีย ที่บังกาลอร์ อินเดีย ร่วมกันบอกเล่าเบื้องหลัง

ทั้ง 3 คือ 1 ในทีมดีไซเนอร์ของโนเกียทั้งหมด 320 คน จากทั้งหมด 34 สัญชาติทั่วโลก ซึ่งมีตั้งแต่นักออกแบบอุตสาหกรรม ไปจนถึงนักจิตวิทยา กระจายอยู่ในสตูดิโอหลัก 4 แห่งทั่วโลก คือ เมืองเอสโป ฟินแลนด์ ลอนดอน ปักกิ่ง และคาลาบาซาส อเมริกา

ความหลากหลายของทีมและสตูดิโอดีไซน์ และทีมวิจัยทั่วโลก ทำให้ดีไซเนอร์ได้ข้อมูลใหม่ๆ จากทั่วโลกตลอดเวลา เพื่อนำไปสู่การตอบโจทย์ที่ว่า 1.ความสวยงามต้องสอดคล้องกับไลฟ์สไตล์ 2.ความพิเศษ ที่ออกแบบรายละเอียดให้น่าใช้ และน่ามอง และ3.การออกแบบที่เป็นพิเศษสำหรับแต่ละคน

เพราะในโลกปัจจุบันโทรศัพท์มือถือไม่ใช่เพียงแค่อุปกรณ์ติดตามตัวสะท้อนบุคลลิกของเจ้าของเท่านั้น แต่การใช้งานโทรศัพท์มือถือมีรูปแบบที่เปลี่ยนแปลงไปมาสู่เพื่อความบันเทิง ทำงานและเชื่อมต่อโลกออนไลน์

ใครเหมาะที่จะเป็นดีไซเนอร์โนเกีย

“ไม่ใช่แค่ตามเทรนด์ แต่ต้องกำหนดเทรนด์” คือสิ่งที่ดีไซเนอร์ของโนเกียต้องเป็น และยึดเป็นหลักการทำงาน เพราะโปรดักต์ตัวหนึ่งต้องใช้เวลาพัฒนาไม่ต่ำกว่า 1 ปี เพราะฉะนั้นสายตาของพวกเขาต้องมองไปในอนาคต

แล้วทั้ง 3 คน มองเห็นเทรนด์อะไรในเวลานี้

“นิกกิ” บอกว่าเทรนด์ที่กำลังแรงคือ “ดิจิตอลไลฟ์” ที่ทุกอย่างในชีวิตประจำวันจะเป็นรูปแบบดิจิตอล ดังนั้นโทรศัพท์มือถือต้องออกแบบมาเพื่อตอบสนองกับเทรนด์นี้

สำหรับ “โรเบิร์ต” บอกสิ่งที่ใกล้ตัวเขาคือIcon ต่างๆ บนมือถือที่เคยเป็นภาพนิ่ง ต่อไปจะให้ข้อมูลมากขึ้นในการใช้งาน Widget ที่ให้สีสันบนหน้าจอมือถือคือเทรนด์

ส่วน “ยองฮี” มองเทรนด์อีกมุมหนึ่งคือในโลกดิจิตอลปัจจุบันที่ทุกคนต่างแบ่งปันชีวิตส่วนตัวในโซเชี่ยลเน็ตเวิร์ค นั่นคือช่วงเวลาหนึ่งที่อยากเป็น แต่ในอนาคตอาจไม่รู้ว่าจะจัดระเบียบข้อมูลส่วนตัว และตัวตนในโลกดิจิตอลอย่างไร

“โนเกีย” ในอนาคต

การมองไปข้างหน้าทำให้ได้บทสรุปว่า “อินเทอร์เน็ต” ได้เปลี่ยนแปลงการใช้งานโทรศัพท์มือถือไปแล้ว โจทย์ต่อไปคือการพัฒนาโปรดักส์ให้สามารถใช้ติดต่อสื่อสารได้อย่างเป็นธรรมชาติ เช่นการใช้มือหรือร่างกายส่วนอื่นๆ ในการใช้งานหรือสั่งการโทรศัพท์ อย่างที่โนเกียเคยทำสำเร็จเกี่ยวกับการสั่งเครื่องด้วยวิธีการอื่นนอกจากกดปุ่ม เช่น การสั่งให้หยุดเสียงเรียกเข้าเงียบลงได้ โดยการคว่ำหน้าจอลง ซึ่งเหมาะอย่างยิ่งสำหรับผู้ที่อยู่ในห้องประชุม

ยังมีบางคนคาดหวังว่าเราจะสามารถเปลี่ยนหน้าจอด้วยการใช้มือโบกหรือพัดที่หน้าจอภาพ แทนการ “ทัช” ในปัจจุบัน

“ยองฮี” ในฐานะหัวหน้างานวิจัยเพื่อการออกแบบ เล่าว่านอกจากข้อมูลจากบทวิจัยแล้ว เธอใช้วิธีการสังเกตอากัปกริยาของผู้คนเกี่ยวกับท่าทางต่าง ๆ ที่ในอนาคตจะสามารถนำมาใช้กับการสั่งงานการใช้โทรศัพท์ได้ โดย ก่อนนำมาใช้ จริงต้องคำนึงถึงความเหมาะสมของวัฒนธรรมแต่ละท้องถิ่นด้วย เช่น ท่าทางการยกโทรศัพท์ขึ้นหมุนเหนือศีรษะ เพื่อให้เครื่องเปิดหรือ ปิดอาจไม่เหมาะในบางที่บางเวลา หรือมีข้อเสนอว่าให้จูบโทรศัพท์เพื่อสื่อสารข้อความการบอกรักตามกระแสโลกดิจิตอล ก็อาจไม่เหมาะเพราะหลายคนคำนึงถึงความสะอาด ยังมีความชอบที่แตกต่างกันในแต่ละภูมิภาคที่ต้องคำนึงถึง เช่นชาวเอเชีย ที่นิยมที่ห้อยโทรศัพท์ แต่ในภูมิภาคอื่นไม่ความนิยม

โดยส่วนตัว “ยองฮี” ยังหวังว่าในอนาคตจะมีโทรศัพท์ชนิดสั่งทำ มีดีไซน์และสเปกอย่างที่แต่ละคนต้องการ

นอกจากรูปลักษณ์ของโทรศัพท์แล้วไอคอน หน้าจอโทรศัพท์มือถือยังเป็นสิ่งที่โนเกียต้องคิดหลายชั้น อย่างที่ “โรเบิร์ต” บอกว่าไอคอนที่เคยแสดงถึงเบอร์โทรศัพท์ของบุคคลที่เราติดต่อด้วยยังต้องเปลี่ยนไป เพราะปัจจุบันข้อมูลที่สามารถเก็บในโทรศัพท์มือถือไม่ใช่เพียงแค่เบอร์โทรเท่านั้น แต่ยังมีอีเมลแอดเดรส และข้อมูลอื่นๆ การดีไซน์ไอคอนเป็นรูปคน จึงเป็นสิ่งสากลที่เข้าใจได้ง่ายว่านี่คือการลิงค์เข้าหาการติดต่อบุคคลนั้น ๆ อย่างง่ายดายในทุกช่องทาง

“นิกกิ” บอกว่า อย่างที่รู้กันว่าวิถีการใช้โทรศัพท์ของผู้คนเปลี่ยนไป “โนเกีย”จึงต้องตอบสนองทั้งความต้องการพื้นฐาน ตอบสนองอารมณ์ของกลุ่มเป้าหมาย และยังต้องทำให้พวกเขาสนุกสนานไปกับการใช้โทรศัพท์มือถือโนเกีย

แน่นอนนี่คือความท้าทายสำหรับโนเกีย ว่าจะสามารถมองหาวิธีการใหม่ๆ ดีไซน์โดนๆ เพื่อให้แบรนด์ของโนเกียยังคงถูกพูดต่อไปได้ไม่รู้จบหรือไม่ เพราะเวลานี้อย่างที่ทีมดีไซน์โนเกียก็ตระหนักดีว่าไม่เพียงการใช้โทรศัพท์ของผู้คนต่างจาก 10 ปีที่แล้วอย่างสิ้นเชิง แต่นับวันโนเกียยังต้องเผชิญกับคู่แข่งที่แรงทั้งดีไซน์และฟังก์ชันการใช้งานมากขึ้นเรื่อยๆ เช่นกัน