จับตา ยุค ‘ตื่นทอง’ ของสตาร์ทอัพอาเซียน เงินระดมทุนเพิ่มขึ้นเท่าตัว ปั้นยูนิคอร์นรุ่นใหม่

เหล่าสตาร์ทอัพดาวรุ่งในอาเซียน ระดมทุนได้สูงสุดเป็นประวัติการณ์ถึง 2.57 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ ในปี 2021 เพิ่มขึ้นเท่าตัวจากปีก่อนหน้านี้

ช่วงวิกฤตโควิด-19 นักลงทุนทั่วโลกอที่ถือครองเงินสดจำนวนมาก ต่างพยายามเข้ามามีส่วนร่วมในตลาดอาเซียน ที่เป็นเหมือนขุมทองด้านเทคโนโลยีเเห่งใหม่ของโลก จากศักยภาพการเติบโตท่ามกลางการขับเคลื่อนของเศรษฐกิจดิจิทัล

บรรดากองทุนต่างๆ เเละบริษัทร่วมทุนขนาดใหญ่ กำลังแสวงหาโอกาสการลงทุนที่จะช่วยให้ได้รับผลตอบแทนเพิ่มขึ้น ดังนั้น ผู้เชี่ยวชาญจึงประเมินว่า ยุคตื่นทอง” (Gold Rush) ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะยังคงดำเนินต่อไปในปีนี้ หลังปั้นยูนิคอร์นได้ถึง 25 บริษัท เเละเงินลงทุนกำลังจะเข้าหากลุ่มสตาร์ทอัพรุ่นใหม่ ที่ยังมีต่ำกว่ามูลค่า 1 พันล้านดอลลาร์มากขึ้น 

อาเซียน เนื้อหอมดึงดูดเงินทุนทั่วโลก 

รายงานของ SE Asia Deal Review ที่รวบรวมโดย DealStreetAsia แพลตฟอร์มข้อมูลสตาร์ทอัพของสิงคโปร์ ระบุว่า ในปี 2021 ที่ผ่านมาสตาร์ทอัพในภูมิภาคนี้สามารถระดมทุนได้ถึง 2.57 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 2.7 เท่า จาก 9.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2020 และมากกว่าปี 2018 ที่เคยมีมีการระดมทุนสูงสุดที่ 1.4 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ

ตัวเลขการระดมทุนที่เพิ่มขึ้น เป็นสัญลักษณ์ของตลาดใหม่ที่กำลังเติบโต เเละยังเป็นเครื่องพิสูจน์ถึงความเชื่อมั่นของนักลงทุนทั่วโลกที่มีต่อตลาดอาเซียน ทั้งในแง่การเป็นตลาดเกิดใหม่สำหรับธุรกิจและศูนย์กลางนวัตกรรมทางเทคโนโลยีระดับโลก” DealStreetAsia กล่าวในบทวิเคราะห์

ยุค Gold Rush เเห่งอาเซียน 

ระบบนิเวศของสตาร์ทอัพในอาเซียน เริ่มเติบโตในช่วงต้นปี 2010 ตามหลังจีนอยู่ประมาณ 5-10 ปี ท่ามกลางช่วงธุรกิจสมาร์ทโฟนที่เข้ามาเจาะตลาดอาเซียน 

จนกระทั่งก่อนเกิดโรคระบาด เงินทุนส่วนใหญ่เริ่มตกไปอยู่กับกลุ่มสตาร์ทอัพใหม่ที่เติบโตอย่างโดดเด่นอย่าง Grab ของสิงคโปร์ เเละ Gojek คู่แข่งจากอินโดนีเซีย

โดยหนึ่งในนักลงทุนรายใหญ่ที่เข้ามาบุกอาเซียน ก็คือ ‘SoftBank Group’ ของญี่ปุ่น ที่ทุ่มเงินหลายพันล้านดอลลาร์ให้กับ Grab และ Tokopedia แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซของอินโดนีเซีย

สำหรับบริษัทที่ระดมทุนได้มากในปี 2021 คือGoTo’ ของอินโดนีเซีย ซึ่งเป็นบริษัทเทคฯ ที่เกิดขึ้นจากการควบรวมกิจการระหว่าง Gojek เเละ Tokopedia ซึ่งระดมทุนได้ราว 1,600 ล้านดอลลาร์ รวมถึงเงินทุนที่ Gojek ระดมทุนได้ก่อนรวมกิจการกันทำให้เป็นบริษัทที่ระดมทุนได้มากที่สุดอันดับสองของภูมิภาค 

Photo : Shutterstock

ขณะที่ Grab ระดมทุนได้ 675 ล้านดอลลาร์ ก่อนเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์สหรัฐฯ ในเดือนธ..ที่ผ่านมา ขึ้นเป็นบริษัทใหญ่สุดอันดับที่ 4

เมื่อเทียบกับจุดสูงสุดของการระดมทุนในปี 2018 เราได้เห็นการกระจายตัวของแหล่งเงินทุนไปยังบริษัทที่หลากหลายมากขึ้น ทั้งในตลาดและภาคส่วนต่างๆ ซึ่งมีความสำคัญต่อสุขภาพและการเติบโตของระบบนิเวศ

Yinglan Tan ผู้จัดการกองทุน Insignia Ventures เเสดงความคิดเห็นของเขาในรายงาน DealStreetAsia โดยเขาอธิบายสถานการณ์ปัจจุบันว่าเป็น “ยุคตื่นทองของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้”

ปี 2021 ปั้นยูนิคอร์น 25 ตัว จับตาสตาร์ทอัพรุ่นใหม่ 

เมื่อแยกตามภาคธุรกิจเเล้ว สตาร์ทอัพกลุ่มฟินเทคถือเป็นอุตสาหกรรมที่ได้รับการระดมทุนมากที่สุดในปี 2021 โดยระดมทุนได้กว่า 5,830 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 4 เท่าจาก 1,460 ล้านดอลลาร์ในปี 2020

โดยการระบาดของโควิด-19 ได้กระตุ้นให้เกิดการชำระเงินแบบไร้เงินสดมากขึ้นและบริการทางการเงินออนไลน์อื่นๆมากขึ้น

บริการเหล่านี้มีผลกระทบทางสังคมนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อย่างมากหากเทียบกับตลาดที่พัฒนาแล้วจากการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตของประชาชนรายใหม่เเละการเปิดบัญชีออนไลน์มากขึ้น

ยกตัวอย่าง เช่น สตาร์ทอัพ Mynt ของฟิลิปปินส์ หรือที่รู้จักกันในชื่อกระเป๋าเงินเคลื่อนที่ GCash ที่ได้รับการสนับสนุนโดยบิ๊กเทคของจีนอย่าง Ant Group ระดมทุนได้ 475 ล้านดอลลาร์ในปี 2021 จากบรรดานักลงทุนระดับโลก ซึ่งรวมถึง Warburg Pincus กองทุนเพื่อการลงทุนหุ้นนอกตลาดจากสหรัฐฯ

ด้านภาคโลจิสติกส์ตามมาเป็นอันดับสอง ด้วยยอดการระดมทุนได้ประมาณ 5,560 ดอลลาร์ในปี 2021 ด้วยปัจจัยหนุนการเติบโตของธุรกิจอีคอมเมิร์ซที่เติบโตอย่างรวดเร็ว จากความต้องการของผู้บริโภคที่ช้อปปิ้งออนไลน์เเละส่งพัสดุเพิ่มขึ้นมาก  

การลงทุนที่เพิ่มขึ้น ก็มาพร้อมกับการประเมินมูลค่าที่สูงขึ้นเช่นกัน โดยบริษัททั้ง 4 แห่ง ได้แก่ Mynt, MoMo, J&T Express และ Ninja Van ก็มีมูลค่าทะลุ 1 พันล้านดอลลาร์ได้ปีที่แล้ว นับเป็นอีกกลุ่มสตาร์ทอัพยูนิคอร์นที่เพิ่มขึ้นในภูมิภาคนี้

DealStreetAsia ระบุว่า มีสตาร์ทอัพ 25 แห่งจาก 6 ประเทศอาเซียน ก้าวขึ้นมาเป็นบริษัทยูนิคอร์นได้ในปี 2021 โดยทั้งหมดมีมูลค่ารวมอยู่ที่ราว 55,400 ล้านดอลลาร์ และส่วนใหญ่เป็นบริษัทสตาร์ทอัพในอินโดนีเซียและสิงคโปร์

นอกจากนี้ ยังมียูนิคอร์นที่เพิ่งเกิดใหม่ที่น่าสนใจอย่าง Carro แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซสำหรับรถยนต์มือสอง ของสิงคโปร์ , บริษัทโลจิสติกส์ของไทย Flash Express และร้านกาแฟในเครือ Kopi Kenangan ของอินโดนีเซีย

เหล่าผู้เชี่ยวชาญ มองว่าการไหลเข้ามาของเงินทุนจะดำเนินต่อเนื่องในปี 2565 เนื่องจากมีเงินทุนจากภายนอกเข้ามาให้ความสนใจในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มากขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มสตาร์ทอัพรุ่นใหม่ที่ยังมีต่ำกว่ามูลค่า 1 พันล้านดอลลาร์