“Cartier Women’s Initiative” ทุนจาก “คาร์เทียร์” เพื่อผลักดัน “ผู้ประกอบการหญิง” ทั่วโลก

ครบรอบ 17 ปีโครงการ Cartier Women’s Initiative จาก “คาร์เทียร์” โครงการมอบทุนและเครือข่ายเพื่อช่วยผลักดัน “ผู้ประกอบการหญิง” ทั่วโลกที่ทำธุรกิจเพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับสังคม โดยการพิจารณารางวัลครั้งล่าสุดมี “กรองกมล เดอเลออน” เป็นหญิงไทยคนแรกที่ได้ทำหน้าที่คณะกรรมการตัดสิน

“Cartier Women’s Initiative” หรือ CWI เป็นโครงการที่ก่อตั้งเมื่อปี 2006 ด้วยจุดมุ่งหมายของ “คาร์เทียร์” ที่ต้องการสนับสนุนรางวัลและเครือข่ายผู้ประกอบการให้กับ “ผู้หญิง” ที่ทำธุรกิจเพื่อสังคมทั่วโลก โดยที่ผ่านมา 17 ปีโครงการนี้มีการมอบรางวัลให้ผู้ประกอบการสตรีไปแล้ว 330 ราย ใน 66 ประเทศ มูลค่าเงินรางวัลสะสม 9.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 349 ล้านบาท)

การตัดสินรางวัลจะมอบให้กับผู้ประกอบการที่ทำธุรกิจที่สร้างความเปลี่ยนแปลงให้สังคม มีการทำกำไรได้จริง และยังอยู่ในช่วง ‘early stage’ หรือเพิ่งเริ่มทำธุรกิจมาไม่เกิน 6 ปี

โดยรางวัลปัจจุบันมี 11 รางวัล แบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่

  • 9 รางวัลที่แบ่งตามภูมิภาคผู้สมัคร ได้แก่ ละตินอเมริกาและแคริบเบียน, อเมริกาเหนือ, ยุโรป, แอฟริกากลุ่มใต้ทะเลทรายซาฮาราและพูดภาษาฝรั่งเศส, แอฟริกากลุ่มพูดภาษาอังกฤษและโปรตุเกส, ตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือ, เอเชียตะวันออก, เอเชียใต้และเอเชียกลาง, โอเชียเนีย
  • 2 รางวัลเฉพาะทาง ได้แก่ รางวัล Science & Technology Pioneer Award และรางวัล Diversity, Equity & Inclusion Award (*รางวัลล่าสุดที่ไม่จำกัดเพศผู้สมัคร)

เมื่อปี 2024 ที่ผ่านมานั้น ผู้ชนะรางวัลแต่ละสาขา อันดับ 1 ได้รับเงินรางวัล 100,000 ดอลลาร์สหรัฐ อันดับ 2 ได้รับเงินรางวัล 60,000 ดอลลาร์สหรัฐ และอันดับ 3 ได้รับเงินรางวัล 30,000 ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับประเทศไทยนั้นเคยมีผู้ชนะรางวัล CWI หนึ่งคนคือ “สาลินี ถาวรนันท์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ซันสว่าง จำกัด ซึ่งได้รับรางวัลนี้เมื่อปี 2014 โดยบริษัทของเธอเป็นโมเดลธุรกิจการติดตั้งโซลาร์เซลล์ให้ชุมชนในพื้นที่ห่างไกล

Cartier Women’s Initiative
“กรองกมล เดอเลออน” Vice President ของ Beacon Venture Capital และเป็นหนึ่งในกรรมการตัดสิน Cartier Women’s Initiative ปี 2024

นอกจากจะมีผู้ชนะรางวัลแล้ว ปี 2024 ยังเป็นปีแรกที่มีคณะกรรมการตัดสินรางวัลเป็นผู้หญิงไทย คือ “กรองกมล เดอเลออน” ซึ่งเป็น Vice President ของ Beacon Venture Capital มาช่วยพิจารณาผู้สมัครและเป็นที่ปรึกษาให้โครงการ

“วินจี ซิน” ผู้อำนวยการโครงการ CWI ในโอกาสมาเยือนประเทศไทยได้แบ่งปันข้อมูลว่า โครงการ CWI ไม่เพียงแต่ให้ทุนรางวัลเท่านั้น แต่ผู้ที่ชนะรางวัลจะได้อยู่ในคอมมูนิตี้ที่สนับสนุนผู้ประกอบการ ทั้งจากรุ่นพี่ที่ชนะรางวัล กรรมการ ผู้ทรงคุณวุฒิ รวมกว่า 700 คน ซึ่งจะช่วยให้คำแนะนำการทำธุรกิจและเป็นเครือข่ายในการต่อยอดต่อไปได้ ทำให้ที่ผ่านมาผู้ชนะรางวัล CWI ร้อยละ 94 สร้างรายได้เติบโตขึ้นได้สำเร็จ ร้อยละ 42 ทำกำไรสูงขึ้น และร้อยละ 56 สามารถขยายธุรกิจไปต่างประเทศได้ในเวลา 3 ปีหลังรับรางวัล

Cartier Women’s Initiative
“วินจี ซิน” ผู้อำนวยการโครงการ Cartier Women’s Initiative

 

ชวนผู้ประกอบการหญิงไทยสมัครชิงรางวัล

ซินบอกด้วยว่า จากการทำโครงการ CWI ในช่วงแรกๆ ของโครงการมักจะพบว่า ปัญหาหลักของ “ผู้ประกอบการหญิง” คือการเริ่มต้นธุรกิจค่อนข้างยาก ต้องอาศัยแรงสนับสนุนที่จะลงมือทำ แต่ในระยะ 5-6 ปีหลังมานี้ ผู้หญิงมีความกล้าที่จะเริ่มต้นธุรกิจสูงขึ้นมาก แต่การจะ ‘สเกล’ ขยายธุรกิจให้เต็มศักยภาพและเข้าถึงแหล่งทุนที่จะทำเช่นนั้นยังคงเป็นโจทย์ยาก ทำให้ CWI จะเข้ามาช่วยสนับสนุนในส่วนนี้ได้

ด้านกรองกมลเล่าจากประสบการณ์การตัดสินรางวัลปีล่าสุด พบว่ามีผู้สมัครชาวไทยยื่นใบสมัครมาทั้งหมด 8 คน แต่น่าเสียดายที่ทั้งหมดไม่สามารถก้าวสู่รอบ Top 5 ได้

อย่างไรก็ตาม ซินเสริมว่าประเทศไทยถือเป็นประเทศที่มีสตรีอยู่ในระดับบริหารของบริษัทเป็นสัดส่วนที่สูงมากหากเทียบกับค่าเฉลี่ยโลก ดังนั้น มองว่าผู้ประกอบการหญิงไทยมีศักยภาพที่จะชนะรางวัลนี้ได้ และขอให้ไม่ท้อในการสมัคร เพราะผู้ชนะหลายคนที่ไม่ผ่านเข้ารอบในปีแรก แต่ยังมุ่งมั่นทำธุรกิจและยื่นสมัครอีกครั้งจนชนะได้ในที่สุด

Cartier Women’s Initiative

กรองกมลยังให้คำแนะนำด้วยว่า สำหรับผู้ประกอบการที่สนใจสมัคร CWI ควรจะมีคุณสมบัติ ดังนี้

1.โมเดลธุรกิจมีความยั่งยืน สามารถทำกำไรได้จริง และมีแผนลงทุนเพื่อการเติบโตในระยะยาว หากเป็นไปได้ควรต่อยอดได้มากกว่าตลาดในประเทศ

2.รู้จักธุรกิจของตนเองอย่างถ่องแท้ รู้โอกาสได้เปรียบของธุรกิจตนเองที่เหนือกว่าคู่แข่ง

3.สร้างธุรกิจที่สร้างการเปลี่ยนแปลงเชิงบวก ให้กับสังคมและโลกใบนี้อย่างน้อยด้านใดด้านหนึ่ง

สำหรับการต่อยอดโครงการ Cartier Women’s Initiative นั้น วินจี ซินกล่าวว่าปัจจุบันโครงการเริ่มขยายโมเดลทำโครงการในระดับท้องถิ่นบ้างแล้วเพื่อทำลายกำแพงภาษาลง หันมาสร้างโครงการโดยใช้ภาษาท้องถิ่นแทนภาษาอังกฤษ เช่น ในประเทศจีน โครงการเริ่มสร้างเครือข่ายผู้ประกอบการในเซี่ยงไฮ้และร่วมมือกับโรงเรียนด้านธุรกิจในประเทศจีนเพื่อส่งเสริมผู้ประกอบการ ในอนาคต โครงการมีแผนจะขยายโมเดลนี้ไปยังโอซาก้า ประเทศญี่ปุ่น และอาจจะขยายเข้ามาในไทยเร็ว ๆ นี้

Cartier Women’s Initiative