ประท้วงฮ่องกงพ่นพิษ แบรนด์หรูกระทบหนัก Hermes ปิด 5 สาขา

4 เดือนของเหตุการณ์ประท้วงที่ฮ่องกงส่งผลให้แบรนด์หรูระดับโลกเจ็บช้ำไปตามกัน ทั้ง Prada, Cartier รวมถึง Tiffany ที่นับฮ่องกงเป็นตลาดใหญ่อันดับ 4 ของแบรนด์ ต่างมีแผลจากความไม่สงบที่ทำให้นักท่องเที่ยวหดหาย เกือบทุกแบรนด์จำใจปิดร้านค้าลงชั่วคราว กลายเป็นความเสียหายที่เริ่มชัดเจนผ่าน 4 สถิตินี้

1. ยอดเครื่องเพชรนาฬิกาหรูวูบ 47.4%

ฮ่องกงเป็นพื้นที่ติดอันดับ 1 ใน 5 จุดหมายปลายทางท่องเที่ยวของนักช้อปที่ชื่นชอบสินค้าหรูหรา เพราะแบรนด์ใหญ่เลือกฮ่องกงเป็นจุดยุทธศาสตร์ในการตั้งร้านค้าเพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวจากจีนแผ่นดินใหญ่ สถิติจาก Bernstein ระบุว่าฮ่องกงครองสัดส่วน 5-10% ของยอดขายสินค้าฟุ่มเฟือยทั่วโลก ซึ่งคิดเป็นมูลค่าประมาณปีละ 285,000 ล้านเหรียญ

แต่ข้อมูลวันที่ 2 ตุลาคมแสดงว่า ยอดค้าปลีกในฮ่องกงประจำเดือนสิงหาคม 62 ลดลง 23% จากปี 61 ซึ่งเป็นสถิติการหดตัวมากที่สุดเป็นประวัติการณ์ ในขณะที่มูลค่ายอดขายสินค้ากลุ่มอัญมณี นาฬิกา และสินค้ามีค่ารายการอื่นทำสถิติลดลง 47.4%

2. นักท่องเที่ยวหด 39%

Annie Yau Tse ประธานสมาคมการค้าปลีกฮ่องกง Hong Kong Retail Management Association ยอมรับว่ายังไม่เห็นแสงสว่างของวิกฤติพิษประท้วงฮ่องกง บนสถิติล่าสุดที่สรุปแล้วว่าจำนวนนักท่องเที่ยวมาเยือนฮ่องกงลดลง 39% โดยจำนวนนักท่องเที่ยวแผ่นดินใหญ่ลดฮวบ 42.3%

3. แบรนด์ส่วนใหญ่ยอดตก 30-60%

ไม่ว่าจะ Hermes หรือ Tiffany รวมถึงหลายแบรนด์ที่ต้องปิดร้านในฮ่องกงชั่วคราวตั้งแต่เกิดการประท้วงในเดือนมิถุนายน ต่างเลี่ยงที่จะเปิดเผยผลกระทบต่อผลประกอบการในไตรมาส 2 แต่การสำรวจของบริษัท RBC คาดว่าแบรนด์ส่วนใหญ่จะประสบภาวะยอดขายลดลงระหว่าง 30-60% ซึ่งจะปรากฏเป็นตัวเลขในรายงานไตรมาส 3

บริษัทวิจัย Bain & Co มองว่าภาวะนี้จะส่งผลให้ภาพรวมธุรกิจสินค้าหรูหราหรือ luxury sector ระดับโลกมีการเติบโตระดับต่ำในปีนี้ คิดเป็นการเติบโต 4-6% เท่านั้น

แบรนด์ผู้ผลิตนาฬิกามีแนวโน้มที่จะเป็นกลุ่มเจ็บหนัก เพราะฮ่องกงเป็นศูนย์กลางการค้านาฬิการะดับไฮเอนด์ เห็นได้ชัดจากที่กลุ่ม Swatch Group สัญชาติสวิตเซอร์แลนด์และกลุ่ม Richemont เจ้าของแบรนด์ Cartier ทำเงินจากตลาดฮ่องกงมากกว่า 11-12% จากยอดขายทั่วโลก

4. Hermes แบรนด์เดียวปิด 5 สาขา

ห้างสรรพสินค้าหลักมากกว่า 30 แห่งตัดสินใจปิดบริการชั่วคราวในวันที่ 1 ตุลาคม ซึ่งเป็นวันเฉลิมฉลองครบรอบ 70 ปีของการก่อตั้งสาธารณรัฐประชาชนจีน โดยไม่เพียงห้างสรรพสินค้า แต่แบรนด์หรูยังจำเป็นต้องปิดสาขาในสนามบินด้วย หนึ่งในนั้นคือ Hermes ผู้ผลิตกระเป๋าหนังสุดหรู Birkin ใบละ 6 แสนถึงเฉียด 3 ล้านที่เผยเมื่อกันยายนที่ผ่านมาว่าถูกกดดันให้ปิดร้านชั่วคราวทั้งหมด 5 สาขาในเกาะฮ่องกง

น่าเสียดายที่แบรนด์อื่นไม่เปิดเผยจำนวนร้านสาขาที่ปิดทำการชั่วคราว แต่สิ่งที่ชัดเจนคือทุกแบรนด์สูญเสียการขายอย่างชัดเจน เพราะการปิดห้าง 1 .. เกิดขึ้นในช่วงวันหยุดประจำปีซึ่งเรียกกันว่า Golden Week ที่ปกติจะเป็นช่วงเวลาที่คึกคักสุดขีดสำหรับผู้ค้าปลีกในฮ่องกง

นอกจากการปิดร้าน งานอีเวนท์ของแบรนด์ก็ต้องระงับด้วย หนึ่งในนั้นคือ Chanel ที่วางแผนจัดแสดงแฟชั่นโชว์วันที่ 6 พฤศจิกายนเพื่อนำเสนอคอลเลคชั่น “Cruise” ก็ตัดสินใจเลื่อนโดยหยอดคำหวานว่างานแสดงแฟชันจะเกิดขึ้นในอนาคต ในช่วงเวลาที่เหมาะสมกว่านี้

การสำรวจตลาดพบด้วยว่าแบรนด์กำลังหาทางเข้าถึงนักท่องเที่ยวชาวจีนผ่านแหล่งช้อปปิ้งอื่นแทนฮ่องกง นอกจากบ้านใกล้เรือนเคียงอย่างญี่ปุ่น นักวิเคราะห์มองว่าเกาหลีใต้ ออสเตรเลีย และสิงคโปร์ เป็นพื้นที่ที่ได้รับประโยชน์จากการถดถอยในตลาดฮ่องกง.

Source